· ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในวันนี้ หลังจากที่เคลื่อนไหวอ่อนค่าตลอดช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากตลาดกลับมามีความระมัดระวังเกี่ยวกับประเด็นความตึงเครียดทางการค้า รวมถึงสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในวันนี้
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียและนีวซีแลนด์ รวมถึงค่าเงินยูโร ต่างอ่อนค่าลงในวันนี้เกือบครึ่งหนึ่งของที่ปรับแข็งค่าขึ้นไปได้เมื่อคืน ขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าต่อ เนื่องจากแรงกดดันจากกระแสคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงซบเซา รวมถึงสัญญาณที่ธนาคารกลางอังกฤษจะหันมาใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ
โดยค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าแถว 0.6561 ดอลลาร์ ต่ำกว่าระดับสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์ที่ขึ้นไปเมื่อวานนี้ลงมาประมาณเกือบ 1% ส่วนดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนค่า 0.6% จากระดับสูงสุดเมื่อวาน ลงเคลื่อนไหวแถว 0.6124 ดอลลาร์
ด้านค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินหยวนในประเทศ ปรับแข็งค่าขึ้นประมาณ 0.2% แถว 7.1031 หยวน/ดอลลาร์ ขณะที่ดัชนีดอลลาร์แข็งค่า 0.2% แถว 99.328 จุด
ค่าเงินปอนด์อ่อนค่า 0.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์แถว 1.2198 ดอลลาร์/ปอนด์ และอ่อนค่าทำระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อเทียบกับยูโร
· EUR/USD Forecast: ลุ้นยูโรยืนเหนือ 1.1000
บทวิเคราะห์จาก FX Street ระบุว่าค่าเงินยูโรในช่วงสายวันนี้ กำลังเคลื่อนไหวแถว 1.0980 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ภาพรวมระยะสั้นแม้จะอยู่ในแดน Overbought แต่มีโอกาสที่จะปรับขึ้นต่อได้ โดยในกราฟราย 4 ช.ม. เส้นค่าเฉลี่ย 20 SMA ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางขาขึ้น เหนือเส้นค่าเฉลี่ยที่มีระยะยาวกว่า สัญญาณจาก Technical indicators เริ่มทรงตัวในแดน Overbought ดังนั้นจึงต้องจับตาแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาที่ 1.1000 ดอลลาร์/ยูโร หากยืนเหนือแนวต้านนี้ได้ จะมีโอกาสลุ้นค่าเงินยูโรขึ้นต่อไปถึงระดับ 1.1120 ดอลลาร์/ยูโร
แนวรับ: 1.0950 1.0920 1.0890
แนวต้าน: 1.1010 1.1045 1.1090
· รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจแห่งญี่ปุ่นยืนยัน รัฐบาลจะยกเลิกภาวะฉุกเฉินสำหรับจังหวัดโอซาก้า เกียวโต และเฮียวโก ขณะที่โตเกียวและอีก 4 จังหวัดที่รวมเกาะฮอกไกโด จะยังคงอยู่ในภาวะฉุกเฉินต่อไปจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม
· การประกาศจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯในคืนนี้ ยังคงถูกคาดการณ์ว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนมีผู้ขอรับสวัสดิการเพิ่มอีกหลายล้านราย โดยส่วนหนึ่งน่าจะมาจากผู้ขอรับสวัสดิการที่ยังตกค้างในระบบของบางรัฐ และอีกส่วนหนึ่งมาจากกระแสการปลดพนักงานระลอกสอง
นักวิเคราะห์จาก TS Lombard ระบุว่า สาเหตุที่มีผู้ขอรับสวัสดิการตกค้างในบางรัฐ เนื่องจากระบบสวัสดิการของบางรัฐไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ยื่นเรื่องพร้อมกันเยอะๆได้ในคราวเดียว ส่วนกระแสการปลดพนักงานระลอกสองน่าจะมาจากผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตไวรัสในช่วงแรกๆ แต่เริ่มได้รับผลกระทบแบบลูกโซ่จึงเริ่มมีการปลดพนักงานตามมา
สำหรับการประกาศจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการคืนนี้ ถูกคาดการณ์ไว้ที่ 2.4 ล้านรายสำหรับสัปดาห์ของวันที่ 16 พ.ค. เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ได้รับการปรับปรุงตัวเลขใหม่เป็น 2.981 ล้านราย
หากการประกาศตัวเลขคืนนี้เป็นไปตามคาดหรือมากกว่า จะทำให้ยอดรวมผู้ขอรับสวัสดิการปรับขึ้นมาเป็น 38.9 ล้านราย นับตั้งแต่สัปดาห์ของวันที่ 21 มี.ค.
· ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย กล่าวว่า ระบบการเงินยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่การดำเนินนโยบายทางการเงินมีข้อจำกัด และระบบการเงินถือว่ามีความสำคัญ ดังนั้น นโยบายที่ทางธนาคารใช้ดูจะได้ผลตามที่คาดหวังไว้
เงินทุนและสภาพคล่องที่ใช้เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ จะช่วยลดอัตราทุนที่เหมาะสม
ความเชื่อมั่นแม้จะค่อนข้างเปราะบาง ซึ่งปัญหาสุขภาพทั่วโลกเป็นตัวบ่งชี้ว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ
อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายที่คุมเข้มไม่ถือเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว พร้อมกันนี้ยังระบุถึงการที่ธนาคารกลางออสเตรเลียจะไม่ใช้นโยบายติดลบ
· สถาบันวิจัยด้านโรคติดต่อสายพันธ์ใหม่ จาก Duke-NUS Medical School ในสิงคโปร์ ระบุว่าวัคซีนสำหรับไวรัสโคโรนาที่ทางสถาบันกำลังพัฒนา อาจเข้าสู่กระบวนการวิจัยทางคลีนิคอย่างเร็วที่สุดภายในเดือนหน้า
· วุฒิสภาสหรัฐฯผ่านร่างนโยบายที่จะกำหนดให้ภาครัฐสามารถแบนบริษัทจีนไม่ให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯหรือระดมทุนจากนักลงทุนชาวสหรัฐฯได้โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯเสียก่อน
โดยในร่างนโยบายดังกล่าวที่นายจอห์น เคนเนดี้ ส.ว. รีพับลิกันจากรัฐหลุยส์เซียนา เป็นผู้เสนอ ได้กำหนดไว้ว่าบริษัทต่างชาติที่ต้องการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯต้องรับรองให้ได้ว่าพวกเขาไม่ได้ถูกควบคุมหรือมีเจ้าของเป็นรัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่ง ขณะที่หุ้นของ Alibaba ที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ปรับลดลงกว่า 2% หลังทราบข่าวดังกล่าว
· ศาสตราจารย์จาก Yale University มีมุมมองว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆเมื่อเข้าใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือน พ.ย. เนื่องจากทีมบริหารของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดูจะมีเป้าหมายสูงสุดเป็นการเอาชนะการเลือกตั้ง และการดำเนินนโยบายกดดันจีนผ่านทางการค้าก็ดูจะเป็นวิธีที่ทำให้นายทรัมป์สามารถฟื้นความนิยมกลับคืนมาได้
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯจะเดินหน้ากดดันการค้ากับจีนต่อ โดยอาจเป็นการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ตลอดจนการชะลอการชำระหนี้ให้กับจีน ตามที่นักวิเคราะห์บางรายได้วิเคราะห์เอาไว้
· ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นทำระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. หลังมีรายงานปริมาณสต็อกน้ำมันสหรัฐฯที่ออกมาลดลง รวมถึงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของผู้ผลิตรายอื่นๆ จึงช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาดลงไปได้บ้าง แม้ว่าตลาดจะยังคงกังวลกับผลกระทบของวิกฤตไวรัสโคโรนาที่มีต่ออุปสงค์ก็ตาม
โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ส่งมอบเดือน มิ.ย. ปรับสูงขึ้น 0.62 ดอลลาร์ หรือ 1.7% แถว 36.37 เหรียญ/บาร์เรล นับเป็นการปรับขึ้นติดต่อกันวันที่ 2
ขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มิ.ย. ปรับสูงขึ้น 0.61 ดอลลาร์ หรือ 1.8% แถว 34.10 เหรียญ/บาร์เรล นับเป็นการปรับขึ้นติดต่อกันวันที่ 6
· บรรดาผู้ค้าปลีกน้ำมันในอินเดียคาดการณ์ว่า ปริมาณอุปสงค์น้ำมันภายในประเทศอินเดียอาจต้องเวลาหลายเดือนกว่าจะสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับปกติได้ ซึ่งอาจเป็นช่วงปลายปี 2020 ท่ามกลางเศรษฐกิจของอินเดียที่ยังคงซบเซาเนื่องจากคำสั่งล็อคดาวน์ของรัฐบาล
ทางด้านประธานของ Hindustan Petroleum Corp. ระบุว่าปริมาณอุปสงค์ในปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 60 – 70% ของระดับปกติ แต่ต้องเวลาอีกสักระยะจนกว่าจะฟื้นกลับขึ้นไปถึงระดับก่อนเกิดวิกฤตไวรัสโคโรนา โดยในอีก 2-3 ข้างหน้าปริมาณอุปสงค์อาจฟื้นกลับมาสู่ระดับ 80% ของยอดขายปกติได้ ซึ่งถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้าทีเดียว