· หุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นทำสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวานนี้ตอบรับข่าวการฟื้นตัวของหุ้นธนาคารอิตาลี ประกอบกับการที่จีนออกมาตรการเศรษฐกิจชุดใหม่เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แม้ว่าเมื่อวานจะเป็นวันหยุดของสหรัฐฯ และส่งผลให้ตลาดไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก โดยดัชนี Stoxx600 ปิด +0.3%
ขณะเดียวกัน บรรดารัฐมนตรีกระทรวงการคลังของยูโรโซนจะทำการหารือรายละเอียดต่างๆและเรียกร้องให้ร่วมกันสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านทางนโยบายทางการเงิน ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจเยอรมนีที่ชะลอตัว ควบคู่กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่ดูจะเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลก
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลง เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนายังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อภาคบริษัท ต่างๆ
โดยเช้านี้ ดัชนี Nikkei ลดลง 0.65% ด้านดัชนี Topix ลดลง 0.56% ท่ามกลางการลดลงของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยหุ้น Softbank ลดลง 2.38%
ดัชนี Kospi เกาหลีใต้ปรับลดลง 0.75% ขณะที่ดัชนี ASX 200 ลดลง 0.23%
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 0.17%
· นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ระหว่าง 31.10-31.25 บาท/ดอลลาร์ โดยเมื่อวานนี้ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลงไปในช่วงสายที่ระดับ 31.21 บาท/ดอลลาร์ ภายหลังจากที่สภาพัฒน์ประกาศตัวเลข GDPไตรมาส 4/62 ขยายตัวได้เพียง 1.6% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส รวมถึงปรับลดคาการณ์ GDP ปี 63 ลงเหลือ 1.5-2.5% ประกอบกับตลาดยังมีความกังวลกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ซึ่งทำให้คาดว่าแนวโน้มเงินบาทยัง เป็นทิศทางที่อ่อนค่าต่อ
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ประกาศอัตราการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทยในไตรมาส 4 ปี 2562 ว่าขยายตัวได้ 1.6% และเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2562 ขยายตัวได้ 2.4% ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงจากปี 2561 ที่ขยายตัว 4.2% ต่อปี ส่วนในปี 63 คาดว่า GDP จะขยายตัว 1.5-2.5% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2.7-3.7% โดยมีปัจจัยหลัก คือ การระบาดของ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณฯ ปี 63
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 62 ที่ 2.4% และช่วงประมาณการ GDP ปี 63 ที่ 1.5-2.5% ตามที่สภาพัฒน์ ประกาศนั้น ต่ำกว่าตัวเลขที่ ธปท.ประมาณการไว้ ณ เดือนธ.ค.62ที่2.5% และ 2.8% ตามลำดับ สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงแรง
- โฆษกกระทรวงการคลัง เผย กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และมีความพร้อมที่จะดำเนินมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี มองว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ไม่มีแรงกดดันด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทั้งอัตราเงินเฟ้อต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและฐานทางการคลังสะท้อนจากหนี้สาธารณะต่อ GDP เพียง 41.3% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เข้มแข็งมาก
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่จะอยู่ในช่วง 31.00-31.35 บาท/ดอลลาร์ โดยเห็นว่าตลาดจะติดตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการเปิดเผยบันทึกการประชุมของเฟด ทั้งนี้BAY มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในการประชุมเดือนมี.ค.63 ลงสู่ระดับ 0.75% จากปัจจุบันที่ระดับ 1.00%
- ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 62 ว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 62 ลดลงมาอยู่ที่ 2% หลังสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อธุรกิจ SME หดตัว