· ดัชนี S&P500 ปิดปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่วิตกกังวลต่อการกลับมาติดเชื้อไวรัสโคโรนาครั้งใหม่ในการกลับมาเปิดทำการทางเศรษฐกิจอีกครั้งหลังจากที่เผชิญภาวะ Shutdown
ดัชนี S&P 500 ปิด +0.01% ที่ 2,930.19 จุด ทางด้าน Nasdaq ปิด +0.78% ที่ 9,192.34 จุด สำหรับดัชนีดาวโจนส์ปิดลงไป 109.33 จุด หรือ -0.45% ที่ 24,222.99 จุด
· เช้านี้ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์เปิด -45 จุด ขณะที่ S&P500 ฟิวเจอร์สทรงตัว ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ให้ความสนใจการกลับมาเปิดทำการทางเศรษฐกิจอีกครั้ง
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดแดนลบท่ามกลางภาวะการผ่อนคลาย Lockdown อย่างต่อเนื่องในยุโรปที่ดูจะจุดประกายให้เกิดการกลับมาแพร่ระบาดใหม่ในครั้งที่ 2 โดยดัชนี Stoxx600 ปิด -0.7% ทางด้านดัชนี IBEX ของสเปนปิด -0.75%, ดัชนีCAC40 ของฝรั่งเศสปิด -1.3% ขณะที่ดัชนี FTSE MIB ของอิตาลีปิด -0.3% และ DAX ของเยอรมนีปิด -0.7%
ทั้งนี้ นักลงทุนในยุโรปกำลังจับตาความคืบหน้าในภูมิภาค หลังหลายๆประเทศทยอยกลับมาคลาย Lockdown
· หุ้นเอเชียค่อนข้างทรงตัว รอข้อมูลเงินเฟ้อจีน
ตลาดหุ้นเอเชียเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในวันนี้ เนื่องจากเหล่านักลงทุนกำลังรอคอยข้อมูลเงินเฟ้อของจีนในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
โดยดัชนี Nikkei และดัชนี Topix ค่อนข้างทรงตัว ด้านดัชนี Kospi เกาหลีใต้ปรับตัวลดลง 0.38%
ขณะที่ดัชนี S&P/ASX 200 ออสเตรเลียลดง 0.67%
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับลดลง 0.3%
· นักบริหารการเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ระหว่าง 32.10-32.35 บาท/ดอลลาร์ โดยตลาดยังขาดปัจจัยชี้นำใหม่ๆ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้น-ซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยค่อนข้างมีจำนวนมาก จึงต้องรอดูรายงานอย่างเป็นทางการจากตลาดหลักทรัพย์ และยังคงต้องติดตามสถานการณ์โควิด หลังเริ่มมีการคลาย Lockdown ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อระลอกใหม่จะกลับมาอีกหรือไม่ รวมทั้งความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน พ.ค.63 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวหลังจากปรับตัวลงอยู่ในเกณฑ์ซบเซาติดต่อกัน 3 เดือน
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ นักเรียน นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านเกณฑ์แล้ว 14 ล้านคน ได้ทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้
- McKinsey ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากบริษัทชั้นนำ 5,000 บริษัทด้านมูลค่าตลาด (Market Capitalization) พบว่าภายหลังจากการเกิดวิกฤติโควิด-19 มูลค่ารวมของบริษัทมีการลดลงในทุกๆกลุ่มอุตสาหกรรม โดยกลุ่ม อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงเป็นอันดับต้นๆ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่ง Market Capitalization ลดลงไป กว่า 35%
- รัฐมนตรีการค้าเอเปค (กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก) ได้ออกแถลงการณ์เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะให้ความสำคัญกับการเปิดตลาดด้านการค้าและการลงทุนที่เสรี เป็นธรรม โปร่งใส และมีเสถียรภาพ เน้นสนับสนุนการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและบริการที่จำเป็นเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 โดยเฉพาะยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สินค้าเกษตร อาหาร และอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมทั้งรักษาความเชื่อมโยงทางการค้า และอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายบุคลากรข้ามพรมแดน พร้อมทั้งใช้มาตรการฉุกเฉินชั่วคราวที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้า และสอดคล้องกับกฎเกณฑ์องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ)
- รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ได้หารือร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ถึงแนวทางการกำหนดวงเงินพันธบัตรภาครัฐให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยคำนึงถึงแผนการระดมทุนภาครัฐและความต้องการลงทุนที่อาจปรับเปลี่ยนรวดเร็วในสภาวการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรมีความผันผวนเพิ่มขึ้น ในการนี้ธปท.จึงพิจารณาปรับแผนการออกพันธบัตร ธปท. ปี 63 โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้สำหรับแผนการออกพันธบัตร ธปท. เดือนพ.ค. 63 เป็นต้นไป
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) เดือนเม.ย.63 ซึ่งสำรวจจากความคิดเห็นของหอการค้าจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22-29 เม. ย.63 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนเม.ย.อยู่ที่ระดับ 32.1 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 37.5 และลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 โดยเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 28 เดือน หรือกว่า 2 ปี