· ตลาดหุ้นสหรัฐฯรีบาวน์จากการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและภาคโรงงานอุตสาหกรรมหลังข้อมูลกิจกรรมภาคการผลิตสหรัฐฯออกมาแข็งแกร่ง จึงช่วยชะลอแรงขายที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เหตุจากความกังวลเรื่องไวรัสโคโรนาที่จะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
โดยดัชนีดาวโจนส์ปิด +143.78 จุด หรือ +0.51% ที่ 28,399.81 จุด และ S&P500 ปิด +0.73% ที่ 3,248.92 จุด ทางด้าน Nasdaq ปิด +1.34% ที่ 9,273.4 จุด
ขณะที่นักลงทุนบางส่วนรอคอยการโหวตของวุฒิสภาสหรัฐฯกรณีการถอดถอนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในคืนวันพุธนี้ตามกระบวนการไต่สวนที่เกิดขึ้น แต่การที่สมาชิกรีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาก็ถูกคาดการณ์ว่าจะคัดค้านต่อการโหวตดังกล่าว
ประธานจาก Chase Investment Counsel กล่าวว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการไต่สวนนายทรัมป์ มีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดลงในช่วงกลางสัปดาห์นี้
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผสมผสานกันในเข้าวันนี้ ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่เฝ้าติดตามผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องของไวรัสโคโรนา โดยดัชนีนิกเกอิเปิด -0.46% และ Topix เปิด -0.34% ทางด้าน Kospiเปิด +0.29%
ในส่วนของ S&P/ASX200 เปิดทรงตัว และดัชนี MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นเปิด +0.07%
กลุ่มนักลงทุนยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาด รวมทั้งผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.00 - 31.20 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทค่อนข้างสวนทางภูมิภาค น่าจะมาจาก Flow จากตลาดบอนด์ระยะยาว ซึ่งคาดว่าตลาดอาจจะเริ่มคลายความ กังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสลงบ้าง สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่า กนง.จะประเมินจากปัจจัยสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผล ต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ย
- รมว.คลังของไทย กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้พิจารณามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในช่วงที่ผ่านมา โดยจะเป็นการสนับสนุนทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน เช่น ให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงโรงแรม สถานที่ มาหักลดหย่อนภาษีได้ และมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินให้กู้เพื่อปรับปรุงกิจการเพิ่มเติมด้วย โดยรายละเอียดขอให้รอผ่านการพิจารณาของ ครม. ก่อนจึงจะมีการเปิดเผยต่อไป รวมทั้งการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการ "ชิมช้อปใช้" ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 63 โดยตั้งแต่เริ่มมาตรการในวันที่ 27 ก.ย. 62 มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ 11,802,073 คน จากจำนวนผู้ได้รับสิทธิเข้าร่วมมาตรการ 14,354,159 คน ซึ่งมียอดการใช้จ่ายรวม 28,820 ล้านบาท
- ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดว่าการส่งออกไทยปี 63 จะกลับมาขยายตัว เนื่องจากการส่งออกล่าสุดเดือน ธ.ค. 62 หดตัว 1.3% แต่หากหักน้ำมันและทองคำจะขยายตัวที่ 1.2% ถือเป็นสัญญาณดีว่าการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวและมีทิศทางที่ดีขึ้น
· อ้างอิงจากสำนักข่าว MGR Online
- กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.50 บาท/ดอลลาร์เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.13 บาท/ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1.14 หมื่นล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 6.1 พันล้านบาท ส่วนในเดือน ม.ค.เพียงเดือนเดียว เงินบาทอ่อนค่าลงถึง 3.8% ซึ่งเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาคท่ามกลางความกังวลต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยหลายช่วงอายุแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดวิตกเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ทั้งนี้ มองว่านักลงทุนจะยังจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก รวมถึงการดำเนินมาตรการของจีนในการเข้าพยุงตลาดซึ่งกลับมาเปิดทำการหลังเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ ข้อมูลภาคบริการและการจ้างงานของสหรัฐฯ จะอยู่ในความสนใจของตลาดการเงินโลกเช่นกัน หลังจากเฟด ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
- นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ร่วมกับสถาบันการเงินสมาชิก บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) เปิดโครงการคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 3 โดยครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ 1 ก.พ. 63
สำหรับคุณสมบัติลูกหนี้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นหนี้บัตรทั้งเจ้าหนี้หลายรายและรายเดียว สำหรับปัจจุบันมีสถาบันการเงิน นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้าร่วมเป็นสมาชิก 35 แห่ง โดยธนาคารออมสินเป็นสมาชิกใหม่ล่าสุดที่เข้าร่วมโครงการ