· ตลาดหุ้นสหรํฐฯปิดปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางตลาดที่ตอบรับกับการที่นายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯสามารถกวาดคะแนนเสียงใน Super Tuesday มาได้ จึงทำให้ดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้น 1,173.45 จุด หรือ +4.5% ที่ 27,090.86 จุด ด้านดัชนี S&P500 ปิด +4.2% ที่ 3,130.12 จุด และ Nasdaq ปิด +3.8% ที่ 9,018.09 จุด
ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นได้เป็นครั้งที่ 2 และเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วันที่ดาวโจนส์แกว่งขึ้นกว่า 1,000 จุด


นายโจ ไบเดน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในแถบ นอร์ธโคโรไลนา, เท็กซัส และอาร์คันซอ จึงทำให้เค้ามีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯปีนี้
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังตอบรับกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อันได้แก่ การจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯที่ออกมาดีขึ้นกว่าที่คาดแตะระดับ 183,000 ตำแหน่ในเดือนก.พ. ประกอบกับสภาล่างผ่านร่างกฎหมายงบประมาณฉุกเฉินกว่า 8 พันล้านเหรียญเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนา
ประธานและผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนจาก Yardeni Research กล่าวว่า กลุ่มนักลงทุนชื่นชอบนายไบเดน มากกว่านายเบอร์นีย์ เนื่องจากนโยบายของนายเบอร์นีย์ต้องการเพิ่มภาษีคนรวย และมีแนวคิดสังคมนิยม ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากนโยบายรูปแบบอิสระแบบ Trump Freedom
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นจากการที่ธนาคารกลางต่างๆมีแนวโน้มจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเช่นเดียวกับเฟด โดยดัชนีด Stoxx600 ปิด +1%
· ตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้เปิดปรับตัวสูงขึ้นตามดัชนีดาวโจนส์ที่ปิดพุ่งกว่า 1,000 จุด ประกอบกับตลาดตอบรับกับการที่ไอเอ็มเอฟอัดฉีดเงินช่วยเหลือเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนาอีก 5 หมื่นล้านเหรียญ
ดัชนีนิกเกอิเปิด +0.86% และดัชนี Topix เปิด +0.67% ทางด้าน Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +0.32% ในส่วนของ S&P/ASX200 ปิด +1.5% และดัชนี MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นเปิด +0.26%
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
-นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.30 - 31.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตาดูทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก และ สถานการณ์ไวรัสโควิด-19
-รัฐบาลวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศเกาหลีใต้ โดยผู้ที่มาจากเมืองแทกู และเมืองคยองซัง จะคัดกรองอย่างเข้มข้นและกักตัวในพื้นที่ควบคุม 14 วัน ส่วนผู้ที่มาจากเมืองอื่นจะส่งไปกักตัวตามภูมิลำเนา 14 วันเช่นกัน
- นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เผยเตรียมเสนอชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและและเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา ชุดที่ 1 คาดว่าจะมีวงเงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในวันศุกร์นี้ (6 มี.ค.) โดยมีมาตรการสำคัญ คือ การแจกเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย, มนุษย์เงินเดือน, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกร โดยอยู่ระหว่างพิจารณาวงเงินที่เหมาะสมระหว่าง 1,000-2,000 บาท และจะแจกครั้งเดียวหรือทยอยเป็นรายเดือน เนื่องจากต้องการให้มีผลทันทีในช่วง 3-4 เดือนนี้
- ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 63 มาที่ 1.5-2.0% จากเดิมที่คาดไว้เมื่อเดือน ก.พ.63 ที่ 2.0-2.5% ขณะที่ยังคงประมาณการส่งออกและเงินเฟ้อไว้ตามเดิม จากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ขยายเป็นวงกว้างทั้งต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานโดยฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรม
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าแนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทย และผลกระทบที่มากขึ้นตามระยะเวลาการระบาดของโควิด-19 ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของไทย (จากปัจจุบันที่ 1%) ลงอย่างน้อย 0.25% ในรอบการประชุมวันที่ 25 มี.ค.63
- นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเตรียมปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 63 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ระดับ 2.7% เนื่องจากมีแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีน เช่น อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส รุนแรงเกินกว่าคาด โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจน่าจะเติบโตต่ำกว่า 2% ขณะที่การส่งออกจะหดตัวมากกว่าเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 1%