· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความหวังที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาใกล้เข้าสู่จุดสิ้นสุดแล้ว รวมทั้งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่กระแสคาดการณ์เกี่ยวกับข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันช่วยหนุนราคาน้ำมันในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.9% ตามการเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืนที่ผ่านมา ด้านดัชนีฟิวเจอร์สหุ้นสหรัฐฯเคลื่อนไหวทรงตัวหลังฟื้นตัวและเคลื่อนไหวในแดนบวก
· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดปรับตัวลดลง แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมาก็ตาม เนื่องจากเหล่านักลงทุนยังคงระมัดระวังการลงทุนและยังกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการภาคบริษัทที่ได้รับกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา
โดยดัชนี Nikkei ลดลง 0.04% ที่ระดับ 19,345.77 จุด
ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้น 503 ราย ซึ่งเป็นระดับวันที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด นับตั้งแต่เกิดการระบาด ซึ่งบดบังความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นในการช่วยชะลอการระบาดของไวรัสภายในประเทศ
· ตลาดหุ้นจีนปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ ตามการเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นเอเชีย เนื่องจากความหวังที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอาจจะเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว
โดยดัชนี Shanghai Composite เพิ่มขึ้น 0.37% ที่ระดับ 2,825.90 จุด
· ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากตลาดเริ่มมีความหวังว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะถึงจุดสูงสุดแล้ว อย่างไรก็ดี ข้อมูลการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯที่จะประกาศในคืนนี้อาจจะกดดันความเชื่อมั่นของเหล่านักลงทุน
โดยดัชนี Stoxx600 เพิ่มขึ้น 1.7% ด้านหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและการพักผ่อนเพิ่มขึ้น 4% ท่ามกลางตลาดภูมิภาคส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวในแดนบวก
อ้างอิงจากประชาชาติธุรกิจ
- นักบริหารเงิน มองเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามทิศทางตลาดหุ้นเอเชียเป็นหลัก และการที่หุ้นไทยมีกลุ่มนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อก็เห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นตาม และท่าทีที่ตลาดหุ้นจะอ่อนตัว ก็เห็นถึงเงินบาทที่ปรับอ่อนค่าตาม ดังนั้น ในระยะยาว เม็ดเงินหลักที่จะทำให้เงินบาทยังแข็งค่าอยู่ คือตลาดบอนด์ที่ยังไม่เห็นนักลงทุนกลับเข้าซื้อ จึงทำให้เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้อีก
ประเด็นหลักที่นักลงทุนทั่วโลกติดตามอยู่ คือการประชุมของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ซึ่งคาดว่าจะมีการลดกำลังการผลิตอย่างน้อย 10 ล้านบาร์เรล/วัน และจะเริ่มได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้น
- โควิดทุบความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกวูบ 1.5 ล้านล้าน
ศูนย์พยากรณ์ฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 50.3 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปัญหาหลักมาจากโควิด-19 กระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งรายได้ การหางานทำ และเศรษฐกิจโดยรวม พร้อมยังประเมินครึ่งปีแรกของปี คาดเม็ดเงินจะหายออกจากระบบเศรษฐกิจถึง 1.5 ล้านล้านบาท
อ้างอิงจาก The Standard
- ม.หอการค้าฯ หั่นจีดีพีปีนี้ติดลบ 4-6% ส่วนดัชนีเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ 21 ปี
ม.หอการค้าฯ หั่นจีดีพีปีนี้ติดลบ 4-6% จาก 1.1% หลังโควิดกระทบเศรษฐกิจ ฟากดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคมอยู่ที่ 50.3 ต่ำสุดรอบ 21 ปี 6 เดือน ส่วนดัชนีเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมเดือนมีนาคมอยู่ที่ 41.6 จากเดือนกุมภาพันธ์ 52.5 ต่ำสุดในรอบเกือบ 21 ปี
สำหรับดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เนื่องจากการปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละรายการปรับตัวลดลงมากกว่า 10 จุดภายในเดือนเดียว เนื่องจากความกังวลในวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งการปรับตัวลดลงอย่างมากภายในเดือนเดียวทุกรายการเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอด 21 ปี 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 ที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมา
โดยผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต
นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งยังซ้ำเติมปัญหาต่อภาคการเกษตรในหลายพื้นที่ ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต