· EUR/USD Price Analysis: อ่อนค่าลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยราย 50 วัน
บทวิเคราะห์จาก FX Street ระบุว่าค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงในช่วงเช้าวันนี้ตามฟิวเจอร์สหุ้นสหรัฐฯและน้ำมัน หลังจากตลาดรับข่าวที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ข่มขู่จะขึ้นภาษีจีน ทำให้ตลาดกลับมากังวลกับภาวะสงครามการค้า ประกอบกับวิกฤตไวรัสโคโรนาที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
ดังนั้นจึงประเมินว่าค่าเงินมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอีก โดยเฉพาะหลังจากที่ค่าเงินย่อตัวหลุดเทรนขาขึ้น ทำให้เทรนขาขึ้นที่ฟื้นตัวขึ้นมาจากระดับต่ำสุดที่ 1.0727 ดอลลาร์/ยูโร มีโอกาสจะจบลง
ทั้งนี้ ประเมินแนวรับแรกของค่าเงินไว้ที่ระดับ 1.0935 ดอลลาร์/ยูโร หากหลุดระดับนี้ลงมาจะมีความเสี่ยงย่อตัวลงไปถึงบริเวณ 1.09 ดอลลาร์/ยูโร แต่ก็มีสัญญาณว่าการย่อตัวอาจเกิดขึ้นได้ไม่นานนัก เพราะว่ามีสัญญาณ Bullish reversal เกิดขึ้นในกราฟรายสัปดาห์ จึงต้องจับตาว่าค่าเงินจะสามารถกลับขึ้นไปปิดเหนือเส้นค่าเฉลี่ยราย 200 วัน ที่ระดับ 1.1033 ดอลลาร์/ยูโร ได้หรือไม่ หากทำได้ค่าเงินก็จะกลับเข้าสู่ขาขึ้นอีกครั้ง

· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับลดลงท่ามกลางรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน เกี่ยวกับต้นกำเนิดของเชื้อไวรัสโคโรนา
โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี ปรับลดลงแถว 0.6068% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปี ปรับลดลงแถว 1.2446%
· รายงานจาก NHK ระบุว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกำลังพิจารณาขยายระยะเวลาของมาตรการฉุกเฉินออกไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่ยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 100,000 ราย หลังจากที่ยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ แต่ก็ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าจะพัฒนาวัคซีนสำเร็จภายในสิ้นปี 2020 นี้
· ทีมบริหารกำลัง “เร่ง” ให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯถอนฐานการผลิตออกจากจีน
รายงานจากแหล่งข่าววงในของ Reuters ระบุว่าทีมบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลัง “เร่ง” ให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯถอดถอนฐานการผลิตออกจากประเทศจีน ผ่านการใช้นโยบายภาษี เพื่อเป็นการลงโทษจีนในการจัดการกับวิกฤตไวรัสโคโรนาอย่างไม่เหมาะสม
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รวมทั้งกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง กำลังมองหาหนทางที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯถอดถอนฐานการผลิตและแหล่งวัตถุดิบออกจากประเทศ โดยอาจใช้วิธีการขึ้นภาษีหรือการจ่ายงบประมาณสนับสนุนเป็นเครื่องมือสำหรับการผลักดันครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ นายทรัมป์ได้เคยกล่าวไว้ว่า อาจพิจารณาปรับขึ้นภาษีสู่ระดับ 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3.70 แสนล้านเหรียญ ที่ก่อนหน้านี้เคยถูกขึ้นภาษีเอาไว้แล้ว
· นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ระบุว่ามีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าไวรัสโคโรนามีต้นกำเนิดมาจากห้องแล็บในประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม นายปอมเปโอก็ได้กล่าวขัดแย้งกับตัวเอง โดยระบุว่าเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์หรือถูกดัดแปลงพันธุกรรม และยังขัดแย้งกับทฤษฎีของกลุ่มต่อต้านประเทศจีนและผู้สนับสนุนของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ตั้งสมมติฐานว่าเชื้อไวรัสโคโรนาอาจถูกพัฒนาขึ้นโดยฝีมือของรัฐบาลจีนเพื่อใช้เป็นอาวุธชีวภาพ
· CEO แห่งสถาบัน Gilead Sciences ระบุว่าทางสถาบันกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อพิจารณาว่าจะส่งมอบตัวยา remdesivir ที่ใช้สำหรับการรักษาอาการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ออกไปสู่พื้นที่ใดของสหรัฐฯเป็นอันดับแรก โดยจะให้ความสำคัญไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดก่อน โดยคาดว่าตัวยาจะถึงมือแพทย์และผู้ป่วยในสหรัฐฯภายในสัปดาห์นี้
สำหรับผลการทดสอบตัวยา remdesivir ที่ทางสถาบันเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อน ระบุว่าผู้ป่วย 50% ที่รับการรักษาด้วยยาตัวนี้เป็นเวลา 5 วัน สามารถฟื้นตัวจากอาการป่วยได้ภายใน 11 วัน เร็วกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาตัวนี้ประมาณ 4 วัน
· การระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้กิจกรรมภาคอุตสาหกรรมในเอเชียเผชิญวิกฤตทางการเงินที่ตกต่ำ
กิจกรรมภาคอุตสาหกรรมในเอเชียเกิดความเสียหายในเดือนเม.ย. และความหวังที่ภาคอุตสาหกรรมจะกลับมาฟื้นฟูก็ริบหรี่ลงเนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้การผลิตทั่วโลกหยุดชะงักและอุปสงค์ปรับตัวลง
ดัชนี PMI ในหลายประเทศที่สำรวจโดยบริษัท IHS Markit ร่วงลงตั้งแต่เดือนมี.ค. โดยดัชนีดังกล่าวในบางประเทศร่วงลงเป็นประวัติการณ์ และในประเทศอื่นๆอาจเท่ากับตัวเลขช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 ถึง 2009
ในขณะที่ดัชนี PMI ในยุโรปที่จะประกาศในวันนี้และภายในสัปดาห์นี้ ถูกคาดว่า จะตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้กองเงินทุนระหว่างชาติเตือนว่า เศรษฐกิจโลกอาจกำลังเข้าสู่ภาวะซบเซาที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปี 1930
ดัชนี PMI ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ในเอเชียและเป็นโรงไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมของโลก ร่วงอยู่ที่ 41.6 ในเดือนที่แล้ว ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนม.ค. ปี2009 ส่วนดัชนี PMI ของญี่ปุ่นก็ปรับตัวลงเหมือนเมื่อ 11 ปีที่แล้ว
· ราคาน้ำมันปรับลดลง ท่ามกลางตลาดที่กลับมากังวลกับภาวะความอ่อนแอของอุปสงค์ในน้ำมัน หลังจากสหรัฐฯมการข่มขู่จะขึ้นภาษีกับจีน ทำให้ตลาดกังวลกับโอกาสเกิดสงครามการค้าขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในขณะที่เศรษฐกิจกำลังอ่อนแอลงจากผลกระทบของไวรัสโคโรนา แม้หลายๆประเทศจะเริ่มพิจารณาผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ลงบ้างแล้วก็ตาม
โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลงทำระดับต่ำสุดวันนี้ที่ 18.10 เหรียญ/บาร์เรล ล่าสุดปรับลดลง 5.8% หรือ 1.14 เหรียญ แถว 18.64 เหรียญ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดตลาดสัปดาห์ก่อนสูงขึ้น 17%
ด้านราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลง 0.9% หรือ 0.24 เหรียญ แถว 26.20 เหรียญ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดตลาดสัปดาห์ก่อนสูงขึ้น 23%
· Oil Price Forecast: WTI หลุดเทรนขาขึ้นระยะสั้น และย่อต่ำกว่า 19 เหรียญ
บทวิเคราะห์จาก FX Street ระบุว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ย่อตัวหลุดเทรนขาขึ้นระยะสั้น และหลุดระดับ 19 เหรียญ/บาร์เรล ลงมาแถวระดับ 18.72 เหรียญ/บาร์เรล ในช่วงสายของตลาดเอเชียวันนี้
โดยหากราคายังเคลื่อนไหวต่ำกว่าเทรนขาขึ้น ก็จะมีความเสี่ยงย่อตัวลดลงไปแถวระดับ 16.45 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับ 61.8% Fibonacci retracement วัดจากระดับต่ำสุดของวันที่ 21 เม.ย. ถัดจากนั้นจะมีแนวรับอยู่ที่ 15.35 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ยราย 200 ช.ม. และน่าจะสามารถรองรับราคาได้ค่อนข้างแข็งแกร่ง
ในทางกลับกัน แนวต้านจะอยู่ที่ระดับ 20.50 เหรียญ/บาร์เรล ที่น่าจะคอยกดดันไม่ให้ราคาสามารถฟื้นตัวเหนือระดับ 19.90 เหรียญ/บาร์เรลมาได้โดยง่าย แต่ถ้าหากราคาสามารถยืนเหนือระดับ 20.50 เหรียญ/บาร์เรล ได้ ฝั่งขาขึ้นก็จะมีเป้าหมายถัดไปอยู่ที่ 22.60 เหรียญ/บาร์เรล