· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 และยังคงทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังตลาดคลายกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยดัชนีดาวโจนส์ปิด +88.92 จุด หรือ +0.3% ที่ 29,379.77 จุด ทางด้าน S&P500 ปิด +0.33% ที่ 3,345.78 จุด และ Nasdaq ปิด +0.67% ที่ 9,572.15 จุด
ทั้งนี้ ตลาดยังมีแรงหนุนจากการที่จีนจะลดภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯลงครึ่งหนึ่ง และการกระทำดังกล่าวทำให้บรรดานักวิเคราะห์มองว่าจะสามารถช่วยเหนุนความเชื่อมั่นในตลาดได้หลังจากที่ตลาดและภาคธุรกิจผันผวนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยข้อมูลในกลุ่มภาคแรงงานออกมาดีขึ้น และคืนนี้นักลงทุนรอการประกาศข้อมูล Non-Farm Payrolls สหรัฐฯ
· ข่าวการที่จีนจะทำการหั่นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯลงครึ่งหนึ่งนั้นได้ทำให้ตลาดหุ้นเอเชียเมื่อวานปิดปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่ง นำโดยตลาดหุ้นจีน โดยดัชนีเสิ่นเจิ้นคอมโพสิตปิด +2.85%, เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิด +1.72% ที่ 2,866.51 จุด ขณะที่HSI ปิด +2.35% ด้านนิกเกอิเมื่อวานนี้ปิด +2.38%
· เช้านี้ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับตัวลงจากแรงขายทำกำไรและนักลงทุนรอคอยข้อมูลการค้าของจีนประจำเดือนม.ค. ที่จะประกาศในวันนี้ โดยดัชนีนิกเกอิกลับมาเปิด -0.35% ด้าน Topix เปิด -0.31% หลังจากที่เมื่อวานปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่งตอบรับข่าวการที่จีนปรับลดภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ
ทางด้านดัชนี Kospi เปิด -0.73% และดัชนี ASX200 เปิด -0.43% ด้านดันี MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นเปิด -0.35%
กลุ่มนักลงทุนกำลังเฝ้าจับตาไปยังยอดนำเข้าและส่งออกจีนในเดือนม.ค.ที่จะเปิดเผยในวันนี้ ที่ถูกคาดว่าจะเห็นจีนมียอดเกินดุลกับสหรัฐฯที่ 2.318 หมื่นล้านเหรียญ หรือลดลงจากในเดือนพ.ย.ที่ระดับ 2.46 หมื่นล้านเหรียญ
· แม้ว่าตลาดจะมีความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ที่ ณ ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 28,000 ราย และผู้เสียชีวิตสูงกว่า 560 คนนับตั้งแต่ 20 ม.ค. จึงส่งผลให้ภาคบริษัทมีความวิตกกังวลว่าจะกระทบต่อผลประกอบการ แต่จะเห็นได้ว่าจากประวัติศาสตร์การแพร่ระบาดของไวรัส ตลาดสามารถฟื้นตัวกลับได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ทั้งช่วงที่เกิดการระบาดของไข้เลือดออก, ไข้หวัดหมู, อีโบล่า, โรคหัด, โรคหัดเยอรมัน, ซิก้า ทั้งหมดนี้ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดมากนัก
โดยช่วงปี 2016 ซิก้า หรือการติดเชื้อในเดฟ้กแรกเกิด ส่งผลให้หุ้นทั่วโลกดิ่งกว่า 6% ในช่วง 1 เดือน แต่หลังจากซิกาบรรเทาลง ในช่วง 6 เดือนต่อมา หุ้นย่อแค่เพียง 0.6% เท่านั้น
การระบาดของอีโบลาก็ส่งผลให้หุ้นร่วงลงกว่า 7% แต่ช่วงครึ่งปีหลังก็สามารถรีบาวน์กลับได้
ปี 2010 ที่มีการระบาดของอหิวาตกโรคส่งผลให้หุ้นปรับลง 2% ก่อนจะฟื้นตัวได้กว่า 6% ในช่วง 6 เดือนให้หลีง และช่วงปลายปีภาพรวมหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นกว่า 13%
หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนจาก Charles Schwab กล่าวว่า หุ้นทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นได้ทั้งหมดหลังจากที่ปรับลงรับข่าว และเชื่อว่าสถานการณ์ของไวรัสโคโรนาเวลานี้จะมีการตอบรับในลักษณะเดียวกัน
· นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ระหว่าง 31.00 - 31.25 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนตามแรง flow เนื่องจากนักลงทุนยังขาดความมั่นใจเรื่องการแก้ปัญหาแพร่ระบาดของไวรัส โคโรนา รวมถึงการออกมาตรการการเงินการคลังเพิ่มเติม และรอดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบปี 63 ล่าช้าออกไปมากน้อยเพียงใด
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.63 อยู่ที่ 102.78 เพิ่มขึ้น 1.05% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 0.16% จากเดือน ธ.ค.62 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ม.ค.63 อยู่ที่ 102.82 เพิ่มขึ้น 0.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.02% จากเดือน ธ.ค.62
- บอร์ดบีโอไอที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบมาตรการพิเศษ 3 มาตรการเพื่อเร่งรัดการลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ส่งเสริมการลงทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ของบีโอไอได้ง่ายขึ้น และอนุมัติให้การส่งเสริมแก่กิจการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะจำนวน 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 7,915 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง
- นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้มีสถานการณ์ที่เป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจไทยใน 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ 1.การระบาดของไวรัสโคโรนา 2.ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 63 และ 3.ปัญหาภัยแล้ง พร้อมยืนยันว่าหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ธปท.ยังมี Policy space ที่พร้อมจะนำออกมาใช้ ทั้งเรื่องของดอกเบี้ยนโยบาย และมาตรการอื่นๆ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ม.ค.63 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 48.5 จากทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต โดยดัชนีฯ ของภาคการผลิตปรับเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบ และในเกือบทุก sector นำโดยกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มุมมองเชิงลบด้านคำสั่งซื้อและปริมาณการผลิตปรับดีขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- กระทรวงการคลังของไทย ออกประกาศให้มีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้ผู้ส่งออกไม่ต้องนำเงินรายได้ค่าของส่งออกสินค้ากลับเข้าประเทศ ด้วยการขยายวงเงินค่าของส่งออกจากปัจจุบันที่มีมูลค่าต่ำกว่า 200,000 เหรียญ (สัดส่วนของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับประโยชน์คิดเป็น 50%) เป็น 1,000,000 เหรียญ (สัดส่วนของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับประโยชน์เพิ่มเป็น 80%)
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เผยได้หารือกับกระทรวงการคลังถึงแนวทางบริหารจัดการกรณี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 มีความล่าช้าออกไป ซึ่งอาจจะต้องเริ่มใช้จ่ายหลังจากเดือน พ.ค.63 ดังนั้นจึงเสนอให้เร่งดำเนินการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ : TFFIF) เฟส 2 ให้เร็วขึ้น หรือออกพันธบัตรเพื่อใช้ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่แทน