• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563

    28 กุมภาพันธ์ 2563 | Economic News

· สถานการณ์ไวรัสโคโรนา

- ผู้ว่ารัฐแคลิฟอร์เนียแห่งสหรัฐฯ ระบุว่าตรวจพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ภายในรัฐจำนวน 33 ราย และทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังจับตากลุ่มเสี่ยงเป็นจำนวนอย่างน้อย 8,400 ราย รายงานดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากตรวจพบผู้ติดเชื้อที่อาจเป็นต้นตอของการระบาดในระดับชุมชน โดยเฉพาะในแถบโซลาโน

- รายงานสถานการณ์ไวรัสโคโรนาล่าสุดพบประเทศติดเชื้อ 52 ประเทศทั่วโลก โดยยอดผู้ติดเชื้อ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 83,369 ราย และเสียชีวิต 2,858 ราย

- ด้านไอเอ็มเอฟออกโรงเตือนมีแนวโน้มจะทำการปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลก เนื่องจากการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของไวรัสดังกล่าว

- ตลาดมองโอกาสที่เฟดจำเป็นต้องเร่งปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพื่อหนุนทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่ส่งผลให้หุ้นทั่วโลกดิ่งลงแรงตลอดสัปดาห์นี้

บรรดาเทรดเดอร์คาดการ์ณว่ามีโอกาส 76% ที่จะเห็นเฟดปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมที่เร็วที่สุดอาจเป็นเดือนหน้า จากเดิมที่คาดว่ามีโอกาสเพียง 33% ที่จะเห็นเฟดลดดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. และเฟดอาจมีเป้าหมายดอกเบี้ยระยะสั้นต่ำกว่า 1% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2017 ได้

- นายชาร์ล อีวานส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโก กล่าวว่า เฟดจับตาใกล้ชิดต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ที่อาจส่างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกก่อนจะพิจารณาถึงเรื่องการปรับลดดอกเบี้ย เนื่องจากเวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะพิจารณาถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา

- รายงานจาก BofA (Bank of America) ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

นักวิจัยระดับโลกประจำ BofA ระบุว่า การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลกในปีนี้ คาดว่าจะชะลอตัวลงเป็น 2.8% ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าระดับ 3% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤตการณ์ทางการเงินสิ้นสุดในกลางปี 2009 ที่ผ่านมา

นักเศรษฐศาสตร์ของ BofA กล่าวว่า ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดคือการระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศจีน ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน, ความไม่แน่นอนทางการเมืองและความอ่อนแอในญี่ปุ่น รวมทั้งบางภูมิภาคของอเมริกาใต้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบขนาดใหญ่ที่กนระทบต่อปริมาณผลผลิต

โดยการหยุดชะงักของเศรษฐกิจจีนอย่างยาวนานน่าจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ท่ามกลางกระแสการท่องเที่ยวที่อ่อนแอจะเป็นอุปสรรคต่อเอเชีย และการระบาดอย่างจำกัด เช่นเดียวกับในอิตาลีมีความเป็นไปได้ในหลายประเทศจะนำไปสู่การกักกันที่มากขึ้นและกดดันความเชื่อมั่นมากกว่าเดิม

BofA ก็ยังมีมุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 5.2% ในปีนี้ ลดลงจากปีที่แล้วที่ระดับ 5.9% ขณะที่ GDP ทั่วโลก ซึ่งไม่รวมจีน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2% ซึ่งยังเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ผ่านมา

- รองรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของเกาหลีใต้ กล่าวว่า จะหาความเป็นไปได้ทั้งหมดเพื่อสร้างตลาดการเงินให้มีเสถียรภาพ และเขามองถึงสัญญาณบ่งชี้ทางเศรษฐกิจจากภาคการผลิต, ภาคการอุปโภคบริโภคที่มีโอกาสจะปรับตัวลงจากการเพิ่มจำนวนมากขึ้นของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งรัฐบาลจะหาแผนสนับสนุนมาตรการให้แก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ผ่านร่างงบประมาณเพิ่มเติม โดยล่าสุดเกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกกว่า 500 ราย ปัจจุบันอยู่แถวระดับประมาณ 1,766 ราย

ภาพรวมภาคการผลิตเกาหลีใต้หดตัวลงอย่างต่อเนื่องในเดือนม.ค. ท่ามกลางการแพร่ระบาดที่ลุกลามไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว จึงมีแนวโน้มว่าจะเห็นการเติบโตทางภาคการผลิตหดตัวลงกว่าเดิม โดยในเดือนม.ค.ภาคการผลิตหดตัวลงประมาณ 1.3% ขณะที่เมื่อเทียบรายปีจะพบว่ามีการปรับลงไปประมาณ 2.4% ซึ่งแย่กว่าระดับการขยายตัวที่ 6.2% ในเดือนธ.ค. ซึ่งข้อมูลดังกล่าวในเดือนม.ค. น่าจะยังเป็นข้อมูลที่ไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโคนา

- ผู้เชี่ยวชาญเตือนการระบาดของไวรัสโคโรนาจะกดดันในเศรษฐกิจออสเตรเลียอ่อนแอลงอย่างมาก เนื่องจากตลาดโลกมองว่าออสเตรเลียเปรียบเสมือนช่องทางเข้าสู่ตลาดจีน ดังนั้นหากเศรษฐกิจจีนอ่อนแอ การเติบโตของเศรษฐกิจออสเตรเลียก็จะได้รับผลกระทบตามมา

- ทางสหภาพยุโรปคาดหวังความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯจะผ่อนคลายลง แต่ก็คาดหวังให้สหรัฐฯพิจารณาลดภาษีเหล็ก หรือแสดงท่าทีตอบรับที่ดีต่อการเจรจาร่วมกับยุโรป หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเคยเจรจาร่วมกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยตลอด

- เศรษฐกิจที่อ่อนแอของมาเลเซียจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้ชะลอลงกว่าเดิม อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นหรือไม่ ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองครั้งล่าสุดในประเทศ

หลังจากการลาออกของนายมหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยไม่คาดคิดในสัปดาห์นี้ ส่งผลให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่ปกครองประเทศได้รับความเสียหาย

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคหลายแห่งของมาเลเซียได้ประกาศหรือกำลังวางแผนจัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าหลายพันล้านเหรียญเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของพวกเขาท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา

- ที่ปรึกษาด้านการลงทุนกังวลว่าสหรัฐฯอาจตอบรับการระบาดของไวรัสช้าเกินไป

บรรดที่ปรึกษาด้านการลงทุนต่างแสดงความกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐฯอาจมีมาตรการตอบรับกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศที่ช้าเกินไป จึงอาจเป็นปัจจัยที่กดดันความเชื่อมั่นของตลาดที่อ่อนแออยู่แล้วให้อ่อนแอลงไปอีก

ความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากหน่วยงาน CDC ของสหรัฐฯรายงานจำนวนคนกลุ่มหนึ่งที่ตรวจพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนา แม้บางฝ่ายอาจมองว่าจำนวนดังกล่าวยังคงน้อยอยู่ แต่มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะตัดสินใจปิดเมืองในสหรัฐฯบางเมือง ขณะที่บางฝ่ายกังวลว่ารัฐบาลอาจใช้มาตรการควบคุมที่หละหลวม

บรรดานักลงทุนจึงเริ่มหันเข้ามาสินทรัพย์ปลอดภัยกันมากขึ้น เนื่องจากกังวลเศรษฐกิจอาจได้รับความเสียหายจากการระบาดของไวรัส ซึ่งจะทำให้มูลค่าของสินทรัพย์เสี่ยงตกต่ำ

· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ให้ความสนใจไปยังการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดที่จะเกิดขึ้นเพื่อชดเชยกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขณะที่ยูโรรายวันปรับแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่พ.ค. ปี 2018

เครื่องมือ FedWatch ของ CME Group ชี้ว่า มีโอกาสมากขึ้นที่จะเห็นเฟดตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลงในเดือนมี.ค.นี้มากถึง 54.3% จากคาดการณ์เดิมที่ 33.2% ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่หันเข้าถือตราสารหนี้สหรัฐฯเพื่อเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย จึงกดดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยปรับลงอีก 1.241%

ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น 0.52% ที่ 109.84 เยน/ดอลลาร์ ด้านหยวนปรับแข็งค่ามากที่สุดรอบ 1 สัปดาห์ แตะ 7.008 หยวน/ดอลลาร์

· ราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดปรับลง 1.25 เหรียญ หรือ -2.3% ที่ 52.18 เหรียญ/บาร์เรล โดยระหว่างวันทำต่ำสดที่ 50.97 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นต่ำสุดตั้งแต่เดือนธ.ค. ปี 2018 ขณะที่ WIT ปิดปรับลง 1.64 เหรียญ หรือ -3.4% ที่ 47.09 เหรียญ/บาร์เรล หลังทำต่ำสุดตั้งแต่ม.ค. 2019

ภาพรวมน้ำมันดิบปรับตัวลงติดต่อกัน 5 วันทำการไปทำระดับต่ำสุดรอบกว่า 1 ปี จากข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่กระจายตัวออกนอกพื้นที่จีน ที่อาจเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์น้ำมัน

 
บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com