ดัชนีดาวโจนส์ปิด +553.16 จุด หรือ +2.2% ที่ระดับ 25,548.27 จุด และถือเป็นการปรับขึ้นเหนือ 25,000 จุดได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมี.ค.
สำหรับดัชนี S&P500 ปิด +1.5% ที่ 3,036.13 จุด หลังจากที่เปิดลบในช่วงต้นตลาด และภาพรวมยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ยราย 200 วันได้ ซึ่งถือเป็นระดับสำคัญที่เหล่าเทรดเดอร์ให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันดัชนีก็กลับมายืนเหนือ 3,000 จุดได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มี.ค. ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิด +0.8% ที่ 9,412.36 จุด
ทั้งนี้ ดัชนี S&P500 มีการปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 38% หลังจากที่ลงไปทำต่ำสุดเมื่อ 23 มี.ค. ท่ามกลางความหวังเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและวัคซีน ขณะที่ล่าสุด ผู้อำนวยการสถาบันการติดเชื้อและโรคติดต่อเผยวานนี้ว่า สหรัฐฯจะสามารถหลีกเลี่ยง Second Wave ได้ในช่วงปลายปีนี้
· เช้านี้ดัชนีสหรัฐฯฟิวเจอร์ ทั้งดาวโจนส์และ S&P500 เปิดบวกต่อตามการปิดบวกของดัชนีหลักเมื่อคืนนี้
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวสูงขึ้นตามข่าวแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจชุดใหญ่ของอียู โดยดัชนี Stoxx 600 ปิด +0.2% ด้านหุ้นธนาคารของเยอรมนี, ฝรั่งเศส และอังกฤษปรับตัวขึ้นไปได้เกือบ 4% ขณะที่หุ้นกลุ่มสุขภาพปรับลง 2.5%
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการอียูเผยแผนกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านเหรียญ หลังจากที่ทางเยอรมนีและฝรั่งเศสทำการยื่นเสนอในสัปดาห์ที่แล้ว
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้นในการซื้อขายช่วงเช้า หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯพุ่งสูงขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา จากมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการกลับมาเปิดทำการอีกครั้งของเศรษฐกิจที่ช่วยหนุนความเชื่อมั่นให้แก่เหล่านักทุน
โดยดัชนี Nikkei เพิ่มขึ้น 1.17% จากหุ้น Fast Retailing ที่พุ่งสูงขึ้น 2.37% ด้านดัชนี Topix เพิ่มขึ้น 0.93% และดัชนี Kospi เกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้น 0.64%
รวมทั้งดัชนี S&P/ASX 200 ออสเตรเลียที่ปรับตัวสูงขึ้น 0.81%
ทั้งนี้ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น 0.29%
· นักบริหารเงิน คาดว่าวันนี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.80 - 31.95 บาท/ดอลลาร์ โดยตลาดจับตารอดูข้อมูล เศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย. อยู่ที่ 79.04 หดตัว -17.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 51.87% ขณะที่ใน 4 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค.-เม.ย.) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลง -8.8% อัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 63.11%
- อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย.63 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 3,996 ราย ลดลง 1,948 ราย จากเม.ย. 62 (-33%) และลดลง 2,070 ราย จากมี.ค.63 (-34%) โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 9,012 ล้านบาท ลดลงจากเม.ย.62 และ มี.ค.63 เช่นเดียวกัน
- นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้นำเสนอพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ วงเงินไม่เกิน 1.9 ล้านล้านบาทให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยระบุถึงความจำเป็นในการเข้าไปช่วยเหลือและดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้เกิด
ความเสียหายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ทางการแพทย์ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ในส่วนของไทยจึงต้องมีมาตรการรับมือและแก้ปัญหา ทั้งด้านสุขภาพของประชาชน และด้านเศรษฐกิจที่ต้องพบกับภาวะชะงักอย่างฉับพลัน
- รมว.คลังของไทย ระบุว่า การกู้ครั้งนี้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบรัดกุมแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อเยียวยา เพื่อรักษาสภาพคล่องเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบ ตลอดจนการรักษาเสถียรภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลผลกระทบเฉียบพลันที่เกิดขึ้นทันที ให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพียงพอยังชีพในภาวะที่เศรษฐกิจถูกกระทบ รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs และการปกป้องรักษา เสถียรภาพระบบเศรษฐกิจตลาดเงิน และตลาดทุน ซึ่งเป็นแนวทางสากล โดยมีกรอบดำเนินการที่รัดกุมและดำเนินการทุกอย่างอยู่ในกรอบกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันภายใต้ 4 ตัวชี้วัด