· ดัชนีหุ้นสหรัฐฯฟิวเจอร์ปรับตัวขึ้นได้ในเช้าวันนี้ หลังจากที่ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงรายวันแย่ที่สุดนับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตทางการเงิน นำโดยดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์วันนี้ปรับขึ้นไป 669 จุด โดยภาพรวมปรับขึ้นได้มากกว่า 710 จุดในช่วงเปิดตลาดวันนี้ ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq-100 ฟิวเจอร์ส ต่างก็เปิดปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน หลังจากที่วันก่อนดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์สปรับตัวลงไปกว่า 400 จุด
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯได้รับแรงหนุนหลังจากที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแผนที่จะทำการผ่อนปรนหรือปรับลดดอกเบี้ยเพื่อชดเชยผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยแผนดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่นายทรัมป์ตัดสินใจลงนามกฎหมายงบประมาณวงเงิน 8.3 พันล้านเหรียญเมื่อเดือนที่แล้ว
ทั้งนี้ ตลาดยังเผชิญกับความผันผวนค่อนข้างมาก ดังนั้น ก็ยังมีโอกาสสูงที่จะเห็นดัชนีลดความร้อนแรงในการฟื้นตัวระยะสั้นๆได้ และเราค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่ลุกลามไปทั่วโลก รวมทั้งอุปสงค์ที่จะชะลอตัวลง โดยเฉพาะในตลาดน้ำมันที่มีการปรับตัวลงมาควบคู่ไป ซึ่งสัญญาณเหล่านี้สะท้อนถึงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลก และทั้งหมดนี้ก็ดูเป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นปรับตัวลงไม่เพียงแค่ในสหรัฐฯแต่ยังรวมถึงหุ้นประเทศอื่นๆด้วย
สำหรับภาพระยะยาว มีแนวโน้มที่ดัชนีจะหลุดแนวรับ 2,500 จุดลงมาได้ โดยหากทดสอบระดับดังกล่าวและมีการปรับขึ้นได้ ก็ดูจะเป็นโอกาสดีที่จะเข้าช้อนซื้อ แต่ภาพทางเทคนิคก็ดูเหมือนดัชนีจะพยายามทำ Bearish Flag
อย่างไรก็ดี ตลาดก็ยังมีสภาวะ Short Covering อยู่ ที่อาจทำให้ภาพระยะสั้นมีการรีบาวน์ได้ แต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นขาขึ้นได้จนกว่าจะมีความชัดเจนของทิศทางขาขึ้นที่มากกว่านี้
· ตลาดหุ้นเอเชียรีบาวน์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการคาดการณ์เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลางโลกและรัฐบาลต่างๆ
โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ที่ร่วงลงมากกว่า 2 เท่า 0.70% และราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 7% จึงช่วยชดเชยความหวังในตลาด แม้จะเป็นเพียงชั่วคราวก็ตาม
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นเกือบ 1% หลังจากร่วงลงไปมากกว่า 5% เมื่อวานนี้ ด้านหุ้นออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 0.9% เนื่องจากนักลงทุนที่เข้าซื้อมเื่อราคาอ่อนตัว ด้านดัชนี Nikkei ลดลง 0.3% แต่อยู่ทรงตัวเหนือระดับต่ำในช่วงแรก
· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่นายซินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า
รัฐบาลของเขาจะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับธนาคารกลางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยนายอาเบะ กล่าวว่า ตลาดกำลังเคลื่อนไหวอย่างผีนผวนท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
ถ้อยแถลงของเขาสร้างแรงกดดันต่อบีโอเจให้ดำเนินการตามคำมั่นสัญญาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อสนับสนุนตลาด
ทั้งนี้ ดัชนี Nikkei รีบาวน์ 1.07% หลังจากร่วงลงไปในช่วงก่อนหน้านี้ ด้านดัชนี Topix เพิ่มขึ้น 1.65% ทั้ง 2 ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นได้ หลังจากที่ร่วงลงไปมากกว่า 3% ในช่วงก่อนหน้า
· ตลาดหุ้นจีนปรับตัวสูงขึ้น เนื่อวจากจำนวนผู้ติดเชื้อจากการระบาดของไวรัสโคโรนารายใหม่ในจีนปรับลดลง รวมทั้งการที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เข้าเยี่ยมเมืองอู่ฮั่นจึงช่วยหนุนความเชื่อมั่นให้กับเหล่านักลงทุนในตลาด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาอ่อนแอช่วยเพิ่มความคาดหวังว่าจีนจะออกนโยบายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยดัชนี Shanghai Composite เพิ่มขึ้น 1.82% ที่ระดับ 2,996.76 จุด หลังจากที่ผันผวนในแดนลบและแดนบวกในช่วงก่อนหน้านี้ แม้ดัชนีจะปรับตัวสูงขึ้นได้ แต่ดัชนียังลงปรับตัวลดลงมากกว่า 2.5% จากระดับสูงสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
· ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวสูงขึ้น หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2008 ที่ผ่านมาในช่วงการซื้อขายก่อนหน้า โดยดัชนี Stoxx600 เพิ่มขึ้น 1.3% ด้านหุ้นน้ำมันและก๊าซ ฟื้นตัว 3.4% ท่ามกลางตลาดภูมิภาคที่เคลื่อนไหวในแดนบวก
อ้างอิงจากสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
- SET ร่วงกระจุย 108 จุด กังวลสงครามราคาน้ำมัน พบ PTT-PTTEP-PTTGC กดดัชนีกว่า 41 จุด ทำมาร์เก็ตแคปทั้งเครือหายวับ 4.73 แสนลบ. ฟาก "ภากร" ปัด ไม่เกี่ยวบล็อกเทรด-ชอร์ตเซล โบรกฯ หวั่นหากยืดเยื้ออาจกด SET ลงลึกถึง 1,150 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดการซื้อขายวันที่ 9 มี.ค.63 ที่ระดับ 1,255.94 จุด ลดลง 108.63 จุด หรือ -7.96 % มูลค่าการซื้อขาย 1.03 แสนล้านบาท สัดส่วนการลงทุนรายกลุ่ม นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 1.27 หมื่นลบ. บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 957.57 พันลบ. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3.99 พันลบ. นักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 1.57 หมื่นลบ.
ด้านหุ้นที่กดดันดัชนี 3 อันดับได้แก่ PTT ปิดที่ระดับ 28 บาท ลดลง 9.50 บาท หรือ -25.33% มูลค่าการซื้อขาย 1.86 หมื่นลบ. กดดันดัชนี 25.22 จุด PTTEP ปิดที่ระดับ 74.75 บาท ลดลง 31.75 บาท หรือ -29.81 % (ฟลอร์) มูลค่าการซื้อขาย 1.22 หมื่นลบ. กดดันดัชนี 11.71 จุด และ PTTGC ปิดที่ระดับ 31 บาท ลดลง 11.25 บาท หรือ -26.63% กดดันดัชนี 4.71 จุด
- บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับลดลงอย่างหนัก เป็นผลการประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่ออกมาผิดคาดอย่างมาก โดยที่ รัสเซียปฎิเสธข้อเสนอการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ ซาอุดิอาระเบียประกาศเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากปัจจุบัน 9.9 ล้านบาร์เรล/วัน เป็น 12 ล้านบาร์เรล/วัน พร้อมปรับลดค่า OSP Premium น้ำมันดิบทุกประเภท
การเจรจาในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันที่ล้มเหลวดังกล่าว จะส่งผลทำให้สถาวะ Over Supply ดูรุนแรงมากยิ่งขึ้นสงผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงรุนแรง และคาดว่าจะยืนในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง กดดันธุรกิจน้ำมัน โรงกลั่น รวมไปถึงปิโตรเคมี ซึ่งเป็นหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปสูงสุดในตลาดหุ้นไทย
- นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงมามากกว่า 100 จุด เป็นไปตามหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงแรงมากกว่า 15% จากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวลดลงจากระดับ 50 เหรียญ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 30 เหรียญ/บาร์เรล ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และ ตลาดหุ้นทั่วโลก
อ้างอิงจากกรุงเทพธุรกิจ
- กระทรวงสาธารณสุขแถลงสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากต่างประเทศในประเทศไทย ประจำวันที่ 10 มีนาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3 คน รวม 53 คน โดยรายที่ 51 เป็นหญิงไทยอายุ 41 ปี ใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายที่ 45 ส่วนรายที่ 52 และ 53 เป็นสามีภรรยากัน สามีอายุ 47 ปี ส่วนภรรยาอายุ 46 ปี กลับจากอิตาลี ขณะที่ตอนนี้อยู่โรงพยาบาล 19 คน รักษาหายกลับบ้านแล้ว 33 คน