· ดอลลาร์ชะลอการรีบาวน์ต่อในตลาดเอเชียหลังจากที่การขานรับข่าวเฟดจางลงไป
ค่าเงินดอลลาร์ปรับอ่อนค่าในวันนี้ หลังจากที่ประชุมเฟดมีสัญญาณเล็กน้อยว่าจะมีการเพิ่มการผ่อนคลายทางการเงิน ประกอบกับกรอบเวลาความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ ซึ่งความผิดหวังดังกล่าวได้ฉุดให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังจากที่เมื่อคืนนี้แข็งค่าระดับวันมากที่สุดตั้งแต่เดือนมี.ค. โดยขึ้นไปแถว 93.159 จุด
อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ไม่ได้ปรับแข็งค่าต่อ ขณะที่ค่าเงินอื่นๆก็มีการอ่อนค่าลงเช่นกันตามแรงเทขายบางส่วนที่เข้ามาในตลาดหุ้น โดยที่ค่าเงินวอนของเกาหลีปรับอ่อนค่าลง 0.4% ตามการร่วงลงของดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้ที่ปรับตัวลง ในส่วนของค่าเงินบาทก็มีการอ่อนค่าไปมากสุดบริเวณ 31.44 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางนักลงทุนที่วิตกกังวลเกี่ยวกับการประท้วงต้านรัฐบาล
ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากระดับ 1.19 ดอลลาร์/ยูโร โดยมาอยู่ที่ 1.1849 ดอลลาร์/ยูโร ด้านเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.3106 ดอลลาร์/ปอนด์และค่าเงินเยนปรับอ่อนค่า 0.7% แถว 106 เยน/ดอลลาร์
หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Pepperstone กล่าวว่า บรรดาเทรดเดอร์คาดหวังว่ารายงานประชุมเฟดจะมีความชัดเจนมากขึ้น และตลาดเปลี่ยนไปให้ความสนใจต่อการประชุมเฟดในวันที่ 18 ก.ย. แทน แต่ก็ดูเหมือนจะมีสัญญาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่เฟดจะมีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ตลาดให้ความสนใจไปยังการประชุม Jackson Hole Symposium ระหว่างวันที่ 27 – 28 ส.ค. นี้ หรือการประชุมของเฟดเองในเดือน ก.ย.
ด้านเงินหยวนทรงตัวหลังจากที่จีนตัดสินใจคงดอกเบี้ยตามคาด โดยล่าสุดอยู่ที่ 6.9218 หยวน/ดอลลาร์
· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวลง หลังเฟดแสดงความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีปรับตัวลดลงมาบริเวณ 0.6590% ขณะที่อัตราผลตอบแทนอายุ 30 ปี ปรับลงมาที่ 1.3935%
· Jobless Claims Preview: คาดคนว่างงานสหรัฐฯปรับตัวลงราว 920,000 ราย ในสัปดาห์ที่แล้ว
คาดการณ์จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่า 1 ล้านรายต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 ที่จะเป็นตัวสะท้อนว่าคนว่างงานในสหรัฐฯนั้นมีการฟื้นตัวมากขึ้น
ซึ่งคืนนี้ต้องจับตาการประกาศผลในช่วงเวลาประมาณ 19.30น. ที่คาดว่าตัวเลขจะออกมาดีขึ้นราว 920,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งลดจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่มีคนว่างงานที่ 963,000 ราย
สำหรับภาพรวมตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดเมื่อ 8 ส.ค. คาดว่าจะมีคนว่างงานลดลงจาก 15.486 ล้านราย มาอยู่ที่ 15 ล้านรายโดยประมาณ
· คุดโลว์ ชี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯรีบาวน์ได้อย่างแข็งแกร่ง จากนโยบายช่วยเหลือคนว่างงานฉบับใหม่
นายแลรี่ คุดโลว์ ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังมีการรีบาวน์ค่อนข้างแข็งแกร่งอย่างมาก ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือครั้งใหม่แก่คนว่างงานที่ถูกคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ภายในสัปดาห์หน้าหรือช่วง 2 สัปดาห์นี้
ทั้งนี้ ทางทำเนียบขาวมีการปรับลดวงเงินช่วยเหลือคนว่างงานจาก 600 เหรียญ มาที่ 300 เหรียญ โดยคาดว่ามาตรการกระตุ้นดังกล่าวจะค่อยๆถูกลดลงอย่างช้าๆเมื่อเศรษฐกิจมีสัญญาณที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยเขามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นมีการฟื้นตัวด้วยตัวเอง และเป็นการฟื้นตัวในรูปแบบ V-Shaped
ขณะที่คำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความกังวลเรื่องการระบาดรอบที่สองในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวหรือไม่นั้น นายคุดโลว์คาดหวังว่าจะเห็นยอดผู้ติดเชื้อลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นความหวังครั้งใหญ่ของเขา
· รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีน ชี้ สหรัฐฯ-จีน จะหารือการค้าร่วมกันในอีกไม่กี่วันนี้
อ้างอิงรายงานจาก Reuters ที่ระบุว่า รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีน เผยถึงสหรัฐฯและจีนตกลงที่กลับสู่โต๊ะเจรจากันอีกครั้งในอีกไม่กี่วันนี้ สำหรับการปรับทบทวนข้อตกลงการค้าเฟสแรก โดยทั้งสองฝ่ายจะมีการหารือกันผ่านทางโทรศัพท์ หลังจากที่มีการเลื่อนการเจรจาออกไปจากวันเสาร์ที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา
· USC Donsife เผยโพล์เลือกตั้งปีนี้ คาด “ไบเดน” นำ 11 คะแนน
สถาบัน USC เผยโพล์เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปีนี้ โดยคาดว่าจะมีความเป็นไปได้ 3 ทาง ซึ่งเป็นการอิงจากผลสำรวจล่าสุดเมื่อ 11 – 16 ส.ค. ที่คาดว่านาย “ไบเดน” ตอนนี้มีคะแนนนำนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯไปแล้วถึง 11 จุด
· รายงานผลสำรวจจาก CBS ชี้ชาวผิวสีกว่า 90% จะโหวตเลือก “นายโจ ไบเดน”
ขณะที่ 4 ใน 10 ของผู้โหวตชาวผิวสีที่จะเลือกข้างเป็นนายไบเดิน กล่าวว่า ที่เลือกนายไบเดนเพราะอยู่ขั้วตรงข้ามกับนายทรัมป์ และบางส่วนก็เชื่อว่านายไบเดนมีความซื้อสัตย์และความจริงใจ รวมทั้งความรู้ และน่าจะเป็นประธานาธิบดี
· ผลสำรวจ Reuters ชี้ แนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนทรงตัวแต่การฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังมีความเสี่ยงในระดับสูง
ผลสำรวจของ Reuters ชี้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยูโรโซนได้อย่างเต็มรูปแบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงลึกนั้นน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีหรือมากกว่านั้น ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังคงมีความเสี่ยงในระดับสูงจนถึงสิ้นปี 2020
ยุโรปได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนามาตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวมแล้ว 22 ล้านกว่าราย และความเข้มงวดต่อมาตรการ Lockdown ประกอบกับการอนุญาตในการกลับมาเปิดทำการ
อีซีบีก็มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนับล้านล้านยูโร โดยล่าสุดมีการสนับสนุนกองทุนฟื้นฟูมูลค่า 7.5 แสนล้านยูโรที่คาดว่าจะยาวนานถึงปีหน้า ทั้งหมดนี้ได้ช่วยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน รวมทั้งเศรษฐกิจในการฟื้นตัวกลับหนุนดอลลาร์แข็งค่า
ในเดือนพ.ค. การผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในกลุ่มประเทศส่วนใหญ่ของยูโรโซน ก็มีส่วนช่วยให้เราปรับคาดการณ์ว่าจีดีพีใน Q3/2020 จะโตได้ -7.2% และจะค่อยๆปรับขึ้นแตะ 3.0% ในช่วง Q4/2020 ซึ่งถือว่าดีขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนก่อนหน้าที่คาดว่าจะโตได้ 2.8%
อย่างไรก็ดี กว่า 70% ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ร่วมตอบแบบสอบถามคาดว่าจะใช้เวลาตั้งแต่ 2 ปี หรือมากกว่านั้นในการให้จีดีพีของยูโรโซนนั้นโตได้มากกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา
สำหรับผลสำรวจโดยองค์รวมต่อทิศทางเศรษฐกิจยูโรโซนประจำปีพบว่า มีการหดตัวลงประมาณ 8.2% ในปีนี้ และคาดจะโตได้ 5.5% หรือความเป็นไปได้ที่จะโตระดับ -10.3% ปีนี้และไม่มีสัญญาณการเติบโตในปีหน้า ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่แย่ที่สุด
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่ว่าตลาดแรงงานมีการฟื้นตัวอย่างไรในเวลานี้
· แอนโทนี ฟาวซี ระบุ วัคซีน Covid-19 จะไม่ถูกบังคับใช้ในสหรัฐฯ
นายแอนโทนี ฟาวซี เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านโรคติดต่อของสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะไม่ทำการบังคับประชาชนในการได้รับการฉีดวัคซีน Covid-19 โดยจมีการบังคับใช้ในบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มเด็ก เป็นต้น
· ข้อตกลงวัคซีน Covid-19 ระหว่างออสเตรเลียกับ Oxford อาจเกิดขึ้นได้ก่อนกำหนด
ยังคงมีความเสี่ยงของวัคซีนที่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเต็มรูปแบบสำหรับการทดลองในมนุษย์ ซึ่งวัคซีน Covid-19 ยังจำเป็นต้องผ่านการทดลองเฟสที่ 3 ไปให้ได้ก่อน ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษาและคาดว่าจะทราบผลการทดลองได้ในช่วงสิ้นปีนี้
นายสก็อต มอริสสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ประกาศว่า รัฐบาลออสเตรเลียมีการลงนามหนังสือแสดงเจตนารมณ์แก่มหาวิทยาลัย Oxford สำหรับความต้องการวัคซีนชื่อ SARS-CoV-2 (อันเป็นต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนา) และมีการเตรียมแจกจ่ายประชาชนชาวออสเตรเลียกันแบบฟรีๆ
ทั้งนี้ สัญญาณล่าสุดทั้งหมดเป็นการบ่งชี้ว่าวัคซีนที่ทำการทดลองในมนุษย์ดูจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันที่ดีในมนุษย์และยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงในเวลานี้
· นิวซีแลนด์รายงานผู้ติดเชื้อจากไวรัสโคโรนารายใหม่ 5 ราย
นิวซีแลนด์รายงานผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสรายใหม่ 5 รายในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาเทียบกับ 6 วันก่อนหน้า
การกลับมาของการติดเชื้ออย่างกะทันหันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในโอ๊คแลนด์ทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกข้อจำกัด บางประการเกี่ยวกับผู้อยู่อาศัย 1.7 ล้านคนในเมือง
ทั้งนี้ จนถึงขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วกว่า 1,300 รายและเสียชีวิต 22 ราย
· รัฐบาลจีนคงดอกเบี้ยเงินกู้ต่อเนื่อง 4 เดือนติดตามคาด
จีนมีการคงดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับภาคบริษัทและภาคครัวเรือนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนส.ค.
ซึ่ง 1-year LPR คงอยู่ที่ 3.85% ขณะที่ 5-year LPR คงอยู่ที่ 4.65%
· เกาหลีเหนือจะทำการกำหนดแผน 5 ปีในเดือนม.ค. ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
เกาหลีเหนือจะทำการจัดประชุมกันในสัปดาห์หน้าเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับแผนฉบับใหม่ 5 ปี หลังจากที่มีการเลื่อนการหารือในเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมาตรการการดำรงอยู่ออกไป
การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่เกาหลีเหนือมีการปิดประเทศกับนานาชาติเพื่อรับมือกับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการปิดพรมแดนและมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา
· น้ำมันร่วงลงท่ามกลางแรงกดดันจากปริมาณอุปสงค์ ขณะที่ปริมาณสต็อกน้ำมันดิบที่ลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่เตือนถึงความเสี่ยงของอุปสงค์ที่ฟื้นตัว หากวิกฤตโคโรนาไวรัสยังคงยืดเยื้อ ขณะที่สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
ด้านสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงกว่า 1.6 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 512 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลง 0.8% ที่ระดับ 45.03 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 0.8% เช่นเดียวกัน ที่ระดับ 42.57 เหรียญ/บาร์เรล