· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวขึ้นในคืนวันศุกร์จากข่าวบริษัทยา Gilead Sciences ที่เผยถึงตัวยารักษาไวรัสโคโรนาได้อย่างมีประสิทธิผล จึงสร้างความคาดหวังให้แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้นว่าอาจพบหนทางการรักษา และทำให้นานาประเทศกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติเร็วขึ้นเพื่อพยุงภาพถดถอยอย่างหนักของเศรษฐกิจในเวลานี้
ดัชนีดาวโจนส์ปิด +704.81 จุด หรือ +3% ที่ 24,242.49 จุด เรียกได้ว่าเป็นการกลับมาปิดเหนือ 24,000 จุดเป็นครั้งแรกตั้งแต่ 10 มี.ค. ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด +2.7% ที่ 2,874.56 จุด และ Nasdaq ปิด +1.4% ที่ 8,650.14 จุด
· สำหรับเช้านี้ดัชนีหุ้นสหรัฐฯฟิวเจอร์สเปิดปรับตัวลดลงจากกลุ่มนักลงทุนที่ตอบรับข่าวการระบาดของไวรัสโคโรนาที่กลายมาเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำมันดิบร่วงหนัก โดยดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์เปิดลดลง 180 จุด หรือ -0.8% ขณะที่ S&P500และ Nasdaq ฟิวเจอร์ส ต่างก็เปิดปรับตัวลดลงไปประมาณ -0.6% ตอบรับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงไปกว่า 5% ในเช้านี้ ทำต่ำสุดแนว 17 เหรียญ/บาร์เรล
· หุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นขานรับบริษัทยา Gilead Sciences เช่นกัน โดยดัชนี Stoxx600 เปิด +2.4% ท่ามกลางหุ้นกลุ่มที่พักและการท่องเที่ยวที่สูงกว่า 6%
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกยังตอบรับข่าวจาก STAT News ที่ว่า โรงพยาบาลชิคาโกสามารถรักษาผู้ป่วยด้วยยา Remdesivir ตัวเดียวกับที่ทาง Gilead ประกาศ ขณะที่สหรัฐฯและเยอรมนี ซึ่งถือเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเช่นกัน กำลังเริ่มทำแผนเพื่อปลดล็อกมาตรการ Lockdown จากอัตราการติดเชื้อ-เสียชีวิตลดลง
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับตัวลดลง ก่อนที่นักลงทุนจะทราบแนวทางการปรับอัตรานโยบายดอกเบี้ยของจีน โดยดัชนีนิกเกอิเปิด -1.29% ด้าน Topix เปิด -0.56% ขณะที่ Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -0.12% ในส่วนของออสเตรเลียดัชนีS&P/ASX200 เปิด -0.41%
ภาพรวมดัชนี MSCI ที่ไม่รวมหุ้นญี่ปุ่นเปิด -0.18%
· นักบริหารการเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ไว้ที่ระหว่าง 32.30-32.80 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค. สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และแผนการเปิดเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการสำหรับเดือน เม.ย. (เบื้องต้น) ดัชนีราคาบ้านเดือนก.พ. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง (LPR) ประจำเดือนเม.ย. ของธนาคารกลางจีน รวมถึงดัชนี PMI สำหรับเดือน เม.ย. (เบื้องต้น) ของประเทศสมาชิกยูโรโซน และญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มองวิกฤติเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้ากว่าในอดีตไปอีกนาน เป็นรูป ตัว J กลับด้านจากซ้ายเป็นขวา คือ ลงลึก ฟื้นช้า และโตต่ำกว่าเดิม ชี้หากมีการอัดฉีดงบการใช้จ่ายภาครัฐราว 4 แสนล้านบาทโดยเร็ว การบริโภคภาครัฐจะขยายตัวได้ในช่วงไตรมาส 2-4/63 ได้ราว 20% และจะมีส่วนให้เศรษฐกิจดีขึ้นกว่ากรณีฐานราว 2% คือหดตัวน้อยลง
- สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ระบุมาตรการการคลังที่เตรียมใช้เม็ดเงินทั้งหมดราว 1 ล้านล้านบาท โดยหวังจะสร้างตัวทวีคูณ (multiplier) ให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว จะต้องแลกมาด้วยการขาดดุลงบประมาณที่จะเร่งตัวขึ้น และหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ที่อาจพุ่งแตะเพดานที่ 60% ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3สร้างสถิติต่ำสุดในรอบ 74 เดือน จากระดับ 37.3 ในเดือนก.พ. 63 มาอยู่ที่ระดับ 33.1 ในเดือนมี.ค. 63 จากความกังวลของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาก ต่อประเด็นเรื่องรายได้และการจ้างงาน เงินออม และค่าใช้จ่าย (ไม่รวมภาระหนี้สิน) ซึ่งมีส่วนสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
· อ้างอิงจากสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ
- ฝ่ายวิจัยฯ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ประเมินอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจปี 63 (หรือ GDP ปี 63) ของประเทศไทยจะติดลบราว -8.4% (ในกรณีที่ดี หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ใน 3Q63 และกลับสู่ภาวะปกติได้ใน 4Q63 คาด GDP ปีนี้จะติดลบราว -5.7%)
- ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ก. จำนวน 4 ฉบับ และพ.ร.ฎ.จำนวน 1 ฉบับ โดยกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาล และหน่วยงานรัฐอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย
1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินรวมไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท
3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 โดยกำหนดให้ในระยะกองทุนมีวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท
4.พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563
5.พ.ร.ฎ.กำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2563