· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวลงหนักจากข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจากจีนไปยังประเทศต่างๆ จึงยิ่งตอกย้ำความกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยดัชนีดาวโจนส์ปิด -1,031.61 จุด หรือ -3.56% ที่ระดับ 27,960.80 จุด ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด -3.35% ที่ 3,225.89 จุด และ Nasdaq ปิด -3.71% ที่ระดับ 9,221.28 จุด
ดัชนีดาวโจนส์เรียกได้ว่ามีการปิดระดับรายวันที่มากที่สุด และถือเป็นอัตราเปอร์เซ็นรายวันที่ร่วงลงมากที่สุดตั้งแต่ก.พ.ปี 2018 ทำให้ภาพรวมตั้งแต่ต้นปี - ปัจจุบันดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงแล้วประมาณ 2% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดรายวันที่แย่ที่สุดในรอบ 2 ปี
ภาพรวมตลาดหุ้นอื่นๆก็ปรับตัวลงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นยุโรปที่ร่วงลงกว่า 3% ด้าน Kospi ของเกาหลีใต้ดิ่ง 3.9% และฮั่งเส็งปิดปรับลงกว่า 1.8%
ด้านดัชนีมาตรวัดความผันผวน (VIX) ที่เป็นเครื่องมือวัดความกังวลของนักลงทุนพบว่าปรับขึ้นได้กว่า 7 จุด หรือคิดเป็น 46% ที่ระดับ 25.04 จุด
· ดัชนี S&P500 ปิดทำรายวันที่แย่ที่สุดในรอบ 2 ปีจากความกังวลเรื่องไวรัสโคโรนา และดูจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของ S&P500 ในปีนี้ และดูจะคุกคามต่อการทำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในภาคส่วนต่างๆ
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีใน S&P500 ปรับร่วงลงไปกว่า 4.2% ขณะที่หุ้นบริษัท Apple ก็ร่วงลงอย่างหนัก กว่า 7% จากสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้ในวันที่ 19 ก.พ.
นอกจากนี้ ความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาที่แพร่ระบาดหนักในเวลานี้ดูจะทำให้ดัชนีต่างๆใน New York Stock Exchange ปรับลงทำต่ำสุดรอบ 52 สัปดาห์
· บริษัท Apple, Facebook, Amazon, Microsft และ Google-parent Alphabet ดูจะได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาและทำให้ปรับตัวลงทั่วตลาดคิดเป็นมูลค่า 2.5 แสนล้านเหรียญ ซึ่งดัชนีทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็น 1 ใน 5 ของดัชนี S&P500ทั้งหมด
· หุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงอย่างหนักจากความกังวลเรื่องไวรัสโคโรนา โดย Stoxx600 ปิด -3.8% ท่ามกลางหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมที่ปรับลงกว่า 6% จึงทำให้หุ้นกลุ่มอื่นๆปรับตัวลงในแดนลบ ขณะที่ดัชนี FTSE MIB ของอิตาลี ปรับตัวลงไปกว่า 1,350 จุด หรือ -5.5%
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดในอิตาลี, อิรัก และเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้น ดูจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในเวลานี้พุ่งสูงกว่า 79,400 ราย และเสียชีวิตทั่วโลกกว่า 2,621 ราย
· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นร่วงลง ตามการร่วงลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืนที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับมาเปิดทำการหลังจากปิดเนื่องจากวันหยุดราชการเมื่อวานนี้ โดยดัชนี Nikkei เปิดร่วงลง 3.97% ช่วงต้นตลาด ก่อนจะปรับลดลงประมาณ 3.65% ท่ามกลางดัชนี Fast Retailing ที่ลดลง 4.35% ด้านดัชนี Topix ลดลง 3.92%
ขณะที่ดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้ ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย 0.11% หลังจากร่วงลงไปเมื่อวานนี้ จากการที่รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศยกระดับการเตือนภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สู่ระดับ "สีแดง" ซึ่งเป็นระดับสูงสุด
รายงานจาก BOK ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเกาหลีใต้ประจำเดือนก.พ.ปรับลดลง 7.3 จุด อยู่ที่ระดับ 96.9 ซึ่งทำระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน
ขณะที่ดัชนี S&P/ASX 200 ของออสเตรเลียปรับลดลง 1.75% ด้านดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลงเช่นเดียวกัน 0.21% ภาพรวมสถานการณ์นอกทวีปเอเชีย ประเทศอิตาลีมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยมีผู้ป่วยอย่างน้อย 130 ราย
นักเศรษฐศาสตร์ด้านค่าเงินประจำ Commonwealth Bank of Australia ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนานอกประเทศจีน เพิ่มความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกในไตรมาสที่ 1/20 นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจที่ยาวนานขึ้น
ด้านตลาดมาเลเซียให้ความสนใจไปยังการรายงานล่าสุดที่กดดันประเทศให้เข้าสู่ความไม่แน่นอนทางการเมือง หลังจากที่นายมหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวานนี้ อย่างไรก็ดี จะยังคงดำรงตำแหน่งต่อชั่วคราวจนกว่าจะมีผู้มาแทน ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ ดัชนี KLCI ของมาเลเซีย ร่วงลง 2.69%
· นักบริหารการเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไว้ระหว่าง 31.60-31.70 บาท/ดอลลาร์ โดยยอดส่งออกของไทยออกมาสูงกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ แต่ไม่ได้มีผลกระทบมากนัก ปัจจัยหลักยังคงให้ความสนใจไปยังเรื่อง การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- กระทรวงพาณิชย์ของไทย แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ม.ค.63 การส่งออกมีมูลค่า 19,625.7 ล้านเหรียญ ขยายตัว 3.35% เป็นการกลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากตลาดคาดการณ์ว่าจะหดตัวราว -3.1% ถึง -2.9%เบื้องต้นประเมินว่าทั้งปีการส่งออกของไทยอาจจะขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อยในช่วง 0-2% โดยจะเริ่มกลับมาดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่การกำหนดเป้าหมายการส่งออกปีนี้อย่างเป็นทางการต้องรอข้อสรุปจากที่ประชุมทูตพาณิชย์ในวันศุกร์นี้ ซึ่งจะมีการประเมินภาพรวมแนวโน้มการส่งออก ตลอดจนวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ร่วมกัน
- ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยรอบแรกในปี 63 ลดลงเหลือขยายตัว 1.5% จากเดิมที่คาดว่าขยายตัว 2.5% จากปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ความล่าช้าของพ.ร.บ. งบประมาณปี 63 ซึ่งทำให้รัฐบาลคาดว่าน่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ หรืออย่างเร็วสุดในกลางเดือน มี.ค.นี้
- กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้าวันนี้ปรับตัวลดลงสอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นทั่วโลก โดยตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงเฉลี่ย 2% ขณะที่ตลาดหุ้นบ้านเราก็ปรับตัวลดลงในระดับใกล้เคียงกันที่ 2.26% และมีความกังวลว่าจะปรับตัวลงต่อ โดยเฉพาะหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่ กลุ่ม Commerce ,Energy, Food จากการส่งออก และท่องเที่ยวที่ลดลง