· สถานการณ์ไวรัสโคโรนา
- จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 218,768 ราย
- จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 8,944 ราย
- จำนวนประเทศติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 173 ประเทศ (+8)
- จำนวนผู้ติดเชื้อในอิตาลีเพิ่มขึ้นอีก 4,207 ราย สู่ระดับ 35,713 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 475 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น 2,978 ราย
- จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นต่อเนื่องล่าสุดเพิ่มมา 2,858 ราย รวมอยู่ที่ 9,269 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแตะ 151 ราย จาก 109 รายวานนี้
- จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยล่าสุดอยู่ที่ 212 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย
- คณะนักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของจีนซึ่งอยู่ในสังกัดของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ได้รับอนุมัติให้เริ่มการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ทางคลินิกขั้นแรกซึ่งจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์นี้
ท่ามกลางทีมนักวิทยาศาสตร์ของจีนที่กำลังเร่งพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโคโรนา พร้อมคาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นการดำเนินการก่อนขั้นการทดลองทางคลินิคในเดือนเม.ย. และบางทีมก็ดำเนินการเร็วกว่านั้น โดยบางทีมได้เริ่มลงทะเบียนรับอาสาสมัคร และยื่นเรื่องขอการอนุมัติทำการทดลองทางคลินิคกับทางสำนักงานผลิตภัณฑ์ยาแห่งชาติ (เอ็นเอ็มพีเอ)
- สหรัฐฯทดสอบวัคซีน COVID-19 กับอาสาสมัครชุดแรก
สถาบันวิจัยด้านสุขภาพ Kaiser Permanente Washington Health Research Institute ในรัฐซีแอตเทิลของสหรัฐฯ เริ่มทดลองใช้วัคซีน COVID-19 กับอาสาสมัครชุดแรกจำนวน 3 ราย ซึ่งได้แก่ เจนนิเฟอร์ ฮอลเลอร์, นีล บราวนิง, และ รีเบคก้า ไซรูล
โดยอาสาสมัครทั้ง 3 มีสุขภาพแข็งแรงและอายุน้อย จึงมีความเสี่ยงที่จะเจอภาวะแทรกซ้อนต่ำ ขณะที่ทางสถาบันจะติดตามและสังเกตุอาการของอาสาสมัครเป็นเวลา 28 วัน ก่อนจะพิจารณาให้วัคซีนชุดต่อไปเพื่อทำให้แน่ใจได้ว่าวัคซีนมีความปลอดภัย
นอกจากสหรัฐฯแล้ว บรรดานักวิจัยในอังกฤษก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อคล้ายกับ COVID-19 ในอนาคต
โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Plymouth (University of Plymouth) มีความคืบหน้ากับการพัฒนาวัคซีนที่จะป้องกันการติดต่อของโรคจากสัตว์สู่คน
อย่างไรก็ตาม วัคซีนป้องกัน COVID-19 ถูกคาดว่าจะยังไม่ออกสู่สาธารณะภายใน 12 – 18 เดือนข้างหน้า โดยที่รายงานจากวิทยาลัย Imperial College ในกรุงลอนดอน ได้แนะนำให้ใช้มาตรการป้องกันการติดต่อของโรคระบาดเบื้องต้นไปก่อน จนกว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ
- เมื่อคืนนี้วุฒิสภาสหรัฐฯขยายร่างการจ่ายเงินและสิทธิประโยชน์ให้แก่คนว่างงานด้วยมติ 90-8 เสียง ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา ขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ มองว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจขนาดเล็กได้
ทางด้านภัตตาคารและร้านอาหารต่างๆ เรียกร้องให้ทางทำเนียบขาว และผู้นำทุกฝ่ายเยียวยาด้วยวงเงิน 4.55 แสนล้านเหรียญเพื่อช่วยเหลือพวกเขาจากวิกฤตไวรัสโคโรนา เนื่องจากรายไตรมาสคาดจะสูญเสียยอดขายและภาคอุตสาหกรรมอาจมีการลดกำลังคนลงกว่าครึ่งจากตำแหน่งงานที่ 15.6 ล้านคน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์ก The New York Stock Exchange (NYSE) ประกาศเทรดแบบอิเล็คทรอนิกเต็มรูปแบบชั่วคราว โดยจะเริ่มต้นในวันจันทร์หน้า หลังมีรายงานเจ้าหน้าที่ของตลาด 1 คน และเทรดเดอร์อีก 1 คน ติดเชื้อ COVID-19
โดยทางตลาดรายงานว่าผู้ติดเชื้อได้ทำงานในตลาดเป็นวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตลาดจะทำการปิดห้องค้าหลักทรัพย์ในเมืองนิวยอร์กและในเมืองซานฟรานซิสโก ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลของตลาดจะดำเนินงานต่อไป
- อังกฤษมีคำสั่งปิดโรงเรียนในช่วงที่วิกฤตไวรัสโคโรนาดูจะย่ำแย่ขึ้น และทำให้ประชาชนตื่นตระหนกเข้ากักตุนสินค้าและอาหารอย่างหนัก จนทำให้เงินปอนด์กลับมาอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบกว่า 3 ทศวรรษ หรือทำต่ำสุดตั้งแต่มี.ค.ปี 1985 ขณะที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษถูกวิจารณ์อย่างหนักที่ดำเนินการล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในแถบยุโรป ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี, สเปน และฝรั่งเศส
ทั้งนี้ ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจขอังอังกฤษก็ไม่สามารถช่วยลดความกังวลของตลาดไปได้ และโดยภาพรวมตลาดหุ้นอังกฤษปรับตัวลดลงไปแล้ว 8 ใน 10 วัน และกลุ่มบริษัทสัญชาติอังกฤษก็ต่างออกมากล่าวเตือนว่าการระบาดของไวรัสเวลานี้จะกระทบต่อผลประกอบการ
- อียิปต์หวั่นการระบาดของไวรัสจะเป็นภัยคุกคามใหม่ต่อเศรษฐกิจ ที่สร้างแรงกดดันต่อภาคการท่องเที่ยว การค้า และการส่งออกแก๊ส รวมไปถึงการปรับตัวลงของการลงทุนในภาคเอกชน
- ด้านนักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs และ JPMorgan กล่าวเตือนว่าเศรษฐกิจบราซิลมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ ท่ามกลางการระบาดของไวรัส และการปรับตัวลงของอุปสงค์ต่างๆ ทั้งการลงทุนและการค้า โดย Goldman Sachs หั่นจีดีพีบราซิลลงสู่ระดับ -0.9% จาก 1.5% และ JPMorgan คาดจะเติบโตได้ประมาณ 1% ซึ่งลดลงจากกรอบที่ 2 ธนาคารกลางรายใหญ่มองไว้ที่ 2-2.5% ในช่วงต้นปี
- นักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sacsh คาดว่าเศรษฐกิจในแถบละตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นบราซิลและเม็กซิโก มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแน่นอนในปีนี้ เนื่องจากการระบาดของไวรัสจะคุกคามต่อเศรษฐกิจ, การค้า และการเงิน โดยในส่วนของเม็กซิโกคาดจีดีพีปีนี้จะปรับลงและ -1.6% จาก 0.6% และภาพรวมจีดีพีของละตินอเมริกาจะหดตัวลงมาที่ 1.2% ในปีนี้
- นักเศรษฐศาสตร์จาก JPMorgan คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯก็หนีไม่พ้นวิกฤตนี้ โดยจีดีพีคาดจะหดตัวลง 14% ในไตรมาสที่ 2/2020 และอาจทำให้เราเห็นการปรับตัวลงมากกว่าช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2008 ที่ถือเป็นความเลวร้ายที่สุดในภาวะถดถอยอย่างหนัก ที่ตอนนั้นจีดีพีของสหรัฐฯหดตัวไปกว่ 8.4%
และจากผลพวงนี้ ทำให้ทางสถาบันคาดเฟดน่าจะค้นหาวิธีการสนับสนุนที่สร้างสรรค์และหลากหลายต่อเศรษฐกิจ ท่ามกลางทีมบริหารของนายทรัมป์ที่และสภาคองเกรสที่พยายามอัดฉีดเม็ดเงิน 1 ล้านล้านเหรียญเพื่อเป็นการสนับสนุน
อย่างไรก็ดี ในเวลานี้ทาง JPMorgan ได้ประกาศปิดสาขากว่า 1,000 แห่งหรือประมาณ 20% เป็นการชั่วคราว เพื่อปกป้องพนักงานและลดการระบาดของไวรัสโคโรนา แต่ภาพรวมยังคงมีสาขาอีกกว่า 4,000 แห่งที่ยังคงเปิดให้บริการตามปกติแต่มีการลดเวลาทำการลง
- นายกรัฐมนตรีแคนาดาประกาศจะทำการอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 1.86 หมื่นล้านเหรียญเพื่อสนับสนุนภาคครัวเรือนและธุรกิจโดยตรงเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา
- ทรัมป์-ทรูโด ตกลงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าให้แน่นแฟ้น
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายจัสจิน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ตกลงที่จะรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศและผลักดันให้การไหลเวียนของสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด แม้คำสั่งกีดกันการเดินทางเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสจะยังมีผลบังคับใช้อยู่ก็ตาม
โดยรายงานจากทำเนียบขาวระบุว่าทั้งสองผู้นำมีการเจรจาเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนา การรักษาความร่วมมือกัน รวมถึงมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ยกเว้นการเดินทางที่มีความสำคัญเท่านั้น
ซึ่งทั้งสองผู้นำเล็งเห็นถึงความสำคัญของกระแสการไหลเวียนของสินค้า และตกลงที่จะรักษาให้กระแสดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด แม้จะมีมาตรการจำกัดการเดินทางอยู่ก็ตาม
- อียูอ้าง รัสเซียปล่อยข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัสเพื่อสร้างความแตกตื่นในฝั่งตะวันตก
รายงานจาก Reuters ที่อ้างอิงเอกสารของอียูระบุว่า รัฐบาลรัสเซียมีการปล่อยข่าวที่ให้ข้อมูลเป็นเท็จเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาเพื่อพยายามสร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนของประเทศฝั่งตะวันตก ขณะที่ทางรัฐบาลรัสเซียได้ออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง
· อีซีบีประกาศอัดฉีด QE เพิ่ม 7.5 แสนล้านยูโรเป็นการฉุกเฉินเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนา
ล่าสุดในการจัดประชุมฉุกเฉินของทางอีซีบีมีการประกาศจะทำการเข้าซื้อพันธบัตรด้วยวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร หรือ 8.2 แสนล้านเหรียญ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและลดวิกฤตทางการเงิน โดยที่การเข้าซื้อดังกล่าวจะมีต่อไปจนกว่าวิกฤตของการระบาดในครั้งนี้จะจบลง
· ค่าเงินยูโรในวันนี้ปรับแข็งค่าขึ้นอีกครั้งเมื่อเทียบกับดอลลาร์และปอนด์ หลังอีซีบีประกาศเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเพื่อต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยคาดว่าอาจมีการเข้าซื้อจนถึงสิ้นปี 2020 นี้ โดยค่าเงินยูโรปรับแข็งค่าขึ้น 0.26% ที่ 1.0947 ดอลลาร์/ยูโรในตลาดเอเชีย
ดัชนีดอลลาร์หลังจากที่เมื่อวานอยู่ต่ำกว่า 100 จุด วันนี้ก็สามารถปรับแข็งค่าขึ้นมาแตะ 101.16 จุด ทางด้านค่าเงินเยนปรับอ่อนค่าขึ้นแตะ 108.39 เยน/ดอลลาร์ หลังจากที่แข็งค่าต่ำกว่า 106 เยน/ดอลลาร์ในช่วงต้นสัปดาห์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี ปรับขึ้นแตะ 1.21% หลังจากที่เคลื่อนไหวแถว 0.77% ในช่วงระหว่างวัน
· อังกฤษและอียูมีการแลกเปลี่ยนข้อตกลงการควบคุมการค้าระหว่างสองประเทศเพื่อให้แต่ละฝ่ายดูในเบื้องต้น หลังจากที่การเปลี่ยนผ่านของ Brexit จะจบลงในวันที่ 31 ธ.ค.
· น้ำมันดิบร่วงลงทำต่ำสุดกว่า 18 ปี ท่ามกลางสภาวะ Lockdown กดดันตลาด
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเมื่อวานนี้ WTI ปรับตัวลงทำต่ำสุดรอบ 18 ปี ท่ามกลางรัฐบาลต่างๆทั่วโลกมีการประกาศปิดประเทศเพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยน้ำมันดิบ WTI ปิดร่วงลง 6.58 เหรียญ หรือ -24.4% ที่ 20.37 เหรียญ/บาร์เรล และภาพรวมปรับตัวลงมาแล้ว 56% ในช่วงเวลา 10 วันทำการ
น้ำมันดิบ Brent ปรับลง 3.85 เหรีญญ หรือ -13.4% ที่ระดับ 24.88 เหรียญ โดยระหว่างวันทรุดตัวทำต่ำสุดที่ 24.52 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นต่ำสุดตั้งแต่ปี 2003
ทั้งนี้ ตลาดน้ำมันเผชิญอุปสรรคจากการประกาศปิดสถานศึกษา, ภาคธุรกิจ และการปิดประเทศเพื่อจำกัดการรวมตัวกัน จึงทำให้เราเห็นราคาน้ำมันดิบหดตัวลงมากที่สุดตั้งแต่ปี 1983
Goldman Sachs คาดว่าอุปสงค์น้ำมันในช่วงสิ้นเดือนมี.ค.นี้อาจร่วงลงมาก 8-9 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่นำมันดิบ Brent อาจทำ Low สุดที่ 20 เหรียญ/บาร์เรลได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ ท่ามกลางอุปสงค์น้ำมันที่ลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล/วัน หรือ -2.8% ในปีนี้