ทองขึ้น-ดอลลาร์อ่อน จับตาประชุมอีซีบี
· ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นทำสูงสุดในรอบเกือบ 1 สัปดาห์ ท่ามกลางดอลลาร์ที่อ่อนค่าและความกังวลเรื่องการเลื่อนพัฒนาวัคซีนไวรัสโคโรนาที่ทำให้นักลงทุนกลับเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย
· ราคาทองคำปรับขึ้น 0.7% ที่ 1,945.2 เหรียญ ด้านสัญญาทองคำส่งมอบเดือนธ.ค. ปิด +0.6% ที่ระดับ 1,954.9 เหรียญ
· กองทุนทองคำ SPDR เข้าซื้อทองคำเพิ่ม 2.92 ตัน ปัจจุบันถือครองทองคำที่ระดับ 1,252.96 ตัน
· นักกลยุทธ์ฝ่ายการตลาดอาวุโสจาก RJO Futures กล่าวว่า ดอลลาร์อ่อนค่าต่อหลังจากที่อีซีบีมีการกล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจในเชิงบวก และนั่นทำให้ทองคำปรับขึ้นตามมาได้ แต่การขึ้นดังกล่าวก็ดูจะเป็นไปอย่างเปราะบาง เนื่องจากในทางเทคนิคจำเป็นที่จะต้องเห็นทองคำปิดเหนือ 1,950 เหรียญ จึงจะกลับมาเป็นขาขึ้น
· ดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.2% หลังจากที่ Bloomberg รายงานว่า คาดการณ์เกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของอีซีบีในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคาดการณ์ในเดือนมิ.ย.
ทั้งนี้ หนึ่งในสมาชิกบอร์ดบริหารของอีซีบี กล่าวถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจตั้งแต่มิ.ย. มีการเติบโตได้สอดคล้องกับที่อีซีบีมีการคาดการณไว้
· การทดลองวัคซีนไวรัสโคโรนาของบริษัท AstraZeneca หยุดชะงักลงจากพบอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองมีอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ
· นักวิเคราะห์จาก Saxo Bank ระบุว่า ข่าวการเลื่อนพัฒนาวัคซีนดูจะเป็นผลบวกโดยตรงต่อตลาดทองคำและอาจยิ่งตอกย้ำถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นเวลานาน ที่ทำให้เกิดคาดการณ์ที่น่าจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
· ราคาแพลทินัมปิด +1.5% ที่ 914.58 เหรียญ หลังสภาเพื่อการลงทุนแพลทินัมเปลี่ยนแปลงคาดการณ์ปีนี้จากเกินดุลเป็นขาดดุล
· ซิลเวอร์ปิด +0.4% ที่ 26.81 เหรียญ และราคาพลาเดียมปิดทรงตัวบริเวณ 2,275.47 เหรียญ
· AstraZeneca สั่งระงับการทดลองวัคซีนโควิด หลังอาสาสมัครป่วยไร้สาเหตุ
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า AstraZeneca Plc ได้ประกาศระงับการทดลองวัคซีน AZD1222 ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในเฟสสุดท้ายออกไปแบบไม่มีกำหนด หลังอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองมีอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ
โฆษก AstraZeneca กล่าวว่า การหยุดกระบวนการทดลองในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกระบวนการมาตรฐานเพื่อทบทวนข้อมูลด้านความปลอดภัย โดยอาสาสมัครที่มีอาการป่วยในครั้งนี้เป็นอาสาสมัครอยู่ในประเทศอังกฤษ ซึ่งทีมแพทย์กำลังตรวจสอบอาการ และทำการรักษาอาสาสมัครที่มีอาการป่วยจนกว่าจะหายเป็นปกติก่อนที่จะทำการทดลองในเฟสสุดท้ายต่อไป
· CEO บริษัท AstraZeneca เผย ผู้เข้าร่วมการทดสอบวัคซีน Covid-19 มีอาการทางประสาทรุนแรงแต่อาจจะออกจากรพ. วันนี้
เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูงของบริษัทแอสตร้าเซเนกา เปิดเผยว่า ผู้เข้าร่วมทดสอบวัคซีน Covid-19 ในเฟสที่ 3 ที่เป็นผู้หญิงชาวอังกฤษมีอาการทางประสาทที่สอดคล้องกับความผิดปกติของการอักเสบของกระดูกสันหลังที่ร้ายแรงกว่าโรคไขสันหลังอักเสบ
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการวินิจฉัยยืนยันอาการของผู้หญิงคนดังกล่าว แต่เบื้องต้นอาการดีขึ้นและมีแนวโน้มจะออกจากโรงพยาบาลเร็วที่สุดในวันนี้
· การเปิดรับสมัครตำแหน่งงานใหม่ของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ขณะที่คนลาออกจากตำแหน่งก็สูงขึ้น
การเปิดรับสมัครตำแหน่งงานใหม่ของสหรัฐฯในเดือนก.ค. ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่คนว่างงานในกลุ่มค้าปลีกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจด้านการบริการ อันเนื่องจากความกังวลจากไวรัสโคโรนาและปัญหาการดูแลเด็กเล็ก
ทั้งนี้ การเปิดรับสมัครตำแหน่งงานใหม่ของสหรัฐฯปรับขึ้น 617,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 6.6 ล้านตำแหน่งในช่วงสิ้นเดือนก.ค. แต่ก็อยู่ต่ำกว่าระดับ 7 ล้านตำแหน่งที่เคยเกิดขึ้นในเดือนก.พ.
· โฆษกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ชี้ การละเมิดข้อตกลง Good Friday Agreement อาจกระทบต่อข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-อังกฤษได้
นางแนนซี เพโลซี โฆษกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวว่า ความเป็นไปได้ของข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-อังกฤษอาจไม่ผ่านมติเห็นชอบจากทางสภาคองเกรส หากอังกฤษมีการละเมิดข้อตกลงสันติภาพ Good Friday Agreement ในการออกจากอียู
· วิกฤต Brexit อียูค่อนข้างกังวลแผนอังกฤษการแยกตัว
รายงานจาก Reuters ระบุว่า อังกฤษทำให้การเจรจา Brexit เข้าสู่วิกฤต โดยมีความชัดเจนถึงการอาจละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศบางส่วนของสนธิสัญญาการออกจากอียู จึงส่งผลให้เกิดการตำหนิอย่างรุนแรงจากผู้บริหารระดับสูงของอียู
ทั้งนี้ อังกฤษก็ไม่ได้แสดงท่าทีใส่ใจต่อคำเตือนจากอียูว่าการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลต่อข้อตกลงการค้าระหว่างกัน
· ธนาคารกลางแคนาดาเพิ่มความยืดหยุ่นด้าน QE ขณะที่ยอดเริ่มต้นสร้างบ้านปรับขึ้นแตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 13 ปี
เมื่อวานนี้ ธนาคารกลางแคนาดา หรือ BoC มีการประกาศคงดอกเบี้ย แต่เปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ในอนาคตในการเปลี่ยนแปลงการเข้าซื้อพันธบัตร ด้านยอดเริ่มต้นสร้างบ้านปรับขึ้นทำสูงสุดรอบ 13 ปี ดูจะเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่ง BoC มีมุมมองว่าน่าจะเห็นการรีบาวน์ทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ได้เร็วกว่าที่คาด
· นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.15 - 31.45 บาท/ดอลลาร์
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปี 63 ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องเพราะต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเสียโมเมนตัมในการฟื้นตัว หลังจากมีการระบาดของไวรัสโควิดระลอกสองในหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ ส่วนในไทยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัวในกรอบ -9 ถึง -7% ส่วนการส่งออกหดตัว -12 ถึง -10% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป -1.5 ถึง -1%
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค.63อยู่ที่ 51.0 จาก 50.1 ในเดือน ก.ค.63 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยบวกจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%, รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 5 หลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น,รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ, ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวลดลง
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินเบื้องต้นว่ามาตรการที่ภาครัฐจะออกมาช่วยเหลือในเรื่องการจ้างแรงงาน หรือการกระตุ้นการใช้จ่ายจากมาตรการ "คนละครึ่ง" ด้วยการให้เงิน 3,000 บาท แก่ประชาชน 15 ล้านคน โดยใช้งบ 45,000 ล้านบาทนั้น จะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นถึง 9 หมื่นล้านบาท และหมุนเวียในระบบถึง 2 รอบ ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4/63 ให้เพิ่มขึ้นได้ 1-1.5%
- ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปีนี้จะหดตัว 12.2% แต่ก็เริ่มมีสัญญาณบวกจากความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด ขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลควรเร่งแก้ไขไตรมาส 4 โดยเร็ว ด้วยการเร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศที่แม้ว่ารัฐบาลจะได้ดำเนินการอยู่แต่ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้ จึงจำเป็นต้องผลักดันมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4 ปี 63 นี้ด้วย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาพำนักในประเทศไทยในระยะยาว
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าของมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 จากข้อมูลล่าสุด ณ 31 ก.ค.63 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินทั้งสิ้น 7.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12.5 ล้านบัญชี โดยลักษณะการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจครอบคลุมทั้งการเลื่อนพักชำระหนี้ การลดภาระผ่อนชำระต่อเดือนด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญา การลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ตามสัญญาใหม่
- เลขาธิการสภาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวถึงความคืบหน้าการใช้เงินกู้ตามพ.ร.ก.ในส่วนของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาทว่า ในบ่ายวันนี้ทางคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการจะพิจารณาโครงการเพิ่มเติมวงเงินราว 2-3 หมื่นล้านบาท ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า