· ค่าเงินเยนกลับมาถูกเข้าซื้อในฐานะ Safe-haven อย่างหนาแน่นอีกครั้ง ส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าทำระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 1 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจากความกังวลว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาอาจยกระดับกลายเป็นการแพร่ระบาดในระดับโลก
ค่าเงินเยนแข็งค่า 0.7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ทำระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 1 เดือนที่ 108.85 เยน/ดอลลาร์ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 2.4% ในสัปดาห์นี้ นับเป็นอัตราอ่อนค่าที่มากที่สุดในกว่ารอบ 3 ปี
ค่าเงินในตลาดเอเชีย โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกต่างอ่อนค่าลง โดยค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่า 0.7% ทำระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนค่า 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และ 1.7% เมื่อเทียบกับเงินเยน
ความหวังว่าจะสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาได้ในสัปดาห์นี้ ถูกทำลายลงท่ามกลางจำนวนการติดเชื้อในต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
สถานการณ์ไวรัสโคโรนา
· รายงานจากจีนแผ่นดินใหญ่ มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายใหม่เพิ่มขึ้น 327 ราย ซึ่งเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. ลดลงจากยอดเมื่อวานที่ 433 ราย ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อเฉพาะในประเทศจีนทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 78,824 ราย
ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่คิดเป็น 318 ราย มาจากมณฑลหัวเป่ยซึ่งเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาด
· เกาหลีใต้รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายใหม่ออกมาเพิ่มขึ้น 571 ราย ทำให้ยอดรวมของประเทศล่าสุดอยู่ที่ 2,337 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงเดิมที่ 13 ราย
· นิวซีแลนด์รายงานผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 รายแรกของประเทศ โดยเป็นคนวัย 60 ปีที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากอิหร่าน ล่าสุดกำลังรับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในเมืองโอ๊คแลนด์ และมีอาการดีขึ้นตามลำดับ
· ลิทัวเนียยืนยันผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายแรกของประเทศในวันนี้ ซึ่งเป็นผู้หญิงที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากเมืองเวโรนาทางตอนเหนือของอิตาลีในช่วงสัปดาห์นี้
· ไนจีเรียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นรายแรกของประเทศ โดยเป็นชายชาวอิตาลีที่เพิ่งเดินทางเข้าประเทศเมื่อ 3 วันก่อน
· รายงานจากเยอรมนีระบุว่ารัฐบาลได้สั่งกักบริเวณประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนาทั้งหมด 1,000 คนในเมืองไฮน์สแบร์กทางฝั่งตะวันออกของเยอรมนี
· ผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษเตือนให้ชาวอังกฤษเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา
· สถาบัน Moody’s Analytics ปรับคาดการณ์โอกาสที่การระบาดของไวรัส COVID-19 จะกลายเป็นการระบาดในระดับโลก (Pandemic) เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากเดิมที่ 20% เป็น 40% เนื่องจากการระบาดอย่างรวดเร็วในต่างประเทศนอกเหนือจากจีน
นอกจากนี้ ทางสถาบันยังเตือนว่าหากยกระดับกลายเป็นการระบาดในระดับโลก ผลกระทบของมันจะทำให้เศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี 2020
· JPMorgan Chase & Co ประกาศห้ามพนักงานเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่จำเป็น เพื่อปกป้องพนักงานและธุรกิจจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
· การระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสโคโรนานอกประเทศจีน ส่งผลให้ดัชนีหุ้นหลักในตลาดเอเชียปรับตัวลดลงเข้าสู่แดนปรับฐาน โดยดัชนีในตลาดเอเชียที่เข้าสู่แดนปรับฐานในช่วงบ่ายวันนี้ มีดังต่อไปนี้:
ญี่ปุ่น: Nikkei 225
จีน: Shanghai composite
ฮ่องกง: Hang Seng index
เกาหลีใต้: Kospi
ออสเตรเลีย: S&P/ASX 200
สิงคโปร์: Straits Times index
ไทย: SET composite index
· ผลผลิตจากโรงงานของญี่ปุ่นประจำเดือนม.ค.เพิ่มขึ้นเกินคาด 0.8% จากเดือนก่อนหน้า จึงช่วยลดความกังวลให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ในประเทศจีนที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและภาคธุรกิจต่างๆ
โดยเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหดตัวในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบเกือบ 6 ปีในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากการปรับขึ้นภาษีทั่วประเทศส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภค
· การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นประจำเดือนม.ค.มีแนวโน้มลดลง 4.0% ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกัน 4 เดือน
เนื่องจากการขึ้นภาษีการขายยังคงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงเป็นสัญญาณว่าการฟื้นตัวจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังเผชิญแรงกดดันจากการระบาดของไวรัส
· สำนักข่าว Kyodo รายงานว่า โรงเรียนทุกแห่งในญี่ปุ่นมีโอกาสปิดได้นานกว่าหนึ่งหรือสองสัปดาห์ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานอกประเทศจีน
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลจะขอให้โรงเรียนระดับประถม, มัธยมต้น, และมัธยมปลายทั้งหมดในญี่ปุ่นปิดทำการตั้งแต่วันจันทร์ (2 มี.ค.63) โดยขณะนี้ญี่ปุ่นยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง
· ราคาน้ำมันร่วงทำระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 1 ปี ทำให้ภาพรวมรายสัปดาห์มีแนวโน้มปรับร่วงลงมากที่สุดในรอบ 4 ปี เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่กระจายออกไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลงอีก 1.37 เหรียญ หรือ 2.7% แถว 50.36 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน
ขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลงอีก 1.33 เหรียญ หรือ 2.8% แถว 45.76 เหรียญ/บาร์เรล โดยราคามีแนวโน้มปรับลดลงในภาพรวมรายสัปดาห์ 14% มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. ปี 2011