· ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 11% ทำระดับวันแข็งแกร่งที่สุดตั้งแต่ปี 1933
ดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับตัวขึ้นทำรายวันที่ดีที่สุดตั้งแต่ปี 1933 หลังจากที่บรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐฯ ระบุถึงการเข้าใกล้ข้อตกลงเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโคโรนา หลังจากที่เฟดได้ทำการอัดฉีดครั้งใหญ่หลังจากที่ตลาดเผชิญแรงเทขายอย่างหนักตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตทางการเงิน ท่ามกลางภาคธุรกิจและประเทศที่เข้าสู่สภาวะ Shut Down
ดัชนีดาวโจนส์ปิด +11.37% ที่ระดับ 20,704.91 จุด ขณะที่ S&P500 ปิด +9.38% ที่ระดับ 2,447.33 จุด ทางด้าน Nasdaq ปิด +8.12% ที่ 7,417.86 จุด
เจ้าหน้าที่อาวุโสของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ต่างเผยถึงการเข้าใกล้ข้อตกลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่ชาวอเมริกาและภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ นักลงทุนยังตอบรับกับถ้อยแถลงของนายทรัมป์ ที่จะอนุญาตให้ภาคธุรกิจต่างๆกลับมาเปิดทำการในสัปดาห์หน้า หลังเผชิญภาวะ Shutdown เป็นเวลา 15 วัน
ข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯวานนี้ปรับตัวทำต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมี.ค. จึงยิ่งตอกย้ำมุมมองของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มองว่าเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่เหล่าเทรดเดอร์ยังกังวลต่อความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโคโรนา
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากเฟดในวันก่อนหน้า ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในอิตาลีชะลอตัวลงเป็นวันที่ 2 โดยดัชนี Stoxx600 ปิด +7.5% ทางด้านหุ้นกลุ่มประกันพุ่งขึ้น 14.2% และหุ้นกลุ่มหลักอื่นๆก็ดูจะเคลื่อนไหวในทิศทางเชิงบวกมากขึ้น
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันในเช้านี้ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ และกลุ่มนักลงทุนที่รอการประกาศข่าวดีจากสหรัฐฯ สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2 ล้านล้านเหรียญ โดยดัชนีนิกเกอิเปิด +5.03% โดยหุ้นกลุ่ม Fast Retailingเปิด +5.41% และ Topix เปิด +4.45%
สำหรับดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +3.87% โดยหุ้น Kosdaq เปิด +3.43% ในขณะที่ดัชนี S&P/ASX200 เปิด +4.08% ทางด้านดัชนี MSCI ที่ไม่รวมหุ้นญี่ปุ่นเปิด +1.21%
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.70 - 33.00 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยที่นักลงทุนจับตา คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากการประชุมนัดพิเศษ นอกจากนี้ยัง มีปัจจัยเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และความคืบหน้าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- กระทรวงสาธารณสุข แถลงเมื่อวานนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 4 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีเพิ่มขึ้น 106 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในไทยเพิ่มเป็น 827 ราย กลับบ้านได้แล้ว 57 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 766 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 4 ราย
- ครม.อนุมัติในหลักการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวันที่ 26 มี.ค.นี้ โดยจะมีการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการและคำสั่งต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายดังกล่าวที่จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) ได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมตราสารจากทุกกองทุนที่เป็นกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund: MMF) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily Fixed Income Fund: DailyFI) ด้วย ซึ่งแนวทางการให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องจะให้ผ่านสถาบันการเงินใน 2 รูปแบบ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลบร้อยละ 0.5 ต่อปี
- รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลสำรวจภาวะตลาดแรงงานไทยและแนวโน้มจากความเห็นของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในช่วงเดือน ก.พ.-17 มี.ค.63 พบว่าแรงงานในเกือบทุกภูมิภาคได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เห็นสัญญาณความเปราะบางกระจายไปยังสาขาบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยมีการทยอยหยุดกิจการชั่วคราวมากขึ้นรายได้จากการทำงานล่วงเวลาลดลง และการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการระยะที่ 2 เพื่อลดผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม ทั้งแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ พร้อมอนุมัติชุดมาตรการดูแลและเยียวผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะมีการเสริมสภาพคล่อง และลดภาระด้านภาษีต่าง ๆ ให้
- Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) คาดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน
(กนง.) จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.นี้ หรืออย่างช้าภายในไตรมาส 2 ปีนี้ และอาจมีมาตรการด้านอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
- สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 GDP ขยายตัว -2% ถึง -3% หากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายในเดือนกันยายนนี้ ห่วงภาคการส่งออก ท่องเที่ยวและภาคธุรกิจ SMEs ที่ถูกปิดให้บริการเป็นการชั่วคราวเจอผลกระทบ ชี้มาตรการระยะสั้นรัฐบาลควรเร่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ช่วยเหลือแรงงาน เกษตรกรและ SMEs รวมถึงมาตรการจากสถาบันการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ คาดต้องใช้เม็ดเงินอีก 4-5% ของ GDPหรือ 6.5 แสนล้านบาท และงบลงทุนงบกลางและ งบลงทุนรัฐวิสาหกิจเพื่อแก้ไขขจัดปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้
· อ้างอิงจากสำนักข่าวฐานเศรษฐกิจ
- จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขออำนาจคณะรัฐมนตรี ประกาศใช้พระราชกำหนด (พรก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยการใช้ พรก. ดังกล่าว จะเริ่มวันที่ 26 มีนาคมนี้ โดยยกระดับศูนย์โควิด เรียกว่า ศอฉ.โควิด โดยมีนายก เป็นประธาน โดยพรก.ดังกล่าว มีอายุ บังคับใช้ 1 เดือน
ทั้งนี้ ศอฉ.โควิด จะออกประกาศ เพื่อบังคับใช้ โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และการพิจารณาว่า จะบังคับใช้ในประเด็นใดบ้าง ทั้งข้อความร่วมมือ และมีบทลงโทษหากฝ่าฝืน
สำหรับอำนาจ พรก.ฉุกเฉินประกอบด้วยกฎบังคับหลัก 6 ข้อคือ
1.ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น
2. ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
3. ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
4. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
5. ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
6. ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด
ตามมาตรา 18 พรก.ฉุกเฉิน ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ