ในขณะที่รัฐบาลจีนกำลังพยายามควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างสุดความสามารถ ก็เป็นที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆว่าผลกระทบของมันกำลังกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก
มณฑลที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนคิดเป็น 69% ของ GDP ทั้งประเทศจีน ยังคงปิดทำการและถูกขยายวันหยุดออกไปถึงสัปดาห์หน้า ส่งผลให้เห็นถึงการที่โรงงานผลิตส่วนใหญ่ปิดทำการ ร้านค้าและภัตตาคารที่หยุดให้บริการ เรือขนส่งที่ไม่สามารถแล่นไปไหนได้ ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนตกต่ำลงอย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีมาตรการกีดกันการเดินทางของประชาชนจีนกว่า 48 ล้านคน โดยเฉพาะในเมืองอู่ฮั่นที่เป็นจุดศูนย์กลางของการแพร่ระบาด และเป็นอีกเมืองที่มีความสำคัญในด้านอุตสาหกรรมและการขนส่ง
ผู้ผลิตรายสำคัญ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานให้กับทั่วโลกหลายร้อยแห่งในประเทศจีน ยกตัวอย่างเช่น Robert Bosch ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ที่สุดอันดับแรกๆของโลก จำเป็นต้องปิดโรงงานที่ตั้งอยู่ในเมืองอู่ฮั่นลง 2 แห่ง กระทบคนงานกว่า 800 ชีวิต ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายอื่นๆอย่าง Honda Motor และ Nissan Motor ก็จำเป็นต้องปิดโรงงานผลิตลงในเมืองอู่ฮั่นเช่นกัน
ผลกระทบจากการปิดโรงงานได้แพร่ขยายไปยังธุรกิจส่งออกไปยังเมืองท่าต่างๆ ส่งผลให้ธุรกิจบางส่วนภายในเมืองท่าเหล่านี้ก็จำเป็นต้องหยุดกิจการเป็นการชั่คราว ขณะที่บริษัทรายใหญ่ก็พิจารณาหยุดกิจการลงชั่วคราวเพื่อช่วยยับยั้งการระบาดของเชื้อไวรัส และเนื่องจากจีนถือเป็นประเทศที่มีการส่งออกมากที่สุดอันดับแรกๆของโลก ทำให้ผลกระทบจากการหยุดกิจกรรมแพร่ขยายออกไปสู่ทั่วโลก ทั้งนี้ ความจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าจากจีนของทั่วโลกได้ปรับขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 10% ในปี 2005 มาเป็น 20% ในปี 2015
ห่วงโซ่อุปทานในเอเชีย – คิดเป็นการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนกว่า 40% ดังนั้นบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียจึงมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการของบริษัทจีนมากที่สุด ตามบทวิเคราะห์ของ Bloomberg ที่อ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECE (Organization for Economic Cooperation and Development) ขณะที่สหรัฐฯมีการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากจีนคิดเป็นประมาณ 10%
ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในเอเชีย
ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศจีนในปี 2015
นักวิเคราห์จาก Bloomberg ระบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะสามารถหาซัพพลายเออร์อื่นๆนอกเหนือจากในประเทศจีนได้ เนื่องจากจีนแทบจะครองเศรษฐกิจโลกในฐานะซัพพลายเออร์ไปแล้ว
แม้จะอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าจีนสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสได้ การเติบโตของ GDP จีนในไตรมาสแรกของปีนี้อาจปรับลดลงสู่ระดับ 4.5% เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2019 ที่ 6% นับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1992
วิเคราะห์สภาวะตลาด
การเติบโตของ GDP ในภาพรวมรายปี
เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันคิดเป็น 17% ของ GDP ทั่วโลก และเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยเฉพาะฮ่องกง ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตได้เพียง 1.7% ในไตรมาสแรก ถัดมาคือเกาหลีใต้และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโตได้เพราะนักท่องเที่ยวชาวจีน มีแนวโน้มที่จะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจลงไป 0.4% ในระยะสั้น รวมถึง ออสเตรเลียและบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภันฑ์รายใหญ่ให้กับจีน อาจมีการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงไป 0.3% จากคาดการณ์เดิมที่ไม่มีสถานการณ์การระบาดของไวรัส
ในขณะที่รัฐบาลของแต่ประเทศรวมถึงผู้นำทางธุรกิจ ต่างมีมุมมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะสามารถสรุปได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสมากเท่าใด แต่ก็เริ่มเห็นได้ถึงผลกระทบที่จะตามมา ยกตัวอย่างเช่น Nike ที่จำเป็นต้องประกาศปิดทำการสาขาในประเทศจีนไปมากกว่าครึ่ง พร้อมคาดว่า “วัสดุสำหรับการผลิต” จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส ขณะที่ Starbucks ประกาศหยุดทำการสาขาในประเทศจีนไปกว่า 2,000 สาขา และ Apple ที่ระบุว่าห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาจะได้รับผลกระทบ
ที่มา: Bloomberg