• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 3 มีนาคม 2563

    3 มีนาคม 2563 | Economic News



· สถานการณ์ไวรัสโคโรนา (COVID-19) ล่าสุด


Ø จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 90,433 ราย

Ø จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 3,119 ราย

Ø จำนวนประเทศติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 76 ประเทศ





- สถานการณ์การพบประเทศติดเชื้อเพิ่มขึ้นยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดประเทศโมร็อคโค, ลัตเวีย และเซเนกัล ต่างก็พบรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายแรกของประเทศ ท่ามกลางการแพร่ระบาดในจีนที่ชะลอตัวลงแต่การระบาดนอกประเทศจีนมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้น

- องค์การอนามัยโลกหรือ WHO เผยจำนวนผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 9 เท่า ภายในเวลา 24 ชั่วโมง จากวันอาทิตย์ถึงวันจันทร์

- คณะกรรมาธิการอียู กล่าวว่า หน่วยงานควบคุมโรคติดต่อมีการปรับเพิ่มสถานการณ์ความเสี่ยงสู่ระดับสูง ท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของไวรัสโคโรนา ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตของชาวยุโรปปรับขึ้นมาประมาณ 38 ราย อันเป็นผลจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว

- ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่ม 1 ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อในไทยล่าสุด 43 ราย

- นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า ทีมบริหารมีการตัดสินใจจะเลื่อนขยายมาตรการการเดินทางออกไปสำหรับการเดินทางไปยังอิตาลีและเกาหลีใต้ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก

- พบประชาชนในซีแอตเทิลของสหรัฐฯเสียชีวิตเพิ่มอย่างน้อย 6 ราย จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ท่ามกลางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯที่พยายามอย่างหนักที่จะควบคุมผู้ติดเชื้อและเพิ่มมาตรการตรวจหาผู้ติดเชื้อที่กำลังเพิ่มขึ้น

- ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพหลังจากที่พบหญิงสาว 1 รายติดเชื้อไวรัสโคโรนา และยังไม่มีการกล่าวใดๆถึงประกาศดังกล่าวจะกินเวลานานหรือสิ้นสุดอย่างไร

- Goldman Sachs คาดว่า เฟดและบรรดาธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกมีแนวโน้มจะใช้นโยบายปรับลดดอกเบี้ยกันเพื่อรับมือกับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา พร้อมคาดว่าเฟดน่าจะประกาศลดดอกเบี้ยลงมากถึง 0.5% ในการประชุมเดือนนี้ หากไม่ได้มีการประกาศใช้ก่อนหน้าใดๆ

นอกจากนี้ Goldman Sachs ยังเชื่อว่าน่าจะเห็นเฟดลดดอกเบี้ยมากถึง 1% ภายในปีนี้ จากคาดการณ์เดิมที่มองไว้ที่ 0.75% ในปีนี้

- เครื่องมือ FedWatch ของ CME Group ระบุว่า มีโอกาส 100% ที่จะเห็นเฟดลดดอกเบี้ยลง 0.5% ในการประชุมเดือนนี้ และการปรับลดดอกเบี้ยในเดือนเม.ย. ยังมีโอกาสสูงอยู่ที่ประมาณ 70%

- โพเวลล์-มนูชิน นำทีมจัดประชุม G-7 ฉุกเฉินเพื่อรับมือปัญหาไวรัส

บรรดาผู้นำทางการเงินและธนาคารกลางทั่วโลกจะร่วมกันจัดการประชุมผ่านทางโทรศัพท์ขึ้นเป็นการฉุกเฉินในวันอังคารนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดอย่างหนัก

การประชุมทางไกลครั้งนี้จะถูกนำโดยนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ และนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด ซึ่งจะจัดขึ้นภายในวันอังคารนี้ เวลาประมาณ 1 ทุ่ม ตามเวลาประเทศไทย (7 a.m ET) โดยมีบรรดาตัวแทนของประเทศกลุ่ม G7 เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เพื่อหาหนทางร่วมมือกันตอบรับกับไวรัสโคโรนาได้

- เมื่อวานนี้ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BoJ ระบุว่า ญี่ปุ่นจะทำทุกวิถีทางที่จำเป็นเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งดูเหมือนถ้อยแถลงดังกล่าวจะสอดคล้องและไปในทำนองเดียวกับถ้อยแถลงของประธานเฟดในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา

- ข้อมูลจาก Nielsen Data เผยว่า กลุ่มผู้บริโภคมีการกักตุนอาหารแห้งและวิตามินต่างๆ ท่ามกลางการติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้น

- CIO ด้านการลงทุนจาก Absolute Strategy กล่าวเตือนว่า วันหยุดช่วงซัมเมอร์มีแนวโน้มจะถูกงดไปในปีนี้เนื่องจากสถานการณ์ในเวลานี้นจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางใดๆในสภาวะการแพร่รระบาดของไวรัสโคโรนา และคาดความต้องการเดินทางท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศจะปรับตัวลดลงไป และหากภาวะนี้ยังคงยืดเยื้อก็อาจก่อให้เกิดเป็นวิกฤตที่กระทบอย่างหนักต่อภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมทั้งบ่อนทำลายภาคอุตสาหกรรมต่างๆให้ได้รับผลพวงไปตามๆกัน

- นายมิทช์ แมคคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากของวุฒิสภาสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาต้องการให้วุฒิสภาเห็นชอบและผ่านร่างงบประมาณสำหรับไวรัสโคโรนาภายในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ โดยคาดว่าทางสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายดังกล่าวเร็วที่สุดภายในวันพุธนี้

- ประธานอีซีบี พร้อมใช้มาตรการที่เหมาะสมกับปัญหาไวรัส

นางคริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบี กล่าวว่าทางอีซีบีพร้อมที่จะใช้มาตรการที่เหมาะสมและอย่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อรับมือกับผลกระทบของไวรัสโคโรนา ขณะที่ตลาดตอบรับกับถ้อยแถลงดังกล่าวว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงการออกนโยบายใหม่เหมือนกับทางเฟดและบีโอเจก่อนหน้านี้

ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกต่างเผชิญแรงกดดันจากตลาดให้พิจารณาออกนโยบายใหม่เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจที่กำลังได้รับความเสียหายจากการกีดกันการเดินทาง ปริมาณอุปสงค์ที่อ่อนแอ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และแรงเทขายอย่างหนักในตลาด

นอกจากนี้ นางลาการ์ดกล่าวว่าพร้อมที่จะออกนโยบายใหม่เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเสี่ยง โดยการระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นสถาการณ์ที่พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจและระบบของตลาดการเงิน

- นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษพร้อมรับมือกับความเป็นปได้ที่เศรษฐกิจจะเผชิญภาวะขาลงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะยังแข็งแกร่งก็ตาม

· OECD ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกจากเหตุไวรัสโคโรนา

การแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้นทั่วโลกดูจะทำให้เกิดภาวะขาลงที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเงินทั่วโลก ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลและธนาคารกลางต่างๆร่วมมือกันต่อสู้เพื่อไม่ให้อัตราการขยายตัวดิ่งลงอย่างหนัก

ทั้งนี้ OECD คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะโตได้เพียง 2.4% ในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2009 โดยลดลงจากคาดการณ์เดิมในเดือนพ.ย.ที่ 2.9% และในปี 2021 คาดจีดีพีโลกจะกลับมาฟื้นตัวได้แถว 3.3%

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงยืดเยื้อไปทั่วทั้งเอเชีย, ยุโรป และอเมริกาเหนือ ก็มีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจโลกปรับตัวลงต่ำกว่า 1.5% ได้ในปีนี้

ด้านเศรษฐกิจจีนมีโอกาสเป็นขาลงจึงคาดว่าจีดีพีจีนปีนี้จะโตได้แค่ 4.9% ซึ่งเป็นต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี จากคาดการณ์เดิมในเดือนพ.ย. ที่ระดับ 5.7% แต่ปี 2021 คาดว่าหลังผลกระทบจากไวรัสโคโรนาบรรเทาลงไปจีดีพีจีนน่าจะกลับมาโตได้ที่ 6.4%

สำหรับยูโรโซนคาดจะเห็นจีดีพีโตได้ 0.8% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่มองไว้ 1.1% โดยอิตาลีดูจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในปีนี้จากยอดผู้ติดเชื้อที่ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปีหน้าคาดจะเห็นจีดีพียูโรโซนปรับขึ้นมาที่ 1.2%

ในส่วนของสหรัฐฯคาดว่าจะเผชิญผลกระทบอย่างจำกัดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยคาดปีนี้จีดีพีสหรัฐฯจะโตได้ 1.9% ลดลดงจากคาดการณ์เดิมเล็กน้อยที่ 2.0% และปีหน้ายังคาดจะโตได้ที่ 2.1%

· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงทำระดับต่ำสุดรอบ 6 สัปดาห์เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ จากกระแสคาดการณ์ที่จะเห็นเฟดและบรรดาธนาคารกลางอื่นๆใช้นโยบายปรับลดดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับสถานการณ์เชิงลบจากไวรัสโคโรนา โดยที่ประธานอีซีบีก็ส่งสัญญาณปรับดอกเบี้ยจากระดับ -0.5% ในปัจจุบันหากจำเป็น

ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงไป 0.53% ที่ 97.448 จุด โดยช่วงต้นตลาดลงไปทำต่ำสุดตั้งแต่ 16 ม.ค. บริเวณ 97.176 จุด ขณะที่ยูโรปรับแข็งค่าขึ้นประมาณ 1.13%

ขณะที่ข้อมูลกิจกรรมภาคการผลิตของสหรัฐฯชะลอตัว จากอุปสรรคของห่วงโซ่อุปทานที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตไวรัสโคโรนา โดยสถาบัน ISM เผยดัชนี PMI ปรับตัวลงแตะ 50.1 จุดในเดือนก.พ. ลดลงจาก 50.9 จุดในเดือนก.พ.

· ดัชนีเงินเฟ้อของเกาหลีใต้เดือนก.พ. ปรับตัวลงท่ามกลางอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงจากไวรัสโคโรนาที่ฉุดให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และคาดว่าจำเป็นที่จะต้องเห็นธนาคารกลางเกาหลีใต้เลือกปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นภาคอุปโภคบริโภคและการเติบโต โดย CPI เกาหลีใต้ปรับขึ้นเพียง 1.1% ทางด้าน GDP มีการปรับตัวขึ้นจาก 1.2% สู่ระดับ 1.3% ในช่วงไตรมาสที่ 4/2019

· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับขึ้นกว่า 4% จากความหวังที่จะเห็นโอเปกปรับลดกำลังการผลิตเพิ่ม และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆเพื่อลดผลกระทบจากไวรัสโคโรนา โดยน้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 2.23 เหรียญ หรือ +4.5% ที่ระดับ 51.9 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งระหว่างวันมีการทำระดับต่ำสุดที่ 48.4 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นต่ำสุดตั้งแต่ ก.ค. 2017

น้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 1.99 เหรียญ หรือ +4.5% ที่ระดับ 46.75 เหรียญ/บาร์เรล โดยระหว่างวันทำต่ำสุดที่ 43.32 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นต่ำสุดตั้งแต่ธ.ค. 2018


 
บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com