· S&P500 และ ดาวโจนส์อ่อนตัวรอผลประชุมเฟด ด้าน Nasdaq ปิดพุ่งเป็นประวัติการณ์
ดัชนี S&P500 และดัชนีดาวโจนส์ ปรับตัวลงหลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วง 2 วันก่อนหน้า โดยตลาดกลับมาให้ความสนใจต่อผลการประชุมเฟดในคืนนี้ ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดทำ All-Time High ต่อเนื่อง 2 วันทำการหลังจากที่ระหว่างวันทำสูงสุดเหนือ 10,000 จุดได้เป็นครั้งแรก
ดัชนีดาวโจนส์ปิด -300.14 จุด หรือ -1.09% ที่ระดับ 27,272.3 จุด ด้าน S&P500 ปิด -0.78% ที่ 3,207.18 จุด ขณะที่ Nasdaq ปิด +0.29% ที่ 9,953.75 จุด
การประชุมเฟดที่จะเริ่มต้นขึ้นในช่วง 2 วันนี้ ตลาดยังคงรอการประกาศจากเฟด โดยนักลงทุนรอดูทิศทางเศรษฐกิจจากผลประชุมในคืนนี้ ว่าจะเป็นอย่างไรในช่วงกลับมาเปิดทำการหลังจากที่ปิดชั่วคราวจากพิษไวรัสระบาด
· หุ้นยุโรปปิดลบแม้จะหวังเห็นเศรษฐกิจฟื้น
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงจากแรงขายทำกำไร แม้บรรดานักลงทุนจะเล็งเห็นโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังเผชิญการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยดัชนี Stoxx600 ปิดลดลงกว่า -1% ท่ามกลางหุ้นกลุ่มหลักส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวแดนลบ
· หุ้นเอเชียร่วง, รอข้อมูลเงินเฟ้อจีนเช้านี้
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลง ก่อนหน้าจะทราบผลการประกาศข้อมูลเงินเฟ้อของจีนประจำเดือนพคที่ผ่านมา
โดยเช้านี้ ดัชนี Nikkei ลดลง 0.81% โดยหุ้นผู้ผลิตหุ่นยนต์ Fanuc ลดลง 2.27% ด้านดัชนี Topix ลดลง 0.74% ดัชนี Kospi เกาหลีใต้ลดลง 0.3%
ดัชนี S&P/ASX 200 ออสเตรเลียลดลง 0.36% ขณะที่ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นลดลง 0.24%
ทั้งนี้ เหล่านักลงทุนกำลังรอคอยผลการประชุมเเฟดในวันนี้
· นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ระหว่าง 31.20-31.40 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทยังวิ่งตามแนวโน้มทิศทางแข็งค่า ขณะที่ตลาดน่าจะรอดูผลการประชุมเฟด แถลงมติอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากรฯ จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ (e-Service)ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น ดาวน์โหลดหนัง เพลง เกมส์ การจองโรงแรม จากแพลตฟอร์มต่างประเทศโดยไม่เสียมูลค่าเพิ่ม
- ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า เงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสมจากรัฐวิสาหกิจและกิจการฯ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (1 ต.ค.62-31 พ.ค.63) จำนวน 149,283 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายสะสมจำนวน 4,748 ล้านบาท หรือคิดเป็น 79% ของเป้าหมายทั้งปีงบประมาณ 2563 จำนวน 188,800 ล้านบาท
· อ้างอิงจากสำนักข่าว Workpoint Today
ทุกสำนักคาดการณ์ เศรษฐกิจไทยปี 63 ติดลบ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ออกมาเปิดเผยว่า สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารคือสาขาที่โดนหนักที่สุด ลดลงถึงร้อยละ 24.1
ส่วนข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้าสู่ภาวะ pandemic ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย นอกจากนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดปัญหาการชะลอตัวของการผลิตในหลายประเทศ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทาง
ขณะที่ทางธนาคารโลกก็มองว่าการพึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวร้อยละ 13-16 จะทำให้ GDP ของไทยติดลบในสภาวะเช่นนี้ ยังไม่รวมถึงการบริโภค นำเข้า ส่งออก และการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มลดต่ำลงเช่นกัน
เมื่อมองดูภาพรวมของอาเซียน ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) คาดว่าไทยจะเป็นประเทศที่มี GDP ปรับตัวลดลงสูงที่สุดในอาเซียน และคาดว่าเวียดนามจะโตมากที่สุดที่ 4.8%
ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF แม้จะประเมิน GDP ของไทยออกมาเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำกว่าหน่วยงานระหว่างประเทศหน่วยอื่น ๆ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกันแล้ว จะเห็นว่ามี GDP คาดการณ์ของ IMF ที่ต่ำเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่สรุปจากผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ซึ่งยังเป็นช่วงที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในไทยมีการเพิ่มสูงอยู่ รวมถึงมีการล็อกดาวน์กิจการหลาย ๆ อย่าง คาดว่าอีกไม่นานเราน่าจะได้เห็นการคาดการณ์ GDP กันอีกรอบเมื่อผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ออกมา