Goldman Sachs มีการประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้แบบ “V-Shaped” ตามคาด และอาจรีบาวน์ได้มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ได้จากความหวังครั้งใหม่ในเรื่องการเข้าใกล้ความสำเร็จด้านวัคซีนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นข่าวที่เกิดขึ้นควบคู่กับการมาของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ทั้งสองประเด็นนี้ดูจะส่งผลต่อคาดการณ์การเติบทางเศรษฐกิจโลก
รายงานเศรษฐกิจโลกประจำปี 2021 ของ Goldman Sachs ทีเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่า บรรดานักวิเคราะห์ยังให้ความสำคัญต่อนโยบายการเงินของทางพรรคเดโมแครตที่อาจเผชิญปัญหาการสกัดกั้นจากเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาที่เป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน
แม้ว่าบรรดานักวิเคราะห์จะยังคงคาดการณ์ว่าสหรัฐฯจะต้องมีการอนุมัติแพ็คเกจทางการเงินมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นก่อนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของนายไบเดนในวันที่ 20 ม.ค. 2021
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs กล่าวว่า ความสำคัญอย่างมากต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกประการ คือ การอาจเกิด New Wave สำหรับการระบาดของไวรัสโคโรนาทั้งสหรัฐฯและยุโรป ที่ส่งผลให้หลายๆประเทศเศรษฐกิจหลักในยุโรปกลับมาทำการ Lockdown
เหตุผลดังกล่าว ส่งผลให้ทาง Goldman Sachs “ตัดสินใจปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ Q4/2020 และ Q1/2021” แต่ก็มีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกอยู่ว่าจะกลับมาเติบโตได้เช่นเดียวกับผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg
ทั้งนี้ Goldman Sachs คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกหรือจีดีพี ไว้ดังนี้
ปี 2020: -3.9% ดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิมที่ -4%
ปี 2021: 6% ดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิมที่ 5.2%
ปี 2022: 4.6% ดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3.7%
ท่ามกลางภาวะความเสี่ยงขาลงที่มีแนวโน้มลดน้อยลง พร้อมคาด เศรษฐกิจโลกจะรีบาวน์ได้อย่างรวดเร็ว และจะเติบโตได้แกร่งมากขึ้น หากยุโรปสิ้นสุดการ Lockdown และ วัคซีนพร้อมใช้งาน
รายงานของไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ทิศทางจีดีพีโลกไว้ ดังนี้
ปี 2020: -4.4%
ปี 2021: 5.2%
Goldman Sachs ประเมินว่า องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) จะทำการอนุมัติอย่างน้อย 1 วัคซีนในช่วงเดือนม.ค.นี้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนภายในประเทศ ดังนั้น จีดีพีของสหรัฐฯน่าจะโตได้หลังจากที่ดิ่งลงหนักไปเมื่อช่วงQ2/2020
นอกจากนี้ บรรดาธนาคารกลางต่างๆ และตลาดเกิดใหม่หลายแห่งน่าจะยังคงทิศทาง “ผ่อนคลาย” ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 2-3 ปี โดยเฉพาะ “เฟด” และ “อีซีบี”
ขณะที่ “บีโออี” น่าจะเป็นเพียงแห่งเดียวที่จะกลับมาเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในปี 2025
ภาพรวมตลาดยังมีความผันผวนในระดับสูง ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯที่อยู่ระดับต่ำ และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดูจะกดดันให้ ดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อในปีหน้าได้ โดยดอลลาร์จะอ่อนค่าอีกประมาณ 6% จาก “ประเด็นทางการค้า” และ “การทำสถานะ Short ในค่าเงินดอลลาร์” เมื่อเทียบกับค่าเงินแคนาดา, ออสเตรเลียดอลลาร์, กลุ่ม G7 และค่าเงินแรนด์ของแอฟริกา รวมไปถึงค่าเงินรูปีของอินเดีย และเปโสของเม็กซิโก ในตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายนั่นเอง
ที่มา: CNBC