· ตลาดหุ้นสหรัฐฯเปิดปรับตัวขึ้นจากความหวังที่ว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯจะเข้าสู่จุดพีคไปแล้ว ทำให้หุ้นกลุ่มประกันสุขภาพปรับตัวขึ้น ขณะเดียวกันตลาดก็ยังมีปัจจัยบวกจากการที่ นายเบอร์นีย์ แซนเดอร์ส ตัดสินใจไม่ลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ดัชนีดาวโจนส์ปิด +779.71 จุด หรือ +3.44% ที่ระดับ 23,433.57 จุด ทางด้าน S&P500 ปิด +3.41%ที่ 2,749.98 จุด ทางด้าน Nasdaq ปิด +2.58% ที่ 8,090.90 จุด
ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนจาก U.S. Bank Wealth Manangement กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญต่อตลาดคือการเข้าสู่จุดพีคไปแล้ว จึงทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าจะเห็นการพิจารณาถึงการกลับมาเปิดทำการของสถานประกอบการได้ตามปกติ หรือเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเริ่มทำการได้
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลง แม้ตลาดจะมีมุมมองเชิงบวกต่อการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ชะลอตัวลงก็ตาม โดยดัชนี Stoxx600 ปิด -0.2%
ตลาดทั่วโลกยังคงมีความหวังและความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาในเชิงการชะลอตัว และความไม่มั่นใจว่าจะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดได้จริงหรือไม่
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผสมผสานกัท่ามกลางตลาดที่รอคอยข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯในคืนนี้
ดัชนี Kospiของเกาหลีใต้เปิด +1.48% ทางด้าน S&P/ASX200 เปิด +1.24% ในขณะที่ Nikkei เปิด -0.23% และ Topix เปิด -0.8%
ภาพรวมดัชนี MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นเปิด +0.7%
· นักบริหารเงิน ประเมินกรอบความเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 32.70-32.90 บาท/ดอลลาร์ ช่วงนี้น่าจะย่ำฐานเพื่อรอปัจจัยใหม่ๆ โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ตามแรงซื้อแรงขายทั่วไป ยังต้องรอดูสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการภาครัฐว่าจะมี อะไรเพิ่มเติมหรือไม่
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เผยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 111 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสมรวม 2,369 ราย ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 30 รายรักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 888 ราย
- คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) คาดว่า การส่งออกในปีนี้จะหดตัว -5 ถึง -10% โดยได้รับผลกระทบด้านการส่งออกไปสหรัฐ ขณะที่ตลาดจีนยังฟื้นตัวลำบาก และแม้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง 7-8% แต่ไม่ส่งผลต่อยอดสั่งซื้อ ประกอบกับเกิดสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลต่อราคาและผลผลิตทางการเกษตร ส่วนอัตราเงินเฟ้อ -1.5% สำหรับตัวเลขประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้นั้น นายสุพันธ์ คาดว่า GDP ติดลบแน่นอน แต่ ยังไม่มีการพิจารณาปรับในเดือนนี้ เพื่อรอประเมินผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ที่มีมติครม.ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะพิจารณาปรับ GDP ในเดือนหน้า
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษ วันที่ 20 มี.ค.63 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.00% เป็น 0.75% ต่อปี เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาล ที่ได้ดำเนินการแล้วและจะดำเนินการเพิ่มเติม
- ธนาคารกรุงไทยร่วมมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SME ของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นไปตามร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ โดยประกาศพักชำระหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย 6 เดือน ให้กับลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อรับมือกับรายจ่ายที่จำเป็นของธุรกิจ เริ่มมีผลเดือนเม.ย.-ก.ย. 63
นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กลุ่มลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ 31 ธ.ค. 62 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี โดยธนาคารไม่คิดดอกเบี้ยใน ช่วง 6 เดือนแรก เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้
- สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เผยเดือน มี.ค.จัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจ และกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% (กิจการฯ) จำนวน 4,307 ล้านบาท ส่งผลให้มีเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสมจากรัฐวิสาหกิจและกิจการฯ ในช่วง 6 เดือนแรก (1 ต.ค.62 - 31 มี.ค.63) จำนวน 101,173 ล้านบาท คิดเป็น 101% ของประมาณการเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสม หรือคิดเป็น 54% ของเป้าหมายทั้งปีงบประมาณ 2563 จำนวน 188,800 ล้านบาท
- สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เผยผู้โดยสารระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 1/63 มีจำนวน 15.67 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา 8.54 ล้านคน หรือลดลง 35.3%