· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับลงเมื่อคืนนี้ หลังจากที่ช่วงต้นตลาดเคลื่อนไหวแดนบวก จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาทั่วโลกที่ดูดีขึ้น โดยดัชนีดาวโจนส์ปิด -26.13 จุด หรือ -0.1% ที่ 22,653.86 จุด ขณะที่ช่วงต้นตลาดปรับตัวขึ้นได้กว่า 937.25 จุด หรือคิดเป็น +4.1% ในส่วนของ S&P500 ปิด -0.2% ที่ 2,659.41 จุด หลังจากที่ระหว่างวันปรับขึ้นได้กว่า 3% และดัชนี Nasdasq Composite ปิด -0.3% ที่ 7,887.26 จุด ท่ามกลางการ Roll-Over สัญญาในตลาด
ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าราคาหุ้นมีแนวโน้มจะเป็นขาลงต่อจากภาวะ Shutdown ที่เข้ากดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่ภาพรวม 3 ดัชนีหลักก็สามารถปรับขึ้นมาได้แล้วประมาณ 20% จากระดับต่ำสุดที่ทำกันไว้ในวันที่ 23 มี.ค.
· เช้านี้สัญญาซื้อขายดัชนีฟิวเจอร์สเปิดลงต่อจากภาพรวมตลาดที่ค่อนข้างผันผวนตามการ Shutdown ทางเศรษฐกิจ โดยดัชนี Dow Jones Futures เปิด -236 จุด ทางด้าน S&P500 และ Nasdaq Futures ที่เปิดปรับลงเช่นกัน
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับขึ้นจากความหวังที่จะเห็นการระบาดของไวรัสโคโรนาชะลอตัวลง โดยดัชนี Stoxx 600 ปิด +1.7%
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผสมผสานกันในเช้านี้ ท่ามกลางภูมิภาคที่ยังคงมีมาตรการต่างๆในการรับมือกับการระบาดของไวรัส โดยดัชนี S&P/ASX200 เปิด -1.28%
ด้าน Nikkei 225 และ Topix เปิด +0.15% ทางด้าน Kospi เปิด -0.4% แต่ Kosdaq เปิด +0.16%
ภาพรวมดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิด -0.35%
ทั้งนี้ กลุ่มนักลงทุนดูจะให้ความสนใจกับการระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นสำคัญ ท่ามกลางมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมและมาตรการต่างๆเพื่อจำกัดการระบาดของไวรัสโคโรนา
· นักบริหารการเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ระหว่าง 32.70-33.00 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทแข็งค่าจากหลายประเด็นทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่ลดลงและครม.อนุมัติมาตรการเยียวยาทั้งของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 38 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสมรวม 2,258 ราย
- สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ ในเดือน มี.ค.63 อยู่ที่ 101.82 ลดลง -0.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง -0.86% จากเดือน ก.พ.63 โดยในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 63 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.41% จากสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นภาวะเงินฝืด เพียงแต่อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงนี้มาจากภาวะของเศรษฐกิจถดถอย ไม่ได้เป็นภาวะเงินฝืดแบบปกติ
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะ 3 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และเป็นแหล่งการจ้างงานหลักของประเทศให้มีเงินทุน และสภาพคล่องเพียงพอเพื่อดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงานต่อไปได้ รวมทั้งต้องมีมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อรักษาช่องทางการระดมทุนของภาคเอกชนและรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จำนวนผู้มาลงทะเบียนwww.เราไม่ทิ้งกัน.com ล่าสุดอยู่ที่ 24.5 ล้านคน โดยประเมินว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ไม่เกิน 8 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพรับจ้าง กับค้าขาย และ 4 อาชีพหลักคือ แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ ผู้ค้าสลากฯ และมัคคุเทศก์
- สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า สรท.คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 63 หดตัวไม่ต่ำกว่า -8% และมีโอกาสหดตัวถึงตัวเลขสองหลัก บนสมมติฐานค่าเงิน 30.50 บาท/ดอลลาร์ (ณ วันที่ 6 เม.ย.63) เท่ากับ 32.895 บาท/ดอลลาร์ โดยอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.36-32.97 บาท/ดอลลาร์