· ค่าเงินยูโรทรงตัวในแดนแข็งค่า ท่ามกลางแรงหนุนจากรายงานที่ว่าฝรั่งเศสและเยอรมนียื่นข้อเสนอให้กับสหภาพยุโรปเพื่อก่อตั้งกองทุนรวม จึงอาจเป็นอีกก้าวที่พัฒนาความสัมพันธ์ทางการเงินของสหภาพยุโรป ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ ท่ามกลางความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงที่ฟื้นตัวดีขึ้น
ค่าเงินยูโรแข็งค่า 0.15% แถว 1.0940 ดอลลาร์/ยูโร ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 1.09755 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งขึ้นไปได้เมื่อวานนี้ โดยนักวิเคราะห์มองว่า หากสามารถยืนเหนือระดับสูงสุดนี้ได้จะมีโอกาสขึ้นไปทดสอบระดับ 1.1019 ดอลลาร์/ยูโร ที่เป็นระดับสูงสุดของวันที่ 1 พ.ค.
· เมื่อวานนี้มีรายงานว่า ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้ยื่นข้อเสนอในการก่อตั้งกองทุนรวมมูลค่า 5 แสนล้านยูโร (5.43 แสนล้านเหรียญ) เพื่อเป็นเงินทุนช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาหนักที่สุด โดยให้คณะกรรมการของสหภาพยุโรปเป็นผู้อนุมัติปล่อยเงินกู้ในฐานะตัวแทนของทั้งสหภาพ
แต่ข้อเสนอดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเผชิญเสียงคัดค้านจากประเทศสมาชิกที่มั่งคั่งและเป็นชาตินิยม ซึ่งนักวิเคราะห์ก็ได้ระบุว่ายังเร็วเกินที่จะสามารถบอกได้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้ความเห็นชอบจากทั้งสหภาพหรือไม่
ด้านค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินเยนแข็งค่า 0.1% แถว 107.78 เยน/ดอลลาร์ ใกล้ระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 5 สัปดาห์ที่ 108.085 เยน/ดอลลาร์
ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวแถวระดับ 99.571 จุด โดยยังเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบเดิมตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.
ด้านค่าเงินปอนด์ทรงตัวแถว 1.2251 ดอลลาร์/ปอนด์ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าเล็กน้อยแถว 0.65385 ดอลลาร์ หลังเมื่อคืนขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนที่ 0.6585 ดอลลาร์
· EUR/USD Price Analysis: ยูโรเผชิญแนวต้านเป็นเส้นค่าเฉลี่ยราย 100 วัน
บทวิเคราะห์ค่าเงินยูโรจาก FX Street ระบุว่าค่าเงินยูโรในช่วงเช้านี้กำลังเคลื่อนไหวแถว 1.0930 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากเมื่อวานทดสอบไม่ผ่านแนวต้านที่เป็นเส้นค่าเฉลี่ยราย 100 วันแถว 1.0968 ดอลลาร์/ยูโร
ค่าเงินได้ขึ้นทดสอบเส้นค่าเฉลี่ยดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. โดยในวันนั้นค่าเงินได้เผชิญแรงขายอย่างหนักหลังจากทดสอบไม่ผ่านแนวต้าน ประกอบกับการที่ ณ ขณะนั้นภาพรวมระยะสั้นยังคงเป็นทิศทางขาลง หลังจากนั้นประมาณ 4 วันค่าเงินได้ฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่งจากแถว 1.0727 ดอลลาร์/ยูโร ขึ้นมา 1.10 ดอลลาร์/ยูโร
การที่ค่าเงินทดสอบไม่ผ่านเส้นค่าเฉลี่ยดังกล่าวเมื่อคืน ทำให้เกิดแรงเทขายตามมาและกดดันให้ค่าเงินเคลื่อนไหวสูงกว่าแนวรับ 1.0896 ดอลลาร์/ยูโร (ระดับสูงสุด 13 พ.ค.) ขึ้นมาเล็กน้อย การที่ค่าเงินกำลังเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยราย 100 วัน รวมถึงราย 50 วัน ขณะที่เส้น RSI ส่งสัญญาณว่าค่าเงินมีโอกาสจะกลับขึ้นทดสอบแนวต้านดังกล่าวอีกครั้ง ดังนั้นหากภายในวันนี้ค่าเงินสามารถยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ยราย 100 วันได้ จะทำให้เกิดแรงซื้อกลับเข้ามาและหนุนให้ค่าเงินปรับสูงขึ้นโดยมีแนวต้านถัดไปที่ระดับ 1.1014 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ยราย 200 วัน
อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินอ่อนค่าต่ำกว่า 1.0896 ดอลลาร์/ยูโร จะสะท้อนถึงทิศทางขาขึ้นที่อ่อนกำลัง เห็นได้จากกราฟแท่งเทียนรายวันที่มีการทำแท่งเทียนที่มีการทำปลายเทียนด้านบนค่อนข้างยาวไปเมื่อวาน เมื่อเป็นเช่นนั้นค่าเงินอาจเผชิญแรงเทขายและย่อกลับลงไปแถว 1.08 ดอลลาร์/ยูโร
· EUR/USD Forecast: ยูโรต้องยืนเหนือระดับ 1.0975 ให้ได้อย่างมั่นคงถึงจะยืนยันทิศทางขาขึ้น
บทวิเคราะห์ทางเทคนิคจาก FX Street ระบุว่าค่าเงินยูโรได้ย่อตัวลง หลังทดสอบไม่ผ่านระดับสูงสุดเดิมที่อยู่ใกล้เส้นแนวต้านของกรอบการเคลื่อนไหวเดิมระยะ 8 สัปดาห์ โดยแนวต้านดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.0975 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งจะเป็นแนวต้านสำคัญสำหรับระยะสั้น หากยืนเหนือแนวต้านนี้ได้ก็น่าจะมีแรงเข้าซื้อเข้ามาและหนุนให้ระยะสั้นกลับตัวเป็นขาขึ้นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นค่าเงินจะมีโอกาสขึ้นทดสอบเส้นค่าเฉลี่ยราย 200 วัน ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.1015 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากนั้นเป้าหมายต่อไปจะขยับขึ้นมาเป็นระดับ 1.1100 ดอลลาร์/ยูโร
อีกด้านหนึ่ง หากค่าเงินยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 1.0900 ดอลลาร์/ยูโร อาจทำให้เกิดแรงขายเข้ามาและกดดันให้ค่าเงินอ่อนค่าลงไปหาระดับ 1.0845 ดอลลาร์/ยูโร หากยังอ่อนค่าต่อจากระดับดังกล่าวก็จะแนวรับถัดไปที่ 1.0800 และ 1.0775 ดอลลาร์/ยูโร ตามลำดับ ถัดจากนั้นจะเป็นแนวรับทางจิตวิทยาที่ 1.0700 ดอลลาร์/ยูโร หากรยังไม่สามารถหยุดค่าเงินได้จะมีโอกาสลงไปถึงระดับต่ำสุดเดิมของปีนี้ที่ 1.0635 ดอลลาร์/ยูโร
· นักวิเคราะห์จาก JP Morgan ประเมินว่าทิศทางระยะสั้นของค่าเงินยูโรเป็นขาขึ้น หลังจากที่ค่าเงินสามารถขึ้นเหนือระดับ 1.0900 – 1.0910 ดอลลาร์/ยูโร มาได้ นับเป็นการ Breakout ทางเทคนิค และจะมีแนวต้านสำคัญที่ระดับ 1.1010 – 1.1030 ดอลลาร์/ยูโร
ก่อนหน้านี้ JP Morgan คาดการณ์ว่าค่าเงินยูโรจะปิดตลาดปี 2020 ที่ระดับ 1.11 ดอลลาร์/ยูโร เทียบกับคาดการณ์เดิมที่ 1.14 ดอลลาร์/ยูโร โดยทิศทางความเชื่อมั่นในตลาดจะขึ้นอยู่กับผลกระทบของวิกฤตไวรัสโคโรนาเป็นหลัก
· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวลดลงท่ามกลางสัปดาห์ที่ผันผวนมากในตลาดสหรัฐฯ ขณะที่นักลงทุนรอความคืบหน้าของวัคซีนไวรัสโคโรนาและความพยายามในการกลับมาเปิดทำการทางเศรษฐกิจ โดยอัตราผลตอบแทนอายุ 10 ปี ปรับตัวลงแตะ 0.6391% ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปี ปรับตัวลง 1.4181%
ความผันผวนส่วนใหญ่ในตลาดการเงินมาจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มของวัคซีน ประกอบกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวเตือนถึงการกลับมาเปิดทำการดูจะเปิดโอกาสให้เกิด Second Wave อีกระลอกได้
· ธนาคารกลางแห่งประเทศจีนมีมติคงอัตราดอกเบี้ยวันนี้ แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะมองว่าการประกาศคงดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นเพียงการชะลอการออกนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติมเป็นการชั่วคราวเท่านั้นก็ตาม
โดยธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปี ไว้ที่ระดับ 3.85% และระยะ 5 ปีไว้ที่ 4.65%
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่าจีนจะมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างเร็วที่สุดภายในการประชุมรัฐสภาประจำปีที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.
· บริษัท Rolls-Royce ของอังกฤษ จะทำการปรับลดพนักงานอย่างน้อย 9,000 ราย จากจำนวน 52,000 ราย และอาจมีการปิดโรงงานบางแห่งเพื่อให้สอดคล้องกับยอดเดินทางโดยเที่ยวบินดิ่งจากการระบาดของไวรัสโคโรนา
· รองหัวหน้าคณะกรรมการด้านการจัดการกับวิกฤตไวรัสโคโรนาของญี่ปุ่นกล่าวเตือนว่าญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการระบาดของไวรัสโคโรนาอีกระลอกหนึ่งก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว (ธ.ค. – ก.พ.)
คำเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีรายงานว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาผ่อนคลายภาวะฉุกเฉินในจังหวัดโอซาก้าและจังหวัดรอบๆภายในวันพฤหัสบดีนี้ แต่การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในเมืองโตเกียวมีแนวโน้มที่จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ เนื่องจากเมื่อวานนี้ โตเกียวมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ออกมาเพิ่มขึ้น 5 ราย
· สถาบันด้านการพัฒนาแห่งเกาหลี เสนอแนวคิดให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลงมาใกล้ระดับ 0% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาลงจากผลกระทบของวิกฤตไวรัสโคโรนา
ทั้งนี้ การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางเกาหลีใต้ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. โดยทางธนาคารกลางได้ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ระดับ 0.75% พร้อมส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับลดดอกเบี้ยครั้งต่อๆไป ตลาดจึงจับตาการประชุมของธนาคารกลางที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 28 พ.ค. นี้
· ผลการวิจัยล่าสุดจากสถาบันด้านสุขภาพระดับชาติค้นพบว่าเชื้อไวรัสโคโรนาในละอองน้ำลายที่เกิดจากการพูดคุยโดยปกติสามารถคงอยู่ในอากาศได้นาน 8 -14 นาที จึงเป็นสัญญาณเตือนว่าการติดเชื้อไวรัสอาจเป็นไปได้ง่ายยิ่งกว่าที่เคยคาดไว้
· สำนักงานสถิติ CBS เผย อัตราว่างงานในเนเธอร์แลนด์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ในเดือนเม.ย. ท่ามกลางมาตรการ Lockdown ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกลุ่มคนวัยทำงาน โดยอัตราว่างงานล่าสุดพุ่งแตะ 3.4% ในเดือนเม.ย. จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมี.ค. ที่ 2.9%
ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเดือนเม.ย. พุ่งขึ้นเกือบ 17% เมื่อเท่ียบกับเดือนมี.ค. และปรับขึ้นกว่า 13% เมื่อเทียบรายปี และมีประชาชนได้รับค่าแรงลดลงไป 160,000 รายในเดือนเม.ย. สู่ระดับ 8.9 ล้านราย
· ราคาน้ำมันดิบค่อนข้างทรงตัวในวันนี้ แม้ว่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ และสต็อกน้ำมันดิบที่ปรับตัวลง แต่ตลาดก็ยังกังวลว่าเศรษฐกิจจะดิ่งจากการระบาดของไวรัสโคโรนา และนั่นเป็นปัจจัยที่จำกัดการปรับขึ้นของราคา
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับขึ้น 10 เซนต์ หรือ +0.3% ที่ระดับ 34.75 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ WTI ปรับตัวลดลง 2 เซนต์ ที่ระดับ 31.94 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ปิดดิ่ง -1% เมื่อวานนี้
· WTI Price Analysis: WTI อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมขาลง
บทวิเคราะห์ทางเทคนิคจาก FX Street ระบุว่าราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในช่วงสายวันนี้กำลังเคลื่อนไหวแถวระดับ 32 เหรียญ/บาร์เรล โดยยังคงเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบเดิมตั้งแต่วันจันทร์ระหว่าง 31 – 33 เหรียญ/บาร์เรล
การเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆของราคาล่าสุดได้ก่อตัวเป็นลักษณะสามเหลี่ยมขาลง (Descending triangle) ในกราฟราย 1 ช.ม. โดยมีแนวต้านที่ 32.20 เหรียญ/บาร์เรล หากขึ้นเหนือระดับนี้ได้จะยืนยันการ Breakout จากกรอบสามเหลี่ยม และทำให้ทิศทางขาขึ้นจากระดับ 27 เหรียญ/บาร์เรลหรือตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ดำเนินต่อไปได้ และจะมีแนวต้านถัดไปที่ 33.10 เหรียญ/บาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ราคาจะกลับตัวเป็นขาลงในระยะสั้น หากราคาหลุดต่ำกว่าระดับ 31.24 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งจะเป็นการยืนยันถึงการ Breakdown จากกรอบสามเหลี่ยมและอาจผลักดันให้นักลงทุนพากันเทขายทำกำไรกันมากขึ้น ส่งผลให้ราคาเผชิญแรงกดดันลดลงต่ำกว่าระดับ 30 เหรียญ/บาร์เรล
เนื่องจากราคากำลังเคลื่อนไหวในกรอบสามเหลี่ยม ทิศทางระยะสั้นจึงเป็น Neutral แต่ในภาพรวมระยะยาวขึ้นมาดูจะมีสัญญาณของขาขึ้น เนื่องจากเส้นค่าเฉลี่ยราย 50, 100 และ 200 ช.ม. ต่างกำลังเคลื่อนไหวในขาขึ้นและเรียงตัวกันเป็นลำดับ