ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลงเข้าสู่แดนปรับฐานเมื่อคืนนี้ ท่ามกลางนักลงทุนที่ให้ความสนใจไปยังสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่อาจสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ
การปรับฐานของตลาดหุ้นได้การยืนยันเมื่อดัชนีหลักอย่างดาวโจนส์หรือ S&P 500 ปรับร่วงลงมาถึง 10% จากระดับสูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์
เมื่อศึกษาจากประวัติศาสตร์ การปรับฐานมักจะทำให้ตลาดปรับร่วงลงไปกว่า 13% และใช้เวลาประมาณ 4 เดือนถึงจะสามารถฟื้นกลับขึ้นมาในระดับเดิมได้
แต่ยังมีความเสี่ยงที่การปรับฐานอาจร่วงลงไปลึกกว่านี้ โดยเฉพาะหากร่วงลงไปลึกกว่า 20% จากระดับสูงสุด จะยิ่งทำให้ตลาดอ่อนแอและใช้เวลาในการฟื้นตัวยาวนานยิ่งกว่า
ข้อมูลเชิงสถิติที่ทาง CNBC และ Goldman Sachs วิเคราะห์ไว้ มีดังต่อไปนี้
- นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ตลาดหุ้นมีการปรับฐานทั้งหมด 26 ครั้ง (ไม่นับเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา) โดยมีอัตราปรับร่วงเฉลี่ยที่ 13.7% ในระยะเวลา 4 เดือน
- การฟื้นตัวใช้เวลาเฉลี่ยที่ 4 เดือน
- การปรับฐานครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือน ก.ย. ปี 2018 จนถึงเดือน ธ.ค. ปี 2018 โดยดัชนี S&P 500 เคลื่อนไหวผันผวนตลอดไตรมาสที่ 3/2018 ก่อนที่จะร่วงเข้าสู่ตลาดขาลงในคืนคริสต์มาสอีฟ (ร่วง 20% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์)
เมื่อคืนที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์และ S&P 500 ปรับร่วง 4.4% โดยดาวโจนส์ร่วงถึง 1,190.9 จุด มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และปิดตลาดในแดนปรับฐานเมื่อวัดจากระดับสูงสุดที่ทำไปเมื่อเร็วๆนี้ ขณะที่ S&P 500 และดาวโจนส์ต่างปรับลดลงมากกว่า 10% นับตั้งแต่วันจันทร์ และมากกว่า 12% หากนับตั้งแต่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของทั้งสองดัชนีที่ขึ้นไปทำได้เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.
ตามข้อมูลของ Bespoke Investment Group ดัชนี S&P 500 ปิดต่ำกว่าระดับ 3,047.53 จุด ซึ่งนับเป็นแนวรับสำคัญก่อนเข้าสู่แดนปรับฐาน และยังเป็นการปรับลดลงกว่า 10% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของดัชนี
- นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ตลาดหุ้นสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะตลาดขาลง (Bear market) มาทั้งหมด 12 ครั้ง โดยมีอัตราปรับร่วงเฉลี่ย 32.5%
- ภาวะตลาดขาลงครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือน ต.ค. ปี 2007 จนถึงเดือน มี.ค. ปี 2009 โดยตลาดปรับร่วงมากกว่า 57% และใช้เวลาถึง 4 ปีสำหรับการฟื้นตัว ดัชนี S&P 500 เข้าสู่ตลาดขาลงในเดือน ธ.ค. ปี 2018 เมื่อวิเคราะห์ตามข้อมูลการซื้อขายภายในวัน
- ภาวะตลาดขาลงมีระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 14.5 เดือน และใช้เวลาในการฟื้นตัว 2 ปีโดยเฉลี่ย
ที่มา: CNBC