· ค่าเงินเยนทรงตัวใกล้ระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 7 สัปดาห์เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ท่ามกลางนักลงทุนที่เลี่ยงการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางตัวเลขทางเศรษฐกิจในหลายๆประเทศที่อ่อนแอ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค่าและความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจในยูโรโซน
โดยค่าเงินทรงตัวแถวระดับ 106.15 เยน/ดอลลาร์ หลังจากเมื่อวานทำระดับแข็งค่าที่สุดไปที่ระดับ 105.985 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าที่สุดตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค.
ขณะที่ค่าเงินหยวนแข็งค่าประมาณ 0.1% แถว 7.0959 หยวน/ดอลลาร์ ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่า 0.25% แถว 0.6420 ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรค่อนข้างทรงตัวแถวระดับ 1.0801 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากอ่อนค่าติดต่อกันถึง 3 วันทำการในช่วงสัปดาห์นี้ โดยถูกกดดันจากการที่ศาลเยอรมนีตัดสินให้ทางอีซีบีต้องชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทางธนาคารกลางของเยอรมนีจะเข้าร่วมแผนการเข้าซื้อพันธบัตร
ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าเล็กน้อยแถว 1.2322 ดอลลาร์/ปอนด์ เคลื่อนไหวใกล้ระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์
· ค่าเงินตุรกีอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์
ค่าเงินลีราของตุรกีทำระดับอ่อนค่าที่สุดที่ 7.49 ลีรา/ดอลลาร์ อ่อนค่ายิ่งกว่าสมัยวิกฤตค่าเงินของตุรกีในเดือน ส.ค. ปี 2018 ที่ 7.236 ลีรา/ดอลลาร์ โดยมีปัจจัยกดดันหลักๆมาจากการอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อัตราว่างงานที่สูงขึ้น รวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนามากที่สุดในแถบตะวันออกกลาง
· EUR/USD Forecast: คาดยูโรอ่อนค่าต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์ทางเทคนิคจาก FX Street ประเมินว่าค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ท่ามกลางแรงกดดันในทิศทางขาลง โดยค่าเงินในช่วงสายวันนี้กำลังเคลื่อนไหวแถวระดับ 1.0800 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ในกราฟ 4 ช.ม. จะเห็นได้ถึงเส้นค่าเฉลี่ยราย 20 วันที่เริ่มเคลื่อนไหวในทิศทางขาลงค่อนข้างแรง และกำลังจะตัดผ่านเส้นค่าเฉลี่ยราย 100 และ 200 วัน ขณะที่ Indicators ต่างๆค่อนข้างทรงตัวใกล้ระดับต่ำสุดรายวัน บ่งชี้ว่าไม่มีแนวโน้มที่ทิศทางขาลงจะเปลี่ยนแปลงในเร็วๆนี้โดยมองแนวรับวันนี้ไว้ที่ 1.0790 ดอลลาร์/ยูโร หากหลุดระดับนี้ลงมา จะทำให้มีโอกาสย่อตัวลงลึก
แนวรับ: 1.0790 1.0755 1.0710
แนวต้าน: 1.0830 1.0865 1.0900
สถานการณ์ไวรัสโคโรนา:
Ø จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 3,822,295 ราย
Ø จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 265,116 ราย
Ø จำนวนประเทศติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 212 ประเทศ
Ø จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯล่าสุดมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 1,263,224 ราย (+132) และมีผู้เสียชีวิตที่ระดับ 74,809 ราย (+10)
Ø จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยล่าสุดรวมผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,992 (+3) ราย และมีผู้เสียชีวิตรวมสะสม 55 ราย
· รัฐบาลจีนเผยยอด ส่งออกในหน่วยเงินดอลลาร์สำหรับเดือน เม.ย. ออกมาเพิ่มสูงขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เทียบกับคาดการณ์ที่คาดว่าจะหดตัว 15.7% ขณะที่ยอดนำเข้าประกาศลดลง 14.2% เทียบคาดการณ์ที่คาดว่าจะลดลง 11.2%
บรรดาผู้ประกอบการในประเทศจีนเริ่มกลับมาทำงานกันมากขึ้น ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ชะลอตัวลง แต่สถานการณ์ไวรัสทั่วโลกก็ยังดูไม่ค่อยสดใสนัก เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมกันสูงกว่า 3.74 ล้านรายตามข้อมูลจาก Johns Hopkins University ส่งผลให้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงปิดทำการตามคำสั่ง Lockdown ประเทศ ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและปริมาณอุปสงค์
· ทรัมป์เตรียมตัดสินว่าจีนทำตามข้อตกลงการค้าหรือไม่ ภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่าเขาจะสามารถรายงานได้ว่าจีนดำเนินการตามข้อตกลงทางการค้าร่วมกับสหรัฐฯได้จริงหรือไม่ในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยข้อตกลงดังกล่าวคือข้อตกลงในเฟส 1 ว่าด้วยเรื่องการเข้าสินค้าจากสหรัฐฯที่ลงนามร่วมกันเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตไวรัสระบาดทั่วโลก
นายทรัมป์ระบุว่าจีนเพิ่มการเข้าซื้อสินค้าจากสหรัฐฯจริง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าพวกเขาเข้าซื้อด้วยปริมาณที่สอดคล้องกับข้อตกลงหรือไม่ ทั้งสินค้าในกลุ่มการเกษตร รวมไปถึงกลุ่มพลังงาน บริการ และอุตสาหกรรมอื่นๆด้วย
ก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลสหรัฐฯได้ระบุว่าจะเริ่มการเจรจากับจีนในข้อตกลงเฟสที่ 2 ซึ่งจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการจ่ายเงินสนับสนุนจากรัฐบาลให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงเรื่องการบังคับโอนถ่ายเทคโนโยลีที่เป็นปัญหาสำคัญในความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ แต่ในปัจจุบัน ยังคงไม่มีรายงานว่าสหรัฐฯเริ่มดำเนินการแล้วแต่อย่างใด ท่ามกลางวิกฤตไวรัสที่ยังระบาดหนักในสหรัฐฯ
· รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศว่า ร้านค้าปลีก ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และการกีฬาท้องถิ่น จะสามารถกลับมาดำเนินการได้ หากรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการทางสังคมภายในสัปดาห์หน้า
· โพล Refinitiv คาด การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯจะร่วงเป็นประวัติการณ์
โพลสำรวจโดยสถาบัน Refinitiv ที่มีบรรดานักเศรษฐศาสตร์แนวหน้าร่วมตอบคำถาม คาดการณ์ว่าการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯที่จะเปิดเผยตัวเลขในคืนวันศุกร์นี้จะประกาศออกมามีการจ้างงานลดลงถึง 21.85 ล้านตำแหน่ง นับเป็นการจ้างงานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่เริ่มเก็บสถิติมาในปี 1939 ขณะที่อัตราว่างงานถูกคาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับ 16%
หากการจ้างงานลดลงด้วยอัตราเท่ากับที่คาดการณ์หรือมากกว่า เมื่อรวมกับการจ้างงานที่ลดลง 21.85 ล้านตำแหน่งในเดือน เม.ย. จะเท่ากับว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯได้สูญเสียตำแหน่งงานที่สามารถสร้างเพิ่มขึ้นมาได้ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยในช่วง มี.ค. ปี 2010 ถึง ก.พ ปี 2020 เศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถสร้างตำแหน่งงานเพิ่มรวมกันได้ 22.8 ล้านตำแหน่ง ตามข้อมูลจากสำนักงานด้านสถิติแรงงานของสหรัฐฯ
· การประกาศจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯที่จะประกาศในคืนนี้ ยังคงถูกคาดการณ์ว่าจะมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านตำแหน่ง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการเป็นวงกว้างมากขึ้นจำเป็นต้องปลดพนักงานออก แม้ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มมีสัญญาณของการกลับมาเปิดทำการกันอีกครั้งมากขึ้นก็ตาม
นักวิเคราะห์จาก Naroff Economics มีมุมมองว่า ถึงแม้เศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาเปิดทำการได้มากขึ้น แต่จำนวนคนว่างงานยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นด้วยอัตราที่มากเป็นพิเศษต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการที่ไม่สามารถทนพิษเศรษฐกิจไหวและจำเป็นต้องปิดกิจการหรือปลดพนักงานออกเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่จะประกาศออกมาที่ 3 ล้านตำแหน่งตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ลดน้อยลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ 3.839 ล้านตำแหน่ง และยังเป็นการปรับลดลงติดต่อกัน 5 สัปดาห์ นับตั้งแต่สัปดาห์ของวันที่ 28 มี.ค. ที่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 6.867 ล้านราย
หากตัวเลขคืนนี้ประกาศออกมาตรงกับคาดการณ์ จะทำให้จำนวนคนว่างงานในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็น 33.3 ล้านรายนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. หรือคิดเป็นประมาณ 22% ของประชากรวัยทำงานในสหรัฐฯ
· เอกอัครราชทูตของสหภาพยุโรป กล่าวว่า ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนถือเป็นปัญหาที่ส่งผลรวมและไม่ถือเป็นการช่วยเหลือด้านการจัดการระดับประเทศที่จำเป็นต้องทำข้อตกลงในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนาเวลานี้
ทั้งนี้ จีนจำเป็นต้องบรรเทาความตึงเครียดที่เกิดขึ้นและเร่งปฏิรูประบบทางเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงการบั่นทอนห่วงโซ่อุปทานของโลก รวมทั้งนโยบายกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น
· ธนาคารกลางอังกฤษหรือบีโออี มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.1% ในการประชุมวันนี้ แต่ได้ส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโคโรนาและชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตไวรัส ทางบีโออีได้มีการปรับลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว 2 ครั้ง จากเดิม 0.75% สู่ระดับ 0.1% รวมถึงประกาศมาตรการ QE เป็นวงเงิน 2 แสนล้านปอนด์ (2.4755 แสนล้านเหรียญ) ทำให้ทางบีโออีมีมูลค่าการเข้าซื้อพันธบัตรรวมอยู่ที่ระดับ 6.45 แสนล้านปอนด์
· ผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลของตนเองในการจัดการกับวิกฤตไวรัสโคโรนาในแต่ละประเทศโดยสถาบัน Blackbox Research และ Toluna พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่พึงพอใจกับระบบการจัดการของรัฐบาลตนเอง
อย่างไรก็ตาม โพลสำรวจที่เก็บข้อมูลจากประชาชนกว่า 12,500 ราย จาก 23 ประเทศระหว่างวันที่ 3 เม.ย. – 19 เม.ย. พบว่ารัฐบาลที่ประชาชนมีความพึงพอใจกับการจัดการกับวิกฤตไวรัสมากที่สุดคือรัฐบาลจีน ที่ได้คะแนนไป 85 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน รองลงมาคือ เวียดนาม ที่ 77 คะแนน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 59 คะแนน, อินเดีย 59 คะแนน เป็นต้น
ขณะที่สหรัฐฯอยู่อันดับที่ 14 จากทั้งหมด 23 อันดับ ได้คะแนนไป 41 คะแนน ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 18 ได้คะแนนไป 36 คะแนน
· Bloomberg เผย ตัวแทนสหรัฐฯ-จีนจะมีประชุมข้อตกลงการค้าสัปดาห์หน้า
รายงานจาก Bloomberg เปิดเผย เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งรัฐบาลสหรัฐฯและจีน จะมีการประชุมผ่านทางโทรศัพท์เกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้าอย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเป็นการประชุมเกี่ยวกับการติดตามผลการดำเนินงานตามข้อตกลงการค้าในเฟสแรก
· JPMorgan ชี้ ไม่มีใครต้องการความตึงเครียดทางการค้าในตอนนี้
นักวิเคราะห์จาก JPMorgan ระบุว่า ความขัดแย้งทางการค้าที่รุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐฯและจีน ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโคโรนา คือ “สิ่งสุดท้ายที่ตลาดต้องการ”
ถ้อยแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่จีนเปิดเผยข้อมูลการส่งออกในเดือน เม.ย. ออกมาสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการประกาศตัวเลขที่ออกมาน่าประหลาดใจมากทีเดียว
โดยระบุว่านี่อาจเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิขอาจอยู่ในสภาพที่ดีกว่าที่หลายๆฝ่ายเคยคาดไว้ แต่การประกาศตัวเลขดังกล่าวก็มาพร้อมกับความเสี่ยง ซึ่งก็คือเรื่องของยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งหากทางรัฐบาลสหรัฐฯมองว่าตัวเลขดังกล่าวเกิดจากความไม่ยุติธรรมทางการค้ากับสหรัฐฯ ก็อาจนำไปสู่การที่รัฐบาลสหรัฐฯพิจารณาเพิ่มแรงกดดันทางการค้ากับจีนมากขึ้นแทน ซึ่งนั้นคือสิ่งไม่มีผู้ใดต้องการในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้
· WTI Price Analysis: ราคาเผชิญแรงกดดันจากเส้นค่าเฉลี่ยราย 50 วัน
บทวิเคราะห์จาก FX Street ระบุว่าการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน WTI เริ่มชะลอตัวลงหลังจากที่ไม่สามารถปรับขึ้นเหนือเส้นค่าเฉลี่ยราย 50 วันติดต่อกัน 2 ครั้งในช่วง 24 ช.ม.ที่ผ่านมา
โดยราคาในช่วงสายวันนี้เคลื่อนไหวแถว 24.22 เหรียญ/บาร์เรล หลังขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่เส้นค่าเฉลี่ยราย 50 วันที่ 24.56 เหรียญ/บาร์เรลในช่วงต้นตลาด
เมื่อวานนี้ราคาก็ย่อลงประมาณ 2% หลังจากขึ้นไปชนระดับดังกล่าวเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ราคาปิดตลาดในแดนลบเป็นวันแรก หลังจากที่ปรับสูงขึ้นมาได้ติดต่อกันถึง 5 วันทำการ
ในขณะที่ทิศทางขาขึ้นของราคากำลังถูกกดดันโดยเส้นค่าเฉลี่ยราย 50 วัน ทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นไปหาเป้าหมายแถว 25.00 เหรียญ/บาร์เรล ทิศทางขาขลงก็ถูกจำกัดโดยเส้นค่าเฉลี่ยราย 50 ช.ม. เช่นกัน โดยในช่วงสายวันนี้ เส้นค่าเฉลี่ย 50 ช.ม. กำลังเคลื่อนไหวแถว 23.67 เหรียญ/บาร์เรล
หากราคาสามารถคงทิศทางฟื้นตัวโดยมีแรงหนุนจากเส่นค่าเฉลี่ยราย 50 ช.ม. และปรับขึ้นเหนือระดับ 25.00 เหรียญ/บาร์เรลได้ จะเป็นการยืนยันสัญญาณ Bull flag breakout และจะทำให้ราคามีโอกาสขึ้นต่อไปถึงระดับ 33 เหรียญ/บาร์เรลได้ (เมื่อพิจารณาจากลักษณะทางเทคนิคของราคา)
ในขณะเดียวกัน หากราคาย่อตัวหลุดเส้นค่าเฉลี่ยราย 50 ช.ม. ก็มีโอกาสที่ราคาจะถูกเทขายและย่อลงลึก โดยมีแนวรับแรกอยู่ที่ 22.58 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่แนวรับสำคัญจะอยู่ที่ระดับ 20.48 เหรียญ/บาร์เรล (ระดับต่ำสุดของ Bull flag)
· ราคาน้ำมันปรับลดลง ท่ามกลางสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด ขณะที่ปริมาณอุปสงค์อ่อนแอลงอย่างมากจากวิกฤตไวรัสโคโรนา และภาพรวมทางเศรษฐกิจก็ยังดูหม่นหมองแม้จีนจะมีการรายงานตัวเลขการนำเข้าที่ออกมาสูงกว่าที่คาดก็ตาม
โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลง 0.24 เหรียญ หรือประมาณ 0.8% แถว 29.48 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากเมื่อวานนี้ปรับลดลง 4%
ส่วนราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลง 0.34 เหรียญ หรือประมาณ 1.4% แถว 23.65 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากเมื่อวานนี้ปรับลดลง 2%