· สถานการณ์เกี่ยวกับไวรัสโคโรนา
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของประเทศจีน ระบุว่า ความสามารถในการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง และจะยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวมกว่า 2,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดังกล่าวเป็นจำนวน 56 ราย
ขณะที่ความรู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธ์ใหม่นั้นเป็นไปอย่างจำกัด และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการกลายพันธุ์ของไวรัสดังกล่าว โดยระยะฟักตัวของไวรัสชนิดนี้จะอยู่ในช่วง 1-14 วัน และไม่ใช่เคสเดียวกับโรคซาร์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2002-2003 ที่มีผู้เสียชีวิตไปประมาณ 800 ราย
ทั้งนี้ ไวรัสโคโรนามีศูนย์กลางการแพร่กระจายจากเมืองอู่ฮันของประเทศจีนในช่วงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก่อนจะแพร่ระบาดสู่เมืองต่างๆอย่างกรุงปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ รวมไปถึงประเทศสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ไทย, เวียดนาม, สิงคโปร์, เนปาล, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส และแคนาดา
- ล่าสุดผู้อำนวยการจากองค์การอนามัยโลก ได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อพบกับคณะรัฐบาลและหน่วยงานด้านสุขภาพจากจีนในกรณีไวรัสโคโรนา โดยที่ WHO เองก็ยังไม่ได้ประกาศว่าไวรัสโคโรนาเป็นภัยฉุกเฉินระดับโลก แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อจากประเทศจีนสู่ประเทศอื่นๆไม่น้อยกว่า 10 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม โดยที่ไวรัสดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมา 56 ราย และมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 2,116 ราย
- รายงานล่าสุดจาก Reuters เผยว่าทางคณะกรรมาธิการด้านสุขภาพแห่งชาติจีนเปิดเผยผ่านทางเว็บไซต์ที่ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นแตะ 80 ราย และยอดรวมผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 2,744 ราย
- รายงานจากฮ่องกง รายงานว่า ประชาชนที่อาศัยในอู่ฮันของจีนซึ่งเป็นสถานที่แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ถูกสั่งห้ามเข้าประเทฮ่องกงตั้งแต่วันนี้ ในขณะที่จีนพยายามยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไว้รัสดังกล่าว
รายงานจาก CCTV ของประเทศจีน เผยว่า คณะรัฐบาลจีนประกาศจะขยายเวลาในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีนออกไปอีก 3 วันจนถึง 2 ก.พ. ขณะที่โรงเรียนจะกลับมาเปิดทำการช้ากว่ากำหนด
- ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ยืนยันถึงการพบผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯจำนวน 5 รายที่เป็นผู้เพิ่งกลับจากการเดินทางจากเมืองอู่ฮั่น โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบอยู่ในลอส แองเจลลิส และพื้นทีเขตฟิโอนิกส์ ขณะที่รายงานก่อนหน้าพบผู้ติดเชื้อในชิคาโก และซีแอตเทิล
อย่างไรก็ดี ยังมีประชาชนอีก 25 รายอยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ แต่ภาพรวมมีความเป็นไปได้ไม่น้อยกว่า 100 ราย ที่อยู่ในข่าวต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสดังกล่าว และคาดว่าจะสามารถรายงานผลได้ในอีกไม่กี่วันจากนี้
· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างค่าเงินเยน ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ค่อนข้างวิตกกังวลหนักต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจากจีนที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และสร้างผลเสียต่ออุปสงค์ทางเศรษฐกิจ โดยค่าเงินเยนแข็งค่ามา 0.22% ที่ระดับ 109.24 เยน/ดอลลาร์
ขณะที่ช่วงต้นตลาดดอลลาร์ถูกถือครองเพิ่มในฐานะ Safe-Haven เมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร หลังจากดัชนี PMI ของยูโรโซนออกมาแย่กว่าที่คาดแตะ 50.9 จุด ในเดือนม.ค. จากที่คาดว่าจะเติบโตได้ที่ 51.2 จุด จึงทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ในตลาดว่าจะเห็นอีซีบีเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปในอนาคต โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่ามากที่สุดรอบ 8 สัปดาห์ แตะ 1.1027 ดอลลาร์/ยูโร
ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลง 0.33% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ จากการที่กลุ่มนักลงทุนคาดหวังจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยจากบีโออีในสัปดาห์นี้ แม้ว่าผลสำรวจภาคธุรกิจหลังเลือกตั้งจะเห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษที่จะรีบาวน์
· ล่าสุดค่าเงินเยนเช้านี้ยังคงแข็งค่า ขณะที่หยวนอ่อนค่าลงต่อจากความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาที่มีรายงานในเช้านี้ว่าพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยเงินเยนปรับแข็งค่าขึ้น 0.3% ที่ระดับ 108.91 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่หยวนอ่อนค่าลงอีก 0.3% ไปแตะ 6.9625 หยวน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่ามากที่สุดตั้งแต่ 8 ม.ค. ด้านดัชนีดอลลาร์เช้านี้ทรงตัวที่ 97.884 จุด
อย่างไรก็ดี บรรดาเทรดเดอร์มองว่าภาพรวมการซื้อขายในตลาดจะมีสภาพคล่องอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากตลาดการเงินในจีน, ฮ่องกง และออสเตรเลียยังคงปิดให้บริการในช่วงวยันหยุดเทศกาล
· น้ำมันดิบปรับตัวลงกว่า 2% ในคืนวันศุกร์ และภาพรวมน้ำมันดิบ Brent รายสัปดาห์ออกมาแย่ที่สุดในรอบเกือบ 1 ปีจากความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาที่แพร่ระบาดอย่างหนักในจีน ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีการบริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ของโลก ที่นอกจากจะกระทบต่อการท่องเที่ยว และดูท่าจะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันในตลาดด้วย
น้ำมันดิบ Brent ปิด -1.35 เหรียญ หรือ -2.2% ที่ 60.69 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ภาพรายสัปดาห์ปรับลงไปกว่า 6.4% ซึ่งเป็นการปรับลงรายสัปดาห์ที่มากที่สุดตั้งแต่ 21 ธ.ค. ปี 2018
น้ำมันดิบ WTI ปิด -1.4 เหรียญ หรือ -2.5% ที่ 54.19 เหรียญ/บาร์เรล และภาพรวมในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลงไป 7.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรายสัปดาห์ที่มากที่สุดตั้งแต่ 19 ก.ค.
· กระบวนการไต่สวนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะดำเนินต่อในคืนวันจันทร์นี้ โดยที่ช่วงวันจันทร์ – วันพฤหัสบดี ส่วนมากจะเป็นการรายงานหลักฐานที่สามารถรับรองความบริสุทธ์ของนายทรัมป์จากทีมทนายความของเขา รวมถึงการโต้วาทีกันประเด็นดังกล่าว
ส่วนวันศุกร์จะเป็นการโต้วาทีกันเกี่ยวกับคำให้การของพยาน และจะมีการโหวตสำคัญเกิดขึ้นตามมาว่าทางวุฒิสภาเห็นชอบที่จะเรียกพยานเข้ามาให้ปากคำเพิ่มเติมหรือไม่
สำหรับวันเสาร์ กรณีที่วุฒิสภาเห็นชอบให้เรียกพยานเพิ่มเติม กระบวนการไต่สวนก็อาจยืดเยื้อออกไปอีกเป็นเวลานาน แต่มีความเป็นไปได้สูงกว่าที่ทางวุฒิสภาจะไม่โหวตให้เรียกพยานเพิ่ม หากเป็นเช่นกันก็จะเข้าสู่กระบวนการโหวตในขั้นสุดท้ายที่สำคัญที่สุด ว่าจะตัดสินว่านายทรัมป์ควรถูกถอดออกจากตำแหน่งหรือไม่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเร็วที่สุดในวันจันทร์หรือวันอังคารสัปดาห์หน้า
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความที่ระบุว่า สหรัฐฯจะไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อกลับไปเจรจากับอิหร่านโดยเด็ดขาด
ข้อความดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็นการตอบโต้ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอิหร่านที่ระบุว่า อิหร่านัยงเปิดกว้างการเจรจาร่วมกับสหรัฐฯ หากสหรัฐฯยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
· รายงานจาก The Times ระบุว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กำลังพิจารณาใช้การข่มขู่ขึ้นภาษีกับสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าอื่นๆ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงการค้า โดยการประชุมระหว่างนายบอริสและคณะรัฐมนตรีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เบื้องต้น ทางคณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบกับแนวคิดดังกล่าว และจะมีการประชุมอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้
การขึ้นภาษีของอังกฤษ อาจลงเอยด้วยการขึ้นภาษี 30% สำหรับชีสบางประเภทจากฝรั่งเศส และ 10% สำหรับรถยนต์จากเยอรมนี
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรียังมีความเห็นชอบที่กำหนดให้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มีความสำคัญเป็น “อันดับ 1” สำหรับการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงทางการค้า ขณะที่ประเทศคู่ค้าอื่นๆ ถูกกำหนดให้มีความสำคัญเป็น “อันดับ 2”