• 7 ปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางต่อไปของตลาดหุ้นมีอะไรบ้าง?

    12 พฤษภาคม 2563 | SET News


เรากำลังเข้าใกล้ครึ่งหลังของปี 2020 หลังจากครึ่งแรกได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน สงครามราคาน้ำมันระหว่างรัสเซีย-ซาอุดิอาระเบีย และวิกฤตไวรัส COVID-19 ทำให้ตลาดมีความผันผวนตลอดครึ่งแรกของปีนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนจะเริ่มคาดเดาว่าทิศทางต่อไปของตลาดจะเป็นเช่นไร โดยใช้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

บทความจาก CNBC จึงนำเสนอปัจจัยสำคัญที่อาจกำหนดทิศทางต่อไปให้กับตลาดหุ้น โดยมี 7 ปัจจัยดังต่อไปนี้

 

1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นักลงทุนบางส่วนมีความคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าหลายๆประเทศจะเริ่มกลับมาเปิดทำการและผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ลงในเร็วๆนี้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวตามมา ขณะที่ธนาคาร Goldman Sachs ได้คาดการณ์ว่าอัตราการเติบของ GDP สหรัฐฯ ในปี 2021 จะสามารถเติบโตได้ 4% และ 3% ในปี 2022 และการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้สะท้อนถึงความหวังดังกล่าวอย่างชัดเจน

 

2. ยารักษา COVID-19

Dr David Ho ผู้บริหารสถาบันวิจัย Aaron Diamond AIDS Research Center ในเมืองนิวยอร์กที่โดดเด่นด้านงานวิจัยโรคเอดส์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อเร็วๆนี้ โดยระบุว่า “ท้ายที่สุด วิทยาศาสตร์จะเป็นผู้ชนะ” เชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนายารักษา COVID-19 ได้อย่างแน่นอน แต่ก่อนหน้านั้นรัฐบาลต้องช่วยยื้อเวลา ทำให้นักลงทุนมีความความหวังว่าการวิจัยและพัฒนายารักษาหรือวัคซีน ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความร่วมมือกันอย่างไม่หยุดหย่อนนั้น ท้ายที่สุดแล้วจะออกดอกออกผลในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

 

3. นโยบายจากเฟด

“อย่าขัดขืนเฟด” คำกล่าวเดิมๆที่ไม่เคยจะจริงแท้เท่ากับในปัจจุบัน โดยนักวิเคราะห์จากหลายๆสถาบันเชื่อว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากเฟดจะสามารถบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตไวรัส COVID-19 ได้เป็นบางส่วน ซึ่งนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด ได้กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่าอาจจำเป็นต้องมีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม เพื่อรักษาทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯให้แข็งแกร่งต่อไป

 

4. ราคาน้ำมันเริ่มทรงตัว

บรรดานักวิเคราะห์ราคาน้ำมันคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงเดือนต่อๆไป เนื่องจากเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มกลับมาทำการกันอีกครั้งทำให้ปริมาณอุปสงค์ในน้ำมันเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันจากบรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน

GP Hinduja นักธุรกิจที่มั่งคั่งที่สุดคนหนึ่งในสหราชอาณาจักร คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันอาจฟื้นตัวขึ้นไปถึงระดับ 40 - 50 เหรียญ/บาร์เรลได้ในระยะยาว ขณะที่ Naguib Sawiris มหาเศรษฐีจากอียิปต์ คาดว่าราคาน้ำมันจะขึ้นไปสูงยิ่งกว่านั้น โดยมองไว้ที่ 100 เหรียญ/บาร์เรลภายใน 18 เดือนข้างหน้า

 

5. ความตึงเครียดสหรัฐฯ-จีน

ตลาดเคยมีความหวังว่าความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนจะเริ่มจางหายไป หลังจากที่ทั้งสองประเทศสามารถร่วมลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกไปเมื่อเดือน ม.ค. ปีนี้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตไวรัส COVID-19 ที่ระบาดออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน ทำให้เกิดความกังวลว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศจะกลับมาหม่นหมองอีกครั้ง ซึ่ง Zhiwei Zhang ประธานและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน Pinpoint Asset Management ระบุว่าเมื่อพูดคุยกับนักลงทุนและสถาบันพาร์ทเนอร์อื่นๆแล้ว พบว่าพวกเขามีความกังวลกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนมากทีเดียว โดยเฉพาะในปีนี้ ที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

6. การผิดนัดชำระหนี้

บริษัทผู้ค้าปลีกรายใหญ่อย่าง J Crew และ JC Penney ได้ออกมาส่งสัญญาณความกังวลเกี่ยวกับภาวะหนี้สินของพวกเขา รวมถึงธุรกิจในกลุ่มสายการบิน น้ำมัน โรงแรม และการท่องเที่ยว ที่ต่างถูกฟ้องล้มละลายกันไปหลายรายทั่วโลก บรรดานักวิเคราะห์จึงกังวลว่านี่อาจเป็นปัจจัยที่ทำเกิดเป็นภาวะลูกโซ่ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นๆ และทำให้มีจำนวนคนว่างงานมากขึ้นรวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ โดย Jan Kniffen CEO ของ J Rogers ให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. โดยระบุว่า “ปัญหาที่แท้จริงกำลังใกล้เข้ามา” และเปรียบเทียบการปิดตัวของบรรดาบริษัทหลายรายว่าเหมือนถูกคลื่นสีนามิถล่ม ยกตัวอย่าง หากในประเทศมีภัตตาคารอยู่ 600,000 แห่ง ผลกระทบจากวิกฤตไวรัสจะทำให้อย่างน้อย 100,000 แห่งต้องปิดตัวลง หรือหากมีร้านค้า 500,000 แห่ง อย่างน้อย 30,000 แห่งก็จะต้องปิดตัว

 

7. การระบาดครั้งที่สอง

บางประเทศแม้จะมีระบบการตรวจคัดกรองและติดตามผู้ป่วย COVID-19 ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ แต่ประเทศที่มีการเดินทางเข้าออกประเทศมากๆ จะมีความเสี่ยงเผชิญการระบาดรอบที่สองมากกว่า Syra Madad ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อโรค ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ความเสี่ยงดังกล่าวมาจากความสามารถในการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส จึงมีความเสี่ยงมีจะเผชิญการระบาดมากกว่า 2 ครั้ง ตราบใดที่ยังคงมีเชื้อไวรัสอยู่บนโลก

 

ที่มา: CNBC


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com