· ดัชนีดาวโจนส์เผชิญแรงเทขายเข้ากดดันทำ New Low เมื่อคืนนี้ จากความไม่แน่นอนและการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่อวิธีการรับมือเพื่อจำกัดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
ดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลง 1,464.94 จุด หรือ -5.9% ที่ระดับ 23,553.22 จุด ภาพรวมปรับตัวลงมาแล้วกว่า 20% เมื่อเทียบกับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้ในเดือนที่แล้ว และทำให้ภาพรวมตลาดดูจะขยายตัวในทิศทางขาลงมากที่สุดตั้งแต่เริ่มปี 2009 หรือในช่วงวิกฤตทางการเงิน
ดัชนี S&P500 ปิด -4.9% ที่ 2,741.38 จุด และเข้าสู่ภาวะตลาดหมีเช่นกัน ในขณะที่ Nasdaq Composite ปิด -4.7% ที่ 7,952.05 จุด หรือทั้งคู่ร่วงลงจาก All-Time High ที่ทำไว้มาแล้วประมาณ 19%
· CME ประกาศปิดห้องค้าหลักทรัพย์ในชิคาโก เนื่องจากไวรัสโคโรนา
CME Group มีประกาศออกมาเมื่อคืนนี้ว่าพวกเขาจะปิดห้องค้าหลักทรัพย์ (Trading Floor) ในรัฐชิคาโก หลังสิ้นสุดการซื้อขายวันศุกร์นี้ เพื่อป้องกันการรวมตัวกันกลุ่มใหญ่ของผู้คน และลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
ทั้งนี้ ทาง CME ระบุว่าจะจับตาสถานการณ์และประเมินความเสี่ยงของโคโรนาไวรัสก่อน ถึงจะประกาศวันเปิดห้องค้าอีกครั้ง
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงในวันนี้ ท่ามกลางนักลงทุนที่เฝ้าจับตาใกล้ชิดต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยดัชนี Stoxx600 ปิด -0.7% ขณะที่บีโออีเมื่อวานประกาศลดดอกเบี้ยจาก 0.75% ลงสู่ระดับ 0.25% พร้อมกันนี้อังกฤษยังมีการประกาศงบประมาณอัดฉีดระยะสั้นเพื่อช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง
โดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่ของอังกฤษ ประกาศมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินมูลค่า 3 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 3.9 หมื่นล้านเหรียญ อันประกอบไปด้วยการปรับลดภาษี, การช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่ภาคธุรกิจรายย่อย ซึ่งถือเป็นความพยายามร่วมกันระหว่างธนาคารกลางและภาครัฐบาล
· หุ้นเอเชียเปิดปรับตัวลงในวันนี้ตามตลาดหุ้นดาวโจนส์ หลังองค์การอนามัยโลกประกาศว่าไวรัสโคโรนาเป็นการระบาดทั่วโลก โดยดัชนีนิกเกอิเปิด -1.74% และดัชนี Topix เปิด -1.78% ขณะที่ Kospi เปิด -0.84%
ดัชนี S&P/ASX200 เปิด -2.64% ขณะที่ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นเปิด -0.62%
สำหรับเช้านี้กลุ่มนักลงทุนให้ความสนใจกับถ้อยแถลงของนายทรัมป์ ที่จะเปิดเผยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ และข้อตกลงรายละเอียดของไวรัสโคโรนา
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวันนี้ อยู่ระหว่าง 31.40 - 31.50 บาท/ดอลลาร์
- ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของไทยปีนี้จะหายไปราว 2.78 แสนล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในกรุงเทพฯ จะลดลงประมาณ 3 ล้านคน ภูเก็ตและเชียงใหม่จะลดลงกว่า 1 ล้านคน โดยรายได้ของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ จะได้รับผลกระทบเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ส่วนด้านการส่งออก คาดว่าจะหดตัว 1.9% โดยผลกระทบต่อการส่งออกคาดว่าจะสั้นกว่าผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว
- ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินผลกระทบต่อภาคการค้าไทย-จีนจากการที่รัฐบาลจีนใช้มาตรการเข้มงวดชัตดาวน์ประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดจะทำให้ครึ่งปีแรกของปี 2563 มูลค่าการค้าไทยไปจีนลดลงราว 2.4 แสนล้านบาท หรือหดตัว 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 1.6% ของมูลค่าการค้ารวม และประเมินว่าสถานการณ์การค้าไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวได้ประมาณครึ่งปีหลัง ตามการคาดการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง
- ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน มี.ค.63 อยู่ที่ 67.50 จุด เพิ่มขึ้น 3.94 จุด หรือ 6.2% จากระดับ 63.56 จุดในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรง, ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้มีมติอนุมัติ 14 มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่เรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่ลุกลามมายังระบบเศรษฐกิจด้วยซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมจะมีมาตรการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น