· ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวหลังร่วงหนักตลอดสัปดาห์ที่แล้ว
รายงานจาก CNBC ระบุถึงการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยเป็นการรีบาวน์กลับหลังจากที่ปรับร่วงลงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นำโดยดัชนีดาวโจนส์ที่ปรับขึ้นได้เกือบ 1,300 จุด ซึ่งดาวโจนส์ปิดตลาด +5.1% หรือปรับขึ้น 1,293.96 จุด ที่ 26,703.32 จุด ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นรายวันที่มากที่สุดตั้งแต่มี.ค. ปี 2009 ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด +4.6% ถือเป็นการปรับขึ้นรายวันที่ดีที่สุดเช่นกันตั้งแต่ 26 ธ.ค. 2018 โดยปิดที่ระดับ 3,090.23 จุด และดัชนี Nasdaq ปิด +4.5% ที่ระดับ 8,952.16 จุด ซึ่งเป็นการปิดรายวันที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2018
ท่ามกลางตลาดที่ได้รับอานิสงส์จากคาดการณ์ที่ว่าเฟดและบรรดาธนาคารกลางต่างๆจะใช้นโยบายปรับลดดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ตัวเลขเศรษฐกิจจีนออกมาย่ำแย่ที่สุด
เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงเมื่อวานนี้ ตลาดได้ตอบรับกับการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนที่บ่งชี้ถึงผลกระทบของไวรัสโคโรนาได้อย่างชัดเจน
โดยในวันจันทร์ ผลสำรวจกิจกรรมทางอุตสาหกรรมของประเทศจีน หรือดัชนี PMI โดยองค์กรเอกชน Caixin/Markit ประกาศออกมาที่ระดับที่อ่อนแอที่สุดเป็นประวัติการณ์ ที่ระดับ 40.3 จุด สำหรับเดือน ก.พ. ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 45.7 จุด ซึ่งตัวเลขที่ต่ำกว่าระดับ 50 จุดบ่งชี้ภาวะถดถอยทางภาคอุตสาหรรมในประเทศ
ขณะที่ในวันเสาร์ ดัชนี PMI โดยภาครัฐของจีนประกาศออกมาร่วงลงสู่ระดับ 35.7 จุดในเดือน ก.พ. ลดลงอย่างหนักจากเดือน ม.ค. ที่ 50 จุด
ประธานสถาบัน Evercore ISI กล่าวว่าการปรับร่วงลงของดัชนีบ่งชี้ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโคโรนา แม้ผลกระทบดังกล่าวอาจจะยังไม่ชัดเจนและมีความเป็นไปได้ที่ตลาดอาจกังวลมากเกินไป แต่ก็ไม่ควรที่จะประมาท
ข้อมูลจากทางฝั่งสหรัฐฯก็ไม่ค่อยเท่าไหร่นัก โดยดัชนี ISM manufacturing index ประกาศออกมาลดลงสู่ระดับ 50.1 จุดในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของช่วงปลายปี 2019 ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 50.8 จุด
ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้นักลงทุนและองค์กรต่างๆทั่วโลกหันเข้าสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากกว่าหุ้นกันอย่างล้นหลาม ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับร่วงลงทำระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี ร่วงต่ำกว่าระดับ 1.04% เป็นครั้งแรก ล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่แถว 1.14%
· หุ้นเอเชียเช้านี้ปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากความคาดหวังที่จะเห็นธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกเดินหน้าผ่อนคลายทางการเงินเพื่อต่อสู้กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
ดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +2.37% ในขณะที่ดัชนี นิกเกอิเปิด +1.61% และ Topix เปิด +1.57%
ดัชนี S&P/ASX200 เปิด +1.8% และดัชนี MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นเปด +0.77%
อย่างไรก็ดี ในวันนี้ตลาดคาดหวังจะเห็นการตัดสินใจอขงธนาคารกลางออสเตรเลียในเรื่องดอกเบี้ย ขณะที่มาเลเซียดูจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ประกาศกำหนดให้มีการกล่าวแถลงนโยบายการเงินในวันนี้
· อ้างอิงจาก Bangkok Inside
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ป่วย COVID-19 วันนี้ (2 มี.ค.) ว่า มีผู้ป่วยหายกลับบ้าน เป็นหญิงไทยอายุ 43 ปีจากรพ.ราชวิถี ที่ติดหลังจากกลับจากญี่ปุ่น สถานะประเทศติดเชื้อ COVID-19 ของไทยอยู่ในอันดับที่ 14 และล่าสุด มีผู้ป่วยเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 22 ปี ทำงานร่วมกับผู้ป่วยรายที่ 37 ที่เป็นพนักงานขับรถให้นักท่องเที่ยว ซึ่งทั้ง 2 คน ทำงานด้วยกัน เท่ากับมีผู้ป่วยรักษาตัวในรพ. 11 ราย จากยอดผู้ป่วย 43 ราย
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า มองการเคลื่อนไหวในกรอบ 31.30 - 31.55 บาท/ ดอลลาร์
- นายกรัฐมนตรี เตรียมประกาศมาตรการลดผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รวมถึงเรื่องของภัยแล้งในช่วงต้นสัปดาห์นี้
-ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนก.พ.63 อยู่ที่ระดับ 44.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 48.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 54 เป็นการลดลงทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต
- คณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลกรายการโมโตจีพี ประจำปี 2562-2563 (2 ปี) มีมติให้เลื่อนการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี ในวันที่ 20-22 มี.ค.นี้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ออกไปก่อน
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปี 63 เริ่มเร็ว รุนแรง และมีแนวโน้มที่จะยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา โดยในช่วงปลายปี 62 ระดับน้ำเก็บกักของน้ำในเขื่อนหลายภูมิภาคเริ่มลดลงก่อนที่จะผ่านพ้นช่วงฤดูฝน สะท้อนว่าประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งเร็วกว่าปกติ โดยข้อมูลจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงเดือนก.ย.62 - ก.พ.63 ว่ามีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายรวม 1,624,501 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1,442,674 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 89% ของพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายโดยรวม ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ 180,684 ไร่ และพื้นที่เพาะปลูกพืชสวนและอื่นๆ อีก 1,143 ไร่