· ดัชนีดาวโจนส์ปิด +11.6 จุด หรือ +0.04% ที่ 28,734.45 จุด ขณะที่ S&P500 ปิด -0.09% ที่ 3,273.4 จุด และ Nasdaq ปิด -0.06% ที่ 9,275.16 จุด
ทั้งนี้ ดัชนี S&P500 กลับมาปิดแดนลบ แม้ตลาดจะมีแรงหนุนจากผลประกอบการบริษัทอย่าง Apple, Boeing และ General Electric ขณะที่ตลาดตอบรับเล็กน้อยกับผลประชุมเฟด หลังคงดอกเบี้ยตามคาดในกรอบ 1.5-1.75% และนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟดก็ไม่ได้ส่งสัญญาณชี้นำอะไรใหม่เกี่ยวกับยอดงบดุลบัญชี แต่มีการกล่าวถึงแนวโน้มของความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ รวมทั้งเรื่องของไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดในประเทศจีนด้วย
สำหรับการประกาศผลประกอบการภาคบริษัท บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ผลประกอบการในกลุ่ม S&P500 ช่วงไตรมาส 4/2019 จะออกมาทรงตัว โดยปรับขึ้นได้ประมาณ 0.6% ลดลงจากประมาณการณ์ช่วงแรกตามรายงานของ Refinitiv Data
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดแดนลบ หลังจากเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในกาปรระชุมเมื่อคืนนี้ ขณะตลาดยังคงจับตาสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา
ดัชนี Nikkei เปิด -0.3% นำโดยหุ้นรายใหญ่อย่าง Softbank Group ที่ปรับ -1.04% ขณะที่ดัชนี Topix เปิด -0.36%
ด้านดัชนี Kospi เปิดทรงตัว ขณะที่หุ้น Samsung Electronics ปรับลดลง 1% หลังการประกาศผลประกอบการที่มีผลกำไรลดลง 34% ในไตรมาสที่ 4/2019
อ้างอิงสำนักข่าวอินโฟเควสท์
-นักบริหารเงิน คาดกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวันนี้ ไว้ระหว่าง 30.90-31.10 บาท/ดอลลาร์
-ศาลรัฐธรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) จำนวน 3 คำร้องว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องทราบและให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส. นางสาวภริม พูลเจริญ ส.ส. และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.ยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายในวันที่ 4 ก.พ.
-สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 ลงเหลือเติบโต 2.8% จากเดิมคาดไว้ว่าจะเติบโตราว 3.3% เนื่องจากมองว่าส่งออกจะเติบโตได้เพียงเล็กน้อยที่ 1% จากเดิมคาดไว้ราว2.6%
-โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2562 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้าแม้ว่าจะยังชะลอตัวแต่มีการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับเศรษฐกิจด้านการผลิตสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรชะลอตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
-ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 99.02 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.35% หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.13% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนธ.ค.62 อยู่ที่ 63.96% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
-ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แถลงเป้าหมายทางการเงินและยุทธศาสตร์ปี 63 ตั้งเป้าสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 4-6% ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อลูกค้ารายย่อย (Retail) ที่คาดว่าจะเติบโต 9-11% จากการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอี (SME) คาดว่าจะเติบโต 1-3% และสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ (Corporate) คาดว่าจะเติบโต 2-4%