· หุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นหวังคองเกรสเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการรีบาวน์ของน้ำมันดิบ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวขึ้นท่ามกลางการรีบาวน์ของราคาน้ำมัน และการที่สภาพคองเกรสจะอนุมัติงบเกือบ 5 แสนล้านเหรียญเพิ่มเพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก โดยในวันนี้จะมีการโหวตนโยบายดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎร
ดัชนีดาวโจนส์ปิด +456.94 จุด หรือ +1.99% ที่ 23,475.82 จุด ทางด้านน้ำมันดิบ S&P500 ปิด +2.29% ที่ 2,799.31 จุด และ Nasdsaq ปิด +2.8% ที่ 8,495.38 จุด
ทั้งนี้ S&P500 ปิดร่วงลงกว่า 17% จากที่ทำสูงสุดไว้ในช่วงเดือนก.พ. อันเนื่องจากภาวะ Shutdown ที่ดูจะกระทบตั้งแต่เรื่องการจ้างงาน, คนว่างงาน, การใช้จ่ายของกลุ่มผู้บริโภค และหลายๆกลุ่มอุตสาหกรรม ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ต่างพากันลดคาดการณ์ผลประกอบการในกลุ่ม S&P500 ลงในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนี้
· สำหรับดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์สเช้านี้เปิดร่วงลงจากกลุ่มนักลงทุนที่ลดการถือครองสถานะหลังตลาดค่อนข้างมีความผันผวนอย่างมาก โดยดัชนีดาวโจนส์เปิดร่วงลงประมาณ 90 จุด ฉุดให้ S&P500 และ Nasdaq ฟิวเจอร์สเช้านี้เปิดลบตาม
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับขึ้นวานนี้จากตลาดน้ำมันดิบที่รีบาวน์ได้ โดยดัชนี Stoxx600 ปิด +1.8% ด้านหุ้นทรัพยากรพื้นฐานปิด +3.5%
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้น ตามการรีบาวน์ของราคาน้ำมันเมื่อคืนที่ผ่านมา หลังจากที่ร่วงลงอย่างหนักในช่วงก่อนหน้านี้
โดยเช้านี้ ดัชนี Nikkei เพิ่มขึ้น 0.88% ในช่ววต้นการซื้อขาย ด้านดัชนี Topix เพิ่มขึ้น 0.7% รวมทั้งดัชนี Kospi เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 0.55%
ขณะที่ดัชนี S&P/ASX 200 ออสเตรเลียก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน 0.96%
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.18%
· นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.25 - 32.50 บาท/ดอลลาร์ โดยมีแรงขายดอลลาร์ จึงส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า เพราะ US Index ปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนมองว่าราคาน่าเทขายจึงขายทำกำไร แต่ระหว่างวัน ไม่ได้มีปัจจัยอะไรเพิ่มเติมที่เข้ามากระทบ เป็นเพียงแรงเข้าซื้อและแรงเทขายทั่วไป
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- ที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ พิจารณาแผนการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยจะต้องมีการทดลองและต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนการกระจายวัคซีนให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้าภายใน 3 เดือนหลังจากนี้
- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวภายหลังการร่วมหารือมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ว่า ขณะนี้รัฐบาลโฟกัสในเรื่องการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกภาคส่วน และจะนำเงินการกู้เงินภายใต้พ.ร.ก.ส่วนหนึ่งราว 4 แสนล้านบาทมาเยียวยา โดยเน้นไปเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) เป็นหลัก เพราะต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่ภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวจะดีขึ้นได้ภายในปีนี้ จึงต้องหันมาเน้นเรื่องการบริโภคในประเทศและการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐเป็นหลัก
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ลูกค้าเลี่ยงการใช้เงินสดลดการเดินทางออกนอกบ้าน หันมาทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ผ่าน K PLUS มากขึ้น ซึ่งธนาคารได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความต้องการทำธุรกรรมผ่าน K PLUS อย่างต่อเนื่อง และพบว่าในไตรมาส 1/63 มีจำนวนธุรกรรมการเงินผ่าน K PLUS มากถึง 700 ล้านรายการ สูงขึ้น 8% จากไตรมาส 4/62 โดยธนาคารตั้งเป้าหมายปี 63 มีลูกค้าใช้งานแอพ K PLUS รวมเป็น 15 ล้านราย เติบโต 24% มียอดการทำธุรกรรมทุกประเภทรวม 11,600 ล้านรายการ เติบโต 37% จากปีก่อน
- ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) กล่าวถึง สถานการณ์และแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 63 จากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 ว่า จากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซึมยาวจากปี 62 ต่อเนื่องด้วยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้การขายหยุดชะงักในช่วงไตรมาส 1/63 ที่ผ่านมา จากการทำกิจกรรมการขายได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาหลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัสในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลกระทบยาวถึงการตัดสินใจซื้อในช่วงไตรมาส 2/63 และการที่มีจำนวนซัพพลายคอนโดมิเนียมที่ยังเหลืออยู่มาก ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดยังไม่เร่งการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทำให้การขายยังไม่กลับมาคึกคักมาก
- ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ยังคงประมาณการเดิมว่า การส่งออกไทยในปีนี้อาจติดลบถึง -8.6% เนื่องจากยังต้องเตรียมรับแรงปะทะระลอกใหม่ โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ของปี 63 หลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นยังคงน่าเป็นห่วง จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศในกลุ่มนี้มีมากถึง 81.4% ของตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลก จนต้องยกระดับมาตรการปิดเมืองและ Social Distancing ในหลายประเทศตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญกับผลกระทบดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับจีน
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คงคาดการณ์มูลค่าส่งออกปี 63 ที่ -12.9% จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ล่าสุด ทั้งโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 2.4 ล้านคน และมีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วในทั่วโลก จึงเป็นที่มาของมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลต่อการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศ ดังนั้น เศรษฐกิจโลกในปีนี้จึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนักต่อการระบาดของโควิด-19
- ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ได้นัดหารือกับหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค เพื่อหารือเรื่องการเสนอญัตติขอเปิดสมัยประชุมวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาประเด็นพระราชกำหนด 3 ฉบับเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลของโควิด-19 ซึ่งภายหลังการประชุมจะมีการแถลงข่าวในนามพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้ง