• สรุปข่าวตลาดหุ้น (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2563

    1 มิถุนายน 2563 | SET News
 

· สหรัฐฯปิดเดือนสูงสุดจากภาวะผ่อนคลายความขัดแย้งทางการค้าสหรัฐฯ-จีน

ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวสูงขึ้นในคืนวันศุกร์ หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศมาตรการตอบโต้จีนสำหรับกรณีกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงไว้น้อยกว่าที่ขู่เอาไว้หรือกว่าที่นักลงทุนเป็นกังวล ขณะที่ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กเดินตามแผนการเปิดทำการเฟสแรกวันที่ 8 มิ.ย. พร้อมกับอีก 5 รัฐในสหรัฐฯที่จะเริ่มเข้าสู่การกลับมาเปิดทำการเฟส 2 สำหรับถ้อยแถลงของประธานเฟดผ่าน Webcast ยังคงกล่าวย้ำว่า เฟดจะใช้ทุกเครื่องมือที่มีในการสนับสนุนเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯอ่อนตัวลงในช่วงปิดตลาดเล็กน้อย จากการที่นายทรัมป์ กล่าวว่าจะทำการถอนสถานะพิเศษฮ่องกงเพื่อตอบโต้จีน แต่นายทรัมป์ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดการดำเนินการใดๆที่อาจเกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ลงนามกันไปเมื่อช่วงต้นเดือนม.ค. อย่างที่ตลาดเป็นกังวล

ดัชนีดาวโจนส์ปิดอ่อนตัวลงเล็กน้อยในช่วงปลายตลาด โดยปิด -17.53 จุดหรือ -0.07% ที่ระดับ 25,383.11 จุดขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดปรับขึ้น +0.48% ที่ 3,044.31 จุด และดัชนี Nasdaq ปิด +1.29% ที่ระดับ 9,489.87 จุด

ภาพรวมสัปดาห์ที่ผ่านมา 3 ดัชนีหลักยังคงปรับตัวขึ้นได้ทั้งหมดและทำให้ภาพรายเดือนพ.ค. ยังคงเป็นการปรับตัวขึ้นต่อเป็นเดือนที่ 2 โดยเฉพาะดัชนี S&P500 ในช่วงเดือนเม.ย. - พ.ค. ปรับขึ้นไปได้กว่า 17.8% ซึ่งเป็นระดับการเพิ่มขึ้นราย 2 เดือนที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 2009

สัปดาห์ที่แล้วดาวโจนส์และ S&P500 ปิดปรับขึ้นกว่า 3% และ Nasdaq ปรับขึ้นกว่า 1.8% ในขณะที่ภาพรวมรายเดือน ดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้น 3.9%, ดัชนี S&P500 ปรับขึ้น 4.5% และ Nasdasq ปรับขึ้น 6.8% ในเดือนพ.ค.

· ดัชนีสหรัฐฯฟิวเจอร์สเช้านี้เปิดอ่อนตัวลงนำโดยดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์สที่เปิด -217 จุดในเช้านี้ หรือคิดเป็น -0.9% ทางด้าน S&P500 และ Nasdaq 100 ฟิวเจอร์สเปิด +0.9%

และสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจคือ

1. การกลับมาเปิดทำการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ท่ามกลางเหตุประท้วงทั่วทุกพื้นที่สหรัฐฯ

2. บรรดาเทรดเดอร์ยังคงให้ความสนใจไปยังความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีน หลังจากนายทรัมป์ ประกาศยุติบทบาทสถานะทางการค้าพิเศษฮ่องกง

3. ผลทดสอบวัคซีนบริษัทพิซเซอร์ (Pfizer) ออกมาน่าผิดหวังฉุดความเชื่อมั่นตลาด และกดดันให้หุ้นบริษัทลดลงกว่า 6%

· ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลงท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ดูจะกดดันความเชื่อมั่นเชิงบวกต่อการกลับมาเปิดทำการทางเศรษฐกิจของนานาประเทศ โดยดัชนี Stoxx600 ปิดปรับลง 1.6% ขณะที่ภาพรวมเดือนพ.ค. ดัชนีตลาดหุ้นยุโรปปรับขึ้นได้กว่า 3% และถือเป็นเดือนที่ 2 ที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่เดือนเม.ย. ปิดเดือนที่ +6%

· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผสมผสาน จีนเผยกิจกรรมการผลิตพ.ค. ขยายตัว

ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผสมผสานกันในเช้านี้ จากข้อมูลเศรษฐกิจจีนช่วงปลายสัปดาห์ที่ยังสะท้อนได้ดีในเดือนพ.ค. โดยดัชนีนิกเกอิเปิด +0.56% ขณะที่หุ้นบริษัท Softbank Group เปิด +2.07% ทางด้านดัชนี Topix เปิด +0.3%

ดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +0.77% ที่ยอดส่งออกพ.ค. หดตัวลง 23.7% เมี่อเทียบรายปี ขณะที่ภาคการผลิตจีนขยายตัวได้เหนือระดับ 50 จุดเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับ 50.6 จุดในเดือนพ.ค.

· นักบริหารการเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ไว้ที่ระหว่าง 31.55-32.10 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 และการปลดล็อกเศรษฐกิจในประเทศระยะที่ 3

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิต-ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค. รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนเม.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป ดัชนี PMI ภาคการผลิต-ภาคบริการเดือนพ.ค. ของจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน และอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนพ.ค. ด้วยเช่นกัน

โดยในรอบสัปดาห์นี้ ค่าเงินบาททยอยแข็งค่า หลังขยับอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางท่าทีที่ตึงเครียดมากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ-จีน อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงต่อมา โดยมีแรงหนุนจากทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นรับข่าวการพัฒนาวัคซีนรักษาโควิด-19 และการทยอยปลดล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ (รวมไทย)

ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามแนวนโยบายของสหรัฐฯ ต่อกรณีที่จีนประกาศบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง

· อ้างอิงจากสำนักข่าวบีบีซี

- ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ตามคาดภายหลังเปิดอภิปรายกันมา 5 วัน

การอนุมัติ พ.ร.ก. ที่รัฐบาลตราขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของสภาล่างถือเป็นมติแรกในระหว่างการประชุมสภาสมัยสามัญ

· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์

- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้เศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย.ได้รับผลกระทบชัดเจนจากโควิด-19 อย่างชัดเจน โดยเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเกือบทุกตัวหดตัว มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวได้ เสถียรภาพเศรษฐกิจมีความเปราะบางมากขึ้น สิ่งที่น่ากังวลคือตลาดแรงงาน และภาคการท่องเที่ยวหดตัว 100% นอกจากนี้ การส่งออกหดตัวรุนแรงมาจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่หายไปจากที่มีการล็อกดาวน์ คาดว่าในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น

- แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค. ธปท.ยังคาดการณ์ว่าการหดตัวของเศรษฐกิจยังอยู่ระดับสูง แต่สถานการณ์อาจดีขึ้นบ้างจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ รวมทั้งมีเงินโอนจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ตามโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยได้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ภาพรวมก็ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิ.ย. ซึ่งเชื่อว่าไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากสุดในปีนี้

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com