· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นแรง โดยดัชนี S&P500 ปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งที่ 3,334.69 จุด หรือคิดเป็น +1.13% ทางด้านดาวโจนส์ปิดปรับขึ้น 483.22 จุด หรือ +1.68% ที่ระดับ 29,290.85 จุด ในขณะที่ Nasdaq ช่วงต้นปรับขึ้นทำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนจะอ่อนตัวเล็กน้อยจากการปรับตัวลงของหุ้น Tesla แต่ก็ยังปิดในแดนบวกได้ที่ +0.43% ที่ระดับ 9,508.68 จุด
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯได้รับอานิสงส์จากตลาดที่คลายความกังวลเรื่องไวรัสโคโรนา หลังทีมนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทั้งจากจีนและอังกฤษดูจะสามารถค้นพบยาต้านไวรัสได้ ขณะเดียวกันตลาดก็มีแรงหนุนจากข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯเดือนม.ค. ที่ออกมาดีขึ้นแตะระดับ 291,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ พ.ค. ปี 2015 ขณะที่ข้อมูลภาคบริการก็ปรับตัวขึ้นได้เช่นกันในเดือนที่แล้ว โดย ISM ปรับตัวขึ้นแตะ 55.5 จุด ซี่งเป็นสูงสุดตั้งแต่เดือนส.ค. จึงบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ปานกลางในปีนี้ แม้ว่าการใช้จ่ายผู้บริโภคระดับต่ำ
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้น โดยดัชนี Stoxx 600 ปิดปรับขึ้นกว่า 1% ท่ามกลางรายงานจากจีนที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงค้นพบยาต้านไวรัสโคโรนา ขณะเดียวกันข้อมูลดัชนี PMI ภาคธุรกิจยูโรโซนปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งนับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2020 โดยปรับขึ้นทำสูงสุดรอบ 5 เดือนที่ 51.3 จุด จาก 50.9 จุด
นอกจากนี้ ข้อมูลภาคบริการเยอรมนียังออกมาดีขึ้นกว่าคาด ทำแข็งแกร่งสุดรอบ 5 เดือนที่ 54.2 จุดในเดือนม.ค. จากระดับ 52.9 จุดในเดือนธ.ค.
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ดัชนี S&P500 พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เช้านี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นหลังจากเปิดตลาด โดยดัชนี Nikkei เพิ่มขึ้น 1.43% ด้านดัชนี Topix เพิ่มขึ้น 1.35% ขณะที่ดัชนี Kospiเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน 1.09%
ขณะที่ตลาดหุ้นออสเตรเลียปรับตัวสูงขึ้นในการซื้อขายช่วงเช้า เนื่องจากดัชนี S&P/ASX 200 เพิ่มขึ้นประมาณ 0.7% ท่ามกลางเหล่านักลงทุนที่รอคอยการประกาศข้อมูลยอดค้าปลีกของออสเตรเลียประจำเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา
ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.39%
ทั้งนี้ การปรับตัวสูงขึ้นของตลาดหุ้นเอเชียเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนตอบสนองต่อการพัฒนาในชั่วข้ามคืนของการระบาดของโรคโคโรนา ตามรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันเกี่ยวกับเรื่องความก้าวหน้าในการพัฒนายาสำหรับโรคนี้
· สำนักข่าว Reuters ระบุว่า ทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงได้พบยาเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้ อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกกล่าวในแถลงการณ์ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาใดๆที่มีประสิทธิภาพที่รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส 2019-nCoV
· นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไว้ที่ระหว่าง 30.90 - 31.15 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ผันผวนมาก หลังกนง.ประกาศลดดอกเบี้ย ซึ่งปรับอ่อนค่าไปถึง 31.26 บาท/ดอลลาร์ แล้วก็พลิกกลับมาเป็นแข็งค่าอย่างรวดเร็วจนกระทั่งปิดตลาด ขณะที่ตลาดไม่แน่ใจว่าการลดดอกเบี้ยของ กนง.ครั้งนี้จะเป็นสุดท้ายหรือเปล่า ขณะเดียวกันก็เริ่มคลายกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสหลังมีข่าวว่ามีการค้นพบยาที่รักษาไวรัสโคโรนา
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.00% ถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจาก กนง.เห็นว่าเสถียรภาพการเงินเปราะบางมากขึ้น จำเป็นต้องประสานมาตรการการเงินการคลัง โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำกว่าประมาณการจึงเห็นว่านโยบายผ่อนคลายทางการเงินจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบต่าง ๆ ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ภัยแล้ง และความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 63 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 2.8% แต่รอประเมินผลกระทบก่อนทบทวนในช่วงเดือน มี. ค.นี้
- ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของงบประมาณปี 63 และภัยแล้งรุนแรง สร้างความเสียหายกว่า 2.8 แสนล้านบาท ฉุดเศรษฐกิจร่วงโตแค่ 1.7- 2.1% จากเดิมคาด 2.7%
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 63 เหลือโต 2.1%จากเดิมคาด 2.7% จากผลกระทบโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 และความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณ
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค.63 อยู่ที่ 67.3 จากเดือน ธ.ค. 62 ที่อยู่ในระดับ 68.3 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในรอบ 69 เดือน สาเหตุมาจากความกังวลการระบาดไวรัสโคโรนา และงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ล่าช้า และปัญหาภัยแล้ง
- ที่ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) มองมีความเสี่ยงมากขึ้นที่สงผลให้ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 63 จะเติบโตชะลอลงมากกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นจึงพิจารณาปรับลดประมาณการลงเป็นกรณีพิเศษในรอบนี้ โดยประเมินว่า อัตราการขยายตัวของGDP ในปี 63 อาจลดลงมาที่ 2.0-2.5% จากเดิมประมาณการไว้ที่ 2.5-3.0% แต่ยังคงกรอบประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกและเงินเฟ้อไว้ตามเดิม ขณะที่คงต้องติดตามการออกมาตรการของทางการเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ