· ค่าเงินดอลลาร์ค่อนข้างทรงตัว หลังจากที่ปรับแข็งค่าขึ้นได้จากตัวเลขภาคอุตสาหกรรมที่ออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาด ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าหลังธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยพร้อมคงคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ แม้จะเผชิญปัญหาไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ รวมถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาจากประเทศจีน
ขณะที่ตลาดจะจับตาการเลือกตั้งตัวแทนจากพรรคเดโมแครตในรัฐไอโอวาของสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีความชัดเจนมากขึ้นว่าใครจะได้รับเลือกให้ไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบัน ในการเลือกตั้งเดือน พ.ย.
ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวแถว 97.830 จุด หลังจากแข็งค่าขึ้นมา 0.44% เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นอัตราที่มากที่สุดในรอบปีนี้
เมื่อเทียบกับเงินเยน ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัวแถว 108.70 เยน/ดอลลาร์ หลังจากแข็งค่า 0.3% เมื่อวาน ซึ่งเป็นอัตราที่มากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค.
ค่าเงินยูโรทรงตัว 1.1057 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากอ่อนค่าลงมา 0.3% เมื่อวาน
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่า 0.35% แถว 0.6714 ดอลลาร์ ฟื้นขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปีครึ่งที่ 0.6670 ดอลลาร์ หลังธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75%
ค่าเงินหยวนนอกประเทศแข็งค่า 0.1% แถว 7.0022 หยวน/ดอลลาร์ สอดคล้องกับการรีบาวน์ฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนในวันนี้
ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าแถว 1.2999 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังจากอ่อนค่าลงมา 1.54% เมื่อวาน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับทิศทางการเจรจาการค้าระหว่งาอังกฤษและอียู
· ในการโหวตเลือกตัวแทนจากพรรคเดโมแครตเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จัดขึ้น ณ รัฐไอโอวา ของสหรัฐฯ วันนี้ ผลเบื้องต้นออกมาพบว่ายังไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครจะมีโอกาสลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือน พ.ย.
โดยตัวแทนที่ยังมีคะแนนความนิยมนำมาเป็นอันดับแรกๆ คือ 1) นายเบอร์นีย์ แซนเดอร์ส 2) นายโจ ไบเดน 3)นายพีท บุทติเก และ 4) นางเอมี โครบุชชา
· สถานการณ์ไวรัสโคโรนา: ฮ่องกงรายงานผู้เสียชีวิตเป็นรายแรก ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งเหนือ 20,000 ราย
รายงานจากฮ่องกงเผย ชายวัย 39 ปี ได้เสียชีวิตลงจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นเคสแรกในฮ่องกง และนับเป็นเคสที่ 2 ที่มีผู้เสียชีวิตนอกประเทศจีน ซึ่งเคสแรกเกิดขึ้นในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นชายจากเมืองอู่ฮั่น
· การเจรจาเพื่อหาข้อตกลงการค้าระหว่างอังกฤษและอียูเริ่มต้นไปเมื่อคืนก่อน โดยที่ทางนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุว่า “ไม่จำเป็น” ต้องให้ทางอียูยอมรับในกฏระเบียบของอังกฤษ และถ้าหากทางอียูไม่เห็นด้วยกับการทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบ Canada-style อังกฤษก็จะเดินออกจากที่ประชุม
ขณะที่ทางด้านนายไมเคิล บาร์เนีย ตัวแทนเจรจาจากอียู กล่าวในเชิงตรงกันข้ามกับนายบอริส โดยระบุว่า อียูต้องการให้ข้อตกลงกับอังกฤษ “มีความทะเยอทะยานสูง” และปราศจากการขึ้นภาษีกับสินค้าทุกประเภท ซึ่งขึ้นอยู่กับทางอังกฤษว่าจะเปิดกว้างต่อการแข่งขันทางการค้าในระยะยาวที่มี “ความยุติธรรม” มากแค่ไหน
· กระทรวงพาณิชย์แห่งสหรัฐฯ เขียนร่างนโยบายใหม่ที่มากีดกันการทุ่มซื้อสินค้าจากประเทศที่มีค่าเงินอ่อนค่ามากกว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอาจรวมถึงประเทศจีน จึงอาจเป็นอุปสรรคให้กับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน แม้จะเพิ่งร่วมลงนามในข้อตกลงเฟสแรกไปเมื่อเดือนก่อนก็ตาม
ร่างนโยบายดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่จีนกล่าวหาสหรัฐฯว่าพยายามปลุกระดมให้เกิดความกลัวต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนามากเกินความจริง
· นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากโรคระบาดดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางสังคมโดยตรง
โดยระบุว่า มาตรการควบคุมไวรัสมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน เศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางสังคมของจีน รวมถึงความพยายามของรัฐที่ต้องการเปิดเสรี ขณะเดียวกันเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ว่า จีนจะต้องบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมในปีนี้ รวมถึงรักษาระดับการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคให้มีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวนับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งได้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 400 รายในจีน และส่งผลให้ตลาดหุ้นร่วงลงอย่างหนัก
· รายงานจากฮ่องกง ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลว และมาเก๊าสั่งให้คาสิโนหยุดเป็นเวลา 2 สัปดาห์เนื่องจากจีนกำลังต่อสู้เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 420 รายในประเทศจีน
โดยผู้เสียชีวิตรายแรกของฮ่องกงจากไวรัสดังกล่าวคือชายวัย 39 ปีที่ป่วยเป็นโรคประจำตัวและเคยไปเยี่ยมชมเมืองหวู่ฮั่นของจีนซึ่งเป็นศูนย์กลางของการระบาด - ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา
· ปธ.เฟดแอตแลนต้า ยังสนับสนุนคงดอกเบี้ย ท่ามกลางปัญหาไวรัสโคโรนา
นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนต้า กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสยังไม่รุนแรงถึงขึ้นที่จะทำให้เขาพิจารณาเปลี่ยนมาให้การสนับสนุนการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ แม้ตลาดจะเริ่มมีกระแสคาดการณ์ว่าเฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. มากขึ้นก็ตาม
โดยระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยของเฟด 3 ครั้งเมื่อปีก่อน กำลังช่วยสนับสุนนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์ต่อไป หากปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสกลายเป็นปัญหาระดับโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายๆประเทศ ก็อาจจำเป็นต้องมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยหรือนโยบายกันใหม่ แต่ด้วยประสบการณ์ที่เคยเจอมาในอดีต สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะมาเปลี่ยนแปลงมุมมองการดำเนินนโยบายในปีนี้ได้
· ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นตามตลาดการเงินส่วนใหญ่ในวันนี้ หลังจากตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโคโรนาลงบางส่วน ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันได้ลงไปทำระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 1 ปี ท่ามกลางความกังวลจากปัญหาการระบาดของไวรัส
โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับสูงขึ้น 0.4% แถว 54.66 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ WTI ปรับสูงขึ้น 0.6% แถว 50.43 เหรียญ/บาร์เรล โดยทั้ง Brent และ WTI ต่างปรับลดลงจากระดับสูงสุดในรอบปีเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ไปแล้วมากกว่า 20%
· Goldman Sachs คาด ความผันผวนในตลาดน้ำมันจะยังคงอยู่ต่อไป
นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดน้ำมันในช่วงนี้ จะยังคงมีผลต่อไป โดยคาดว่าปริมาณอุปสงค์น้ำมันในปี 2020 อาจลดลงไปมากถึง 500,000 บาร์เรล/วัน
ขณะที่ราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงในช่วงนี้ อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้กลุ่มโอเปกหรือผู้ผลิตน้ำมันเร่งพิจารณาหามาตรการมาตอบรับกับสถานการณ์ ขณะที่จีนน่าจะเพิ่มปริมาณการสะสมน้ำมันดิบ
Goldman Sachs ยังคาดว่าการระบาดของเชื้อไวรัสอาจทำให้ภาพรวม GDP ทั่วโลกปรับร่วงลงไป 0.44%
· WTI : ราคาน้ำมันทำระดับต่ำสุดรอบ 13 เดือน เกิดสัญญาณ Death Cross?
บทวิเคราะห์ราคาน้ำมัน WTI กำลังเคลื่อนไหวแถวระดับ 50.30 เหรียญ/บาร์เรลในช่วงสายวันนี้ หลังจากลงไปทำระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนที่ 49.68 เหรียญ/บาร์เรล ดังนั้นราคาน้ำมันจึงกำลังอยู่ในช่วงของการรีบาวน์
ทั้งนี้ ราคาน้ำมัน WTi ถือว่าอยู่ในทิศทางขาลงอย่างเป็นทางการ หลังจากได้ปรับลดลงมากว่า 20% จากระดับสูงสุดที่ 65.62 เหรียญ/บาร์เรลเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ปัจจัยที่กดดันให้เกิดแรงเทขาย น่าจะมาจากความกังวลที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
สัญญาณ Death cross?
ในกราฟรายเดือนของ WTI เส้นค่าเฉลี่ยราย 50 วัน ได้ตัดลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยราย 200 วัน เกิดเป็นลักษณะที่เรียกว่า Death Cross บ่งชี้ถึงทิศทางขาลง
อย่างไรก็ตาม เส้นค่าเฉลี่ยเป็น Indicators ที่พิจารณาจากการเคลื่อนไหวของราคาในอดีตและมักจะค่อนข้างล่าช้ากับราคาปัจจุบัน ดังนั้นการเกิดสัญญาณ Death Cross ครั้งนี้ ก็อาจเป็นกับดักที่หลอกให้นักลงทุนฝั่งขาลงกลับเข้ามาลงทุนแบบผิดฝั่ง ซึ่งสัญญาณในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นหลังการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ๆ และจากนั้นราคาก็จะมีการรีบาวน์กลับมา ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันกำลังอยู่ในภาวะ Oversold ก่อนที่จะเกิดสัญญาณ Death Cross
ดังนั้น การฟื้นรีบาวน์ขึ้นในระยะสั้นของราคา WTI อาจกลายเป็นการปรับฐานที่มีนัยสำคัญ และยังมีปัจจัยจากการที่กลุ่มโอเปกกำลังพิจารณาขยายระยะเวลาและลดเพดานปริมาณน้ำมันที่จะผลิตลงไปอีกถึง 500,000 บาร์เรล/วัน เพื่อช่วยกระตุ้นราคาน้ำมันที่ตกต่ำอยู่ด้วย