ทองขึ้นกว่า 1% หวังกระตุ้นเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ
ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้ประมาณ 1% ยืนเหนือระดับสำคัญ 1,900 เหรียญ จากความหวังเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจช่วยบรรเทาผลกระทบจาก Covid-19 จึงทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าและหนุนทอง
ทองคำตลาดโลกปิด +1.2% ที่ 1,907.46 เหรียญ หลังไปทำสูงสุดใหม่ตั้งแต่ 22 ก.ย. บริเวณ 1,911.66 เหรียญ
สัญญาทองคำส่งมอบเดือนธ.ค. ปิด +1.1% ที่ 1,916.30 เหรียญ
กองทุน SPDR ซื้อทองเพิ่มในวันทำการแรกของเดือนต.ค. กว่า 7.3 ตัน ปัจจุบันเพิ่มการถือครองมาที่ 1,276.19 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดใหม่ของปี และเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ 25 ก.พ. ปี 2013
นักลงทุนให้ความสำคัญกับการเจรจาข้อตกลงแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ระหว่างนางเพโลซี โฆษกสภาล่าง กับนายมนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
หัวหน้านักกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์จาก TD Securities กล่าวว่า หากมีข้อตกลงเกิดขึ้น การกระตุ้นทางการเงินก็อาจหนุนให้เงินเฟ้อขึ้นไปหาเป้าหมายเงินเฟ้อที่เฟดกำหนดได้ ท่ามกลางดอกเบี้ยระดับต่ำ ทั้งหมดนี้จึงดูเป็นบวกกับราคาทองคำ และการที่ราคา Break เหนือระดับสำคัญทางจิตวิทยาบริเวณ 1,900 เหรียญได้ ก็ดูจะทำให้ภาพทางเทคนิคของราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับจังหวะนี้ที่ดอลลาร์มีการอ่อนค่าทำต่ำสุดรอบ 1 สัปดาห์ที่เป็นปัจจัยบวกต่อทองคำเช่นกัน
ทองคำยังได้รับแรงหนุนจาก ข้อมูลกิจกรรมการผลิตสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาดเมื่อคืนนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่
ในขณะที่ข้อมูลผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมีคนว่างงานลดลง แต่เศรษฐกิจโดยองค์รวมก็ยังอยู่ในภาวะถดถอย
CEO จาก Govett Precious Metals กล่าวว่า ปัจจัยขับเคลื่อนทองคำคือ “เม็ดเงินลงทุน” และ “ทิศทางเศรษฐกิจ” รวมถึงปัญหาทางการเมือง และค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งหากสถานการณ์ย่ำแย่ก็ดูจะทำให้เห็นว่าทองคำมีโอกาสกลับขึ้นแถว 2,000 เหรียญได้
ซิลเวอร์ปิด +2.56% ที่ 23.80 ดหรียญ ด้านแพลทินัมปิด +1.05% ที่ 897.63 เหรียญ ขณะที่พลาเดียมปิด +1.42% ที่ 2,337.48 เหรียญ
หวังกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ กดดันดอลลาร์อ่อนค่า
ดอลลาร์อ่อนค่าลงทำต่ำสุดรอบ 1 สัปดาห์ ท่ามกลางความหวังจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.1% ที่ระดับ 93.722 จุด โดยช่วงต้นตลาดทำต่ำสุดรอบ 1 สัปดาห์นับตั้งแต่ 22 ก.ย. ที่ระดับ 93.522 จุด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ได้ส่งผลต่อดอลลาร์มากนัก
นักวิเคราะห์บางส่วน ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับการอ่อนค่าของดอลลาร์ เนื่องจากภาพรวมความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงดูจะลดน้อยลงไป
หัวหน้านักกลยุทธ์บางราย มองว่า เดโมแครตและรีพับลิกันต่างมีสัญญาณที่จะเจรจากันต่อไปเพื่อให้เกิดข้อตกลง แต่หากเรายังไม่เห็นแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ก่อนเลือกตั้ง ก็อาจเห็นข้อตกลงเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งตามมา ซึ่งประเด็นข้อตกลงดังกล่าวมีแนวโน้มหนุนนักลงทุนซื้อหุ้นและเทขายดอลลาร์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพีนธบัตรสหรัฐฯก็ปรับตัวลดลง
หยวนแข็งค่ามากสุดรอบ 1 ปีครึ่งบริเวณ 6.7306 หยวน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ พ.ค. 2019 แม้ว่าสภาพคล่องในตลาดจีนจะเบาบางจากวันหยุดยาว ขณะที่หยวนปิดอ่อนตัวเล็กน้อยที่ 6.7506 หยวน/ดอลลาร์
ยูโรแข็งค่าขึ้น 0.2% ที่ 1.1743 ดอลลาร์/ยูโร
นักวิเคราะห์ค่าเงินจาก Monex Europe มองว่า ยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นการ Lockdown ในหลายๆพื้นที่ของยุโรป และดูเหมือนสภาวะ Risk-off จะหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่า และกดดันค่าเงินยูโร
สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านร่างกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ 2.2 ล้านล้านเหรียญ
รายงานล่าสุดเช้านี้ พบว่า ทางสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก มีการผ่านร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วง Covid-19 มูลค่า 2.2 ล้านล้านเหรียญ แม้ว่าในช่วงค่ำจะมีรายงานว่าทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ก็ตาม
อย่างไรก็ดี ร่างดังกล่าวมีแนวโน้มสูงที่จะถูกปัดตกจากวุฒิสภาสหรัฐฯที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมาก
นายมิทช์ แมคคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากของวุฒิสภาสหรัฐฯ มีการคัดค้านร่างดังกล่าวเนื่องจากมีการใช้เงินนับล้านล้านเหรียญที่มากเกินไปในการรับมือกับการระบาดเวลานี้
เมื่อวานนี้การเจรจาระหว่าง นางแนนซี เพโลซี โฆษกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯและนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงคลังสหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ แม้จะมีรายงานจากทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะยังเดินหน้าเจรจากันต่อเพื่อให้เกิดข้อตกลงก็ตาม
สำนักข่าว Politico เผยว่า เมื่อสอบถามถึงโอกาสเกิดข้อตกลง นางแนนซีก็ได้ตอบกลับว่า เธอเองก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ แต่เธอก็ยังหวังว่าจะตกลงร่วมกันได้ในเร็วๆนี้
ที่ปรึกษาด้านไวรัสโคโรนาของทำเนียบขาว ระบุว่า มาตรการด้านสุขภาพในการเลี่ยงการติดต่อ รวมกลุ่ม และการสวมใส่หน้ากากอนามัย จะช่วยให้ประชาชนสหรัฐฯเลี่ยงการสุ่มเสี่ยงจากไข้หวัดในฤดูหนาว ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาในเวลาเดียวกันได้
ผู้บริหาร Pfizer วิจารณ์ดีเบตประธานาธิบดีสหรัฐฯน่าผิดหวัง
ผู้บริหารบริษัทไฟเซอร์ ตำหนิการดีเบตครั้งแรกของนายทรัมป์และนายไบเดนที่ออกมาอย่างน่าผิดหวัง พร้อมกล่าวเตือนว่า “ปัญหาทางการเมืองจะลดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อวัคซีน”
โดยเฉพาะในช่วงที่นายไบเดนกล่าวตำหนิว่า นายทรัมป์และทีมรัฐบาลของเขาใช้เวลานานเกินไปกว่าจะเกิดวัคซีนเพื่อชาวอเมริกา
ขณะที่ นางคอมมาลา แฮริส ว่าที่รองประธานาธิบดีของไบเดน ก็ระบุถึงการที่ประชาชนไม่เชื่อนายทรัมป์ เกี่ยวกับความคืบหน้าของวัคซีน
บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข รวมทั้งผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดสหรัฐฯ (CDC) กล่าวว่า วัคซีนยังไม่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้จนถึงปี 2021
ทั้งหมดนี้ สวนทางกับสิ่งที่นายทรัมป์กล่าวว่า วัคซีนจะเกิดขึ้นได้ก่อนเลือกตั้ง หรือเร็วสุดในเดือนต.ค. นี้
นักเศรษฐศาสตร์ระดับสูง ชี้ ข้อมูลว่างงานสหรัฐฯยังไม่การันตีตลาดแรงงานฟื้น
จะเห็นได้ว่า พาดหัวข่าวในสัปดาห์นี้ หลายๆภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในสหรัฐฯมีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น
CNBC เผยมุมมอง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และนักกลยุทธ์มหภาค โดยระบุว่า จำนวนการปลดคนงานที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องน่ากังวล และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการรายสัปดาห์ก็ยังอยู่ในระดับสูง แต่ก็ต้องจับตาข้อมูลจ้างงานรัฐบาลสหรัฐฯในคืนนี้ว่าจะบอกถึงทิศทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ดีอยู่หรือไม่
เพราะถึงแม้ ADP จะเผยข้อมูลจ้างงานเอกชนในวันพุธที่ดีขึ้นเกินคาด จะช่วยหนุนให้การจ้างงานที่อยู่ระดับต่ำชะลอตัวลงบ้าง แต่ปัญหาใหญ่ทางการเมืองสหรัฐฯก็อาจส่งผลลบต่อภาคแรงงานได้เช่นกัน
ผู้ช่วยระดับสูงของ “ทรัมป์” ติด Covid-19 หลังร่วมเดินทางไปงานดีเบตประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ผ่านมา
บรรดาบริษัทยาไบโอเทคกำลังมุ่งเข้าสู่การผลิตยาวัคซีนโควิด-19สำเร็จภายในสิ้นปีนี้
ในเดือนนี้ บริษัทยา ไฟเซอร์ ร่วมมือกับบริษัท ไบโอเอ็นเทค วางแผนกำหนดการที่จะเปิดเผยผลการทดลองวัคซีนในการทดลองระยะสุดท้าย ว่าการทดลองฉีดวัคซีนปริมาณสองเข็มสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้หรือไม่ ในขณะที่บริษัท โมเดิร์นนาก็คาดจะประกาศผลการทดลองวัคซีนในระยะที่สองเช่นกัน
นักวิเคราะห์จาก เจพีมอร์แกน กล่าวว่า แนวโน้มความคืบหน้าดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นตัวเร่งการพัฒนาวัคซีนของบางบริษัทเท่านั้น แต่จะเป็นการเร่งการพัฒนาสำหรับทั้งตลาดวัคซีนโควิด-19
อียูเริ่มดำเนินการทางกฎหมายตอบโต้อังกฤษ ที่อนุมัติกฎหมายแตกหักข้อตกลง Brexit
ประธานคณะกรรมาธิการอียู เผยว่า กำลังมีการพิจารณาขั้นตอนแรกตามข้อกฎหมายอย่างเป็นทางการ จากกรณีที่อังกฤษมีมติเห็นชอบกฎหมาย Internal Market Bil ที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำลายข้อตกลง Brexit ที่มีร่วมกันได้
อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้อยู่ที่ 31.50-31.65 บาท/ดอลลาร์ตลาดรอดูการประกาศตัว เลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐช่วงค่ำวันนี้ ได้แก่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย.
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 63 โดยยังคงมุมมองเดิมว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะยังคงเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยโดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 88-90% ต่อจีดีพีในปี 63 จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/63