· ดาวโจนส์ปิดปรับขึ้นกว่า 900 จุดทำรายวันดีที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเม.ย. จากความหวังเรื่องวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา
ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดระดับวันที่ดีที่สุดในรอบกว่า 1 เดือน จากข่าวที่บริษัท Moderna พบผลเชิงบวกต่อความเป็นไปได้ในการทดลองวัคซีน COVID-19
ดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้น 911.95 จุด หรือ +3.9% ที่ 24,597.37 จุด ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด +3.2% ที่ 2,953.91 จุด เป็นระดับปิดสูงสุดตั้งแต่ 6 มี.ค. ด้าน Nasdaq ปิด +2.4% ที่ 9,234.83 จุด เรียกได้ว่าดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 มีการปิดรายวันที่ดีที่สุดตั้งแต่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ Nasdaq ปิดรายวันดีที่สุดตั้งแต่ 29 เม.ย.
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับขึ้นต่อเนื่องจากกลุ่มนักลงทุนที่มีความมั่นใจต่อภาวะ Lockdown ที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ โดยดัชนี Stoxx600 ปิด +4% ท่ามกลางหุ้นกลุ่มทรัพยากรที่ปิด +8% หนุนนำให้หุ้นกลุ่มอื่นๆปิดแดนบวกตาม
นอกจากนี้ กลุ่มนักลงทุนยังตอบรับกับถ้อยแถลงของประธานเฟดที่เชื่อว่าจะเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวได้ในระยะปานกลาง
· ตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้เปิดปรับขึ้นจากความคาดหวังเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของวัคซีนป้องกัน COVID-19 หลังจากที่บริษัท Moderna เผยถึงผลตอบรับที่ดีในระหว่างการทดลองวัคซีน
ดัชนีนิกเกอิเปิด +2.44% ขณะที่ Topix เปิด +2.07% ด้าน Kospi ของเกาหลีใต้ก็เปิดปรับขึ้นไป +2.04%
ดัชนี S&P/ASX200 ของออสเตรเลียเปิด +1.56% ในขณะที่ MSCI ที่ไม่รวมตลาดญี่ปุ่นก็เปิด +0.77%
อย่างไรก็ดี ตลาดรอคอยข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นประจำเดือนมี.ค. ที่จะประกาศในวันนี้ หลังจากที่ข้อมูลจีดีพีญี่ปุ่นเมื่อวานนี้หดตัวไปมากถึง -3.4% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
· นักบริหารการเงินคาดการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ไว้ระหว่าง 31.90 – 32.20 บาท/ดอลลาร์ โดยตลาดให้ความสำคัญกับถ้อยแถลงของประธานเฟดในสัปดาห์นี้ ประกอบกับข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านของสหรัฐฯ ประจำเดือนเม.ย. ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 20 พ.ค. เราคาดว่าจะมีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 0.75% สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 0.50% เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ขณะที่นโยบายการเงินที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยและมาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทมากขึ้นในระยะถัดไป
· อ้างอิงจากสำนักข่าวประชาชาติ
- สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทได้รับปัจจัยบวกจากความคาดหวังการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย ส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นลำดับ เป็นเหตุผลให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเฟสที่ 2 เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 พ.ค. เช่น ลดเวลาเคอร์ฟิว เป็น 23.00 น. ไปจนถึง 04.00 น. และอนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้าในช่วงเวลาที่กำหนดตั้งแต่ 10.00 น. ไปจนถึง 20.00 น.
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 1/2563 ลดลง -1.8% เทียบกับการขยายตัว 1.5% ในไตรมาสที่ 4/62 จากตลาดคาด -4.5% ถึง -3.8% ด้านการใช้จ่ายการบริโภคาคเอกชนขยายตัวชะลอลง การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐและเอกชนปรับตัวลดลง และการส่งออกรวมปรับตัวลดลงตามการส่งออกบริการที่ปรับตัวลดลงมาก ในขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัว โดยคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 63 คาดว่าจะปรับตัวลดลง -6.0 ถึง -5.0% เนื่องจากการปรับตัวลดลงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, การลดลงรุนแรงของจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ, การระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาภัยแล้งโดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลง -8.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง -1.5% ถึง -0.5%
ทั้งนี้ตลาดยังติดตามผลการประชุมสำคัญของคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ในวันที่ 20 พ.ค. ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินถึงโอกาสที่คณะกรรมการ กนง.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง เพื่อช่วยลดภาระให้กับประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- ศบค. แถลง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 3 ราย รวมสะสม 3,031 ราย เป็นหญิง 2 ชาย 1 ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ผู้เสียชีวิตยังคงที่ 56 ศพ
- บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และรถไฟฟ้าบีทีเอส มีความพร้อมที่จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.63 เป็นต้นไป ซึ่ง กทม.จะหารือเพื่อกำหนดวันเปิดให้บริการอีกครั้ง
- นายเย็น ลอทเนอร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมทบทวนแผนการดำเนินงานปี 63 ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจไทยที่เผชิญกับความเสี่ยงกดดัน โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้จะติดลบราว 5.6% จึงส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินงานของธนาคาร
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อในปี 63 เดิมธนาคารตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 3-5% ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 2/63 และช่วงครึ่งปีหลังว่าความต้องการใช้สินเชื่อจะเป็นอย่างไร หลังจากที่ไตรมาส 1/63 สินเชื่อของธนาคารหดตัวเล็กน้อย -1.4% แม้จะมีแรงหนุนจากการขอใช้สินเชื่อซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาสนับสนุนส่วนหนึ่ง แต่อาจจะไม่สามารถช่วยฟื้นภาพรวมได้ทั้งหมด เพราะทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก อีกทั้งยังต้องติดตามว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์ต่างๆ จะกลับมาเป็นอย่างไรหลังจากที่ภาครัฐเริ่มคลายล็อกมาตรการต่าง ๆ แล้ว และโครงการลงทุนต่างๆจะมีทิศทางเป็นอย่างไร
- บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ตามที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มีคำสั่งขยายเวลาห้ามอากาศยานขนส่งผู้โดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.63 นั้น บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องขยายเวลาหยุดทำการบินชั่วคราวต่ออีก 1 เดือน ในเดือนมิถุนายน 2563
- "ชวน" ยันความพร้อมเปิดสภาสมัยสามัญ 22 พ.ค.นี้ เตรียมนัดทุกฝ่ายหารือปรับกระบวนการประชุมในสถานการณ์โควิด-19 โดยขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ส่งพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับมาแล้ว และร่างกฎหมายอื่นๆ หลายฉบับ ซึ่งในตลอดสมัยประชุมนี้ 120 วันสภาผู้แทนราษฎรจะมีงานหนักเพิ่มขึ้น และจะมีการหารือเรื่องเคอร์ฟิวเวลา 22.00-04.00 น.หากยังบังคับใช้อยู่จะพิจารณาปรับเวลาการประชุมให้เร็วขึ้น เพื่อให้เลิกประชุมก่อนถึงเวลาเคอร์ฟิว เพราะเป็นห่วงการเดินทางของเจ้าหน้าที่รัฐสภา