· EUR/USD Price Analysis: ยูโรฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 3 วัน ขึ้นมาแถว 1.0900
บทวิเคราะห์จาก FX Street ระบุว่าค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ประมาณ +0.14% แถว 1.0911 ดอลลาร์/ยูโร จึงทำให้ค่าเงินสามารถฟื้นตัวเหนือเส้นค่าเฉลี่ย SMA ราย 21 และ 50 วัน และยังเป็นการแข็งค่าขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรอบ 3 วันทำการ
ทั้งนี้ ทิศทางขาขึ้นระยะสั้นของค่าเงินจะมีเป้าหมายอยู่แถวระดับ 1.0965 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับ 38.2% Fibonacci retracement วัดจากระดับต่ำสุดของเดือน มี.ค. ส่วนแนวต้านถัดไปจะอยู่ที่ระดับ 1.1010 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
กรณีที่ค่าเงินสามารถยืนเหนือระดับ 1.1010 ดอลลาร์/ยูโร ก็จะมีเป้าหมายถัดไปที่ 1.1020 ดอลลาร์/ยูโร ส่วนโอกาสที่ทิศทางขาขึ้นจะสามารถดำเนินต่อไปได้หรือไม่นั้น ต้องคอยดูว่าค่าเงินจะสามารถทรงตัวเหนือระดับนี้ได้หรือไม่
ในขณะเดียวกัน หากค่าเงินอ่อนค่าและปิดตลาดวันนี้ต่ำกว่า 1.0880 – 1.0875 ดอลลาร์/ยูโร ค่าเงินอาจถูกเทขายอ่อนค่าลงมาแถว 1.0838 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับ 23.6% Fibonacci retracement
ถัดไปจากนั้น ค่าเงินจะมีแนวรับสำคัญอยู่แถวระดับ 1.0805 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นแนวรับของเส้นเทรนขาขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.
· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีปรับขึ้นแตะ 0.6916% ขณะที่พันธบัตรอายุ 30 ปี ปรับขึ้นแตะ 1.4050% ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่ค่อนข้างเบาบางจากการเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยวันหยุด ท่ามกลางตลาดที่เริ่มมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นเกี่ยวกับวัคซีน จึงช่วยให้เกิดสภาวะ Risk-On ในกลุ่มนักลงทุน
Novavax บริษัทไบโอเทคของสหรัฐฯ กล่าวถึงการเริ่มต้นทดลองวัคซีนไวรัสโคโรนาทดสอบกับมนุษย์รายแรก และผลทดลองในเบื้องต้นว่ามีความปลอดภัยรวมถึงระบบภูมิคุ้มกันถูกคาดว่าจะทราบผลในช่วงเดือนก.ค.
ขณะที่ประเทศสหรัฐฯเริ่มมีการกลับมาเปิดทำการทางเศรษฐกิจอีกครั้ง จำนวนยอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศล่าสุดก็มียอดพุ่งทะลุ 1.6 ล้านรายเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 98,000 ราย
อย่างไรก็ดี กลุ่มนักลงทุนให้ความสำคัญกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน จากท่าทีตำหนิการระบาดของไวรัสโคโรนา และล่าสุดเรื่องการที่จีนออกกฎหมายความมั่นคงฮ่องกง จึงส่งผลให้เกิดท่าทีคุกคามข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมลงนามกันไว้เมื่อเดือนม.ค.
· ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ดเตือน สุดท้ายจะมีแต่ผู้แพ้ในความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน
Graham Allison ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การเมืองประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เตือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและจีนดูมีท่าทีจะย่ำแย่ลงเรื่อยๆ และผลลัพธ์ของความขัดแย้งครั้งนี้จะจบลงโดยที่มีแต่ผู้แพ้เท่านั้น
คำเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากผู้นำของทั้งสองประเทศ คือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน พยายามกล่าวโทษอีกฝ่ายเกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนา ซึ่งความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นครั้งนี้อาจนำไปสู่ความล้มเหลวของข้อตกลงการค้าเฟสแรก
นอกเหนือจากศาสตราจารย์ Allison แล้ว ก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศด้วยเช่นกัน บางคำเตือนก็เกิดขึ้นก่อนวิกฤตไวรัสเสียอีก โดยเฉพาะความกังวลว่าจีนอาจไม่สามารถดำเนินการตามข้อตกลงเฟสแรกว่าด้วยการเข้าซื้อสินค้าการเกษตรจากสหรัฐฯเป็นมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญภายในปี 2021 ยิ่งอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังอ่อนแอจากวิกฤตไวรัสด้วยแล้ว
ขณะที่บางส่วนก็ได้เตือนว่าความขัดแย้งครั้งนี้อาจนำไปสู่สงครามเย็นครั้งใหม่ แม้ว่า Cheng Li นักวิจัยจากสถาบัน Brookings Institution จะมองว่าทั้งสองประเทสไม่มีความพร้อมที่จะก่อสงครามเย็นร่วมกันก็ตาม แต่ก็ได้ยอมรับว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเลวร้ายลงเร็วกว่าที่คิด
· รองประธานจากสถาบัน Teneo Risk Advisory มีมุมมองว่า ร่างกฏหมายว่าด้วยความมั่นคงสำหรับฮ่องกงที่รัฐบาลจีนเป็นผู้ร่างขึ้นมานั้นอาจเป็นข่าวร้ายสำหรับชาวฮ่องกงที่ต้องการสิทธิและเสรีภาพ แต่สำหรับนักลงทุนแล้ว ร่างกฏหมายดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อความเชื่อมั่นในตลาดฮ่องกงเท่านั้น
โดยระบุว่าเป็นเพราะบรรดานักลงทุนรายใหญ่ที่มักเป็นบริษัทข้ามชาติ หรือกองทุนขนาดใหญ่ที่มีส่วนแบ่งในตลาดจีน น่าจะมีมุมมองว่าร่างกฏหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นร่างกฏหมายที่กระทบต่อตลาดหรือความน่าเชื่อถือของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียแต่อย่างใด
· รัฐบาลจีนมีการเสนอร่างกฏหมายที่จะบังคับให้ติดตามสุขภาพของประชาชนผ่านแอพลิเคชั่นมือถือแบบถาวร ซึ่งจะเป็นการกำหนดคะแนนสุขภาพให้กับประชาชน โดยอ้างอิงจากปัจจัยจำพวกปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป หรือระยะเวลาที่นอนหลับ เป็นต้น
· ผู้ว่าธนาคารกลางแห่งประเทศจีนยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าเสริมความเข้มแข็งให้กับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงจะมีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยถ้อยแถลงดังกล่าวได้ทำให้ตลาดมีกระแสคาดการณ์มากขึ้นเกี่ยวกับโอกาสที่ธนาคารกลางจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม
· รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศอัดฉีดเงินเพิ่ม 3.3 หมื่นล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ หรือ 2.32 หมื่นล้านเหรียญ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ มีการปรับลดคาดการณ์จีดีพีสู่กรอบ -4.0% ถึง -7.0% ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นการปรับลดการเติบโตครั้งที่ 3 ของปีนี้
· นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น ส่งสัญญาณว่าทางธนาคารกลางอาจมีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจจากผลกระทบของวิกฤตไวรัสโคโรนา พร้อมระบุถึงทิศทางของเศรษฐกิจในอนาคตที่ยังคงหม่นหมอง แม้ว่าหลายๆพื้นที่ของญี่ปุ่น รวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงโตเกียว จะยกเลิกภาวะฉุกเฉินไปแล้วก็ตาม
· วันนี้หนึ่งในสมาชิกอีซีบี กล่าวว่า การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเป็นไปอย่างยืดหยุ่น และไม่เป็นการเพิ่มยอดหนี้ให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ สำหรับการเข้าซื้อพันธบัตรหรือ PEPP
ขณะที่ความพยายามของอีซีบีีในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลขนานใหญ่มีขึ้นเพื่อพยายามที่จะช่วยเหลือเศรษฐกิจที่เผชิญกับวิกฤตไวรัสโคโรนาผ่านโปรแกรม PEPP (Pandemic Emergency Purchase Program) ที่ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนมี.ค. ที่จะเห็นได้ถึงการเข้าซื้อพันธบัตรจนถึงสิ้นปีนี้ด้วยวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร (8.18 แสนล้านเหรียญ)
· นายสก็อต มอริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ระบุว่าออสเตรเลียจะยังไม่เปิดชายแดนในเร็วๆนี้อย่างแน่นอน แต่ทางรัฐบาลจะยังคงพยายามเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างนิวซีแลนด์เกี่ยวกับการเปิดพื้นที่เดินทางแบบปลอดภัย (Safe travel zone) ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ
· ประเทศซาอุดิอาระเบียจะทำการยกเลิกเคอร์ฟิวเริ่มต้น 21 มิ.ย. โดยยกเว้นเพียงเมือง Mecca โดยการประกาศดังกล่าวถูกทบทวนมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นสัปดาห์ ขณะที่คำสั่งห้ามการเดินทางภายในประเทศ รวมทั้งการเดินทางไปยังสถานที่ราชการหรือสถานปฏิบัติธรรมจะถูกยกเลิกในช่วงสิ้นเดือนนี้
· ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นได้ในวันนี้ ท่ามกลางตลาดที่มีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นว่าบรรดาผู้ผลิตจะยึดมั่นกับมาตรการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันที่ร่วมตกลงกันไว้ ประกอบกับการที่ปริมาณอุปสงค์เริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ ท่ามกลางจำนวนรถยนต์ที่กลับมาวิ่งบนถนนเป็นจำนวนมากขึ้น เนื่องจากหลายๆประเทศเริ่มคลายมาตรการล็อคดาวน์
โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับขึ้นได้ 3.4% หรือ 1.12 เหรียญ แถว 34.37 เหรียญ/บาร์เรล ระหว่างวันทำระดับสูงสุดที่ 34.54 เหรียญ/บาร์เรล
เนื่องจากเมื่อวานนี้เป็นวันหยุด Memorial Day ของสหรัฐฯ จึงส่งผลให้ไม่มีราคาปิดตลาดของสัญญาน้ำมัน WTI
ด้านราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับขึ้นได้ 1.7% หรือ 0.61 เหรียญ แถว 36.14 เหรียญ/บาร์เรล ขึ้นต่อจากเมื่อวานที่ขึ้นได้ 1.1%
ตลาดยังมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น หลังจากรัสเซียเปิดเผยว่าอัตราการผลิตน้ำมันของประเทศได้ปรับลดลงใกล้ระดับเป้าหมายของพวกเขาที่ 8.5 ล้านบาร์เรล/วัน สำหรับเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ตามข้อตกลงร่วมกับกลุ่ม OPEC และบรรดาผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ ที่ถูกเรียกรวมกันว่ากลุ่ม OPEC+