กังวลไวรัส-กดดันวัคซีน หนุนทองคำรีบาวน์จากต่ำสุด 5 เดือน
· ราคาทองคำปรับขึ้นจากระดับต่ำสุดรอบ 5 เดือนเพราะได้รับแรงสนับสนุนจากความกังวลเรื่องผู้ติดเชื้อของ Covid-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นโดยยอดสะสมทั่วโลกทะลุ 64 ล้านราย และมียอดเสียชีวิตสะสมรวม 1.48 ล้านรายใกล้ทะลุ 1.5 ล้านราย
· สำหรับสหรัฐฯพบยอดติดเชื้อสะสมเพิ่มกว่า 182,000 ราย รวมสะสมทะลุ14 ล้านราย และเสียชีวิตสะสมรวม 276,976 ราย ด้านอินเดียยอดสะสมรวมกว่า 9.49 ล้านราย
ทั้งหมดนี้ จึงช่วยชดเชยปัจจัยลบจากความคืบหน้าวัคซีนที่ชาวสหรัฐฯอาจเริ่มได้รับวัคซีก่อนคริสต์มาส และการขายของกองทุน SPDR
· กองทุน SPDR เมื่อวานนี้เริ่มต้นเดือนธ.ค.ด้วยการเทขายทองคำออก 3.5 ตัน โดยปัจจุบันถือครองทองคำที่ระดับ 1,191.28 ตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา
· ราคาทองคำตลาดโลกเมื่อคืนนี้ทำ High แถว 1,817 เหรียญ และปิดตลาดแถว 1,811 เหรียญ
· สัญญาทองคำส่งมอบเดือนก.พ. ปิดปรับขึ้น 38 เหรียญ ที่ระดับ 1,818.9 เหรียญ
· นักลงทุนเวลานี้ให้ความสนใจไปยังถ้อยแถลงของนายเจอโรม โพเวลล์ ต่อคณะกรรมาธิการกำกับดูแลภาคธนาคารที่อาจส่งสัญญาณตรงถึงแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของเฟดได้
· OCBC Bank กล่าวว่า หากประชุมเฟด 15-16 ธ.ค. ยังสะท้อนถึงการผ่อนคลายทางการเงินที่จะยิ่งหนุนเงินเฟ้อให้ปรับขึ้นก็จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับทองคำในการปรับขึ้นได้ต่อ ดังนั้นเชื่อว่าทองคำน่าจะปรับขึ้นได้ต่อในปี 2021
· Commerzbank ชี้ทองเปิดเดือนธ.ค. เหนือ 1,800 เหรียญ หลังพ.ย. ทำเดือนที่แย่ที่สุด
นักวิเคราะห์จาก Commerzbank เชื่อว่า นอกจาก Technical Rebound ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ นักลงทุนในตลาดทองคำน่าจะตอบรับกับข่าวอินเดียที่จุดประกายความหวังให้แก่อุปสงค์ในแถบเอเชียอีกครั้ง หลังมีรายงานพบการเข้าซื้อทองในอินเดียเพิ่มช่วงราคาในประเทศปรับตัวลดลง
จากประเด็นดังกว่าดูจะช่วยหนุนให้เกิดความหวังจะเห็รการฟื้นคืนความต้องการทองคำครั้งสำคัญในเอเชีย ที่จะช่วยเสริม “เสถียรภาพแก่ราคาทองคำ” พร้อมหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนทองในกองทุน ETFs ให้กลับมาอีกครั้ง
· “แม็คคอนเนล” ยอมเพิ่มวงเงินแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ 9.08 แสนล้านเหรียญ จากเดิมที่ 5 แสนล้านเหรียญ หลังสภาคองเกรสที่ยังไม่สามารถตกลงข้อตกลงดังกล่าวได้ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ดูจะสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ
· “มนูชิน-โพเวลล์” แถลงต่อสภาคองเกรส ยังจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดเล็ก
นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด ทั้งสองฝ่ายต่างเรียกร้องให้ทางสภาคองเกรสเตรียมให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ภาคธุรกิจขนาดเล็กท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาและความกังวลเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงเรื่องวัคซีนที่ยังไม่พร้อมใช้ในเวลานี้
เนื่องจากภาคธุรกิจต่างๆเหล่านี้ไม่สามารถจะรอได้อีกแม้จะเป็นช่วง 2-3 เดือนจากนี้ ทางสภาคองเกรสจึงควรอนุมัติการช่วยเหลือในวงเงินที่สูงถึง 3 แสนล้านเหรียญ
ถ้อยแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความหวังที่จะเห็นรีพับลิกันและเดโมแครตกลับมาเจรจาข้อตกลงกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ และอาจใช้เวลาค่อนข้างนานจนกว่าวัคซีนจะช่วยคลายผลกระทบของ Covid-19 หรือการอ่อนตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนที่หมดอายุ ท่ามกลางการระบาดอย่างต่อเนื่องในเวลานี้
· สมาชิกเฟดสาขานิวยอร์ก ระบุว่า เฟดอาจกลับมาใช้โครงการเงินกู้ฉุกเฉินหากจำเป็น
· นายชาร์ล อีวานส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโกชี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากสภาคองเกรส
· “เยลเลน” แถลงการณ์ในฐานะว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เตือนเศรษฐกิจสหรัฐฯขาง และจำเป็นต้องเกิดการช่วยเหลือเร่งด่วน เนื่องจากอาจเผชิญกับความเสียหายที่เพิ่มมากขึ้น
นางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานเฟด แสดงถึงความพร้อมที่จะเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินคนสำคัญของนายไบเดน โดยที่นายโจ ไบเดน เตรียมเข้าสู่พิธีสาบานตนในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯในวันที่ 20 ม.ค. นี้ เพื่อต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจและการตกงานที่เพิ่ขึ้นอย่างมาก
พร้อมกันนี้ นางเยลเลนยังกล่าวย้ำว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลกับ “ประชาชนชาวอเมริกา” มากที่สุด และนี่คือความสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และเธอให้คำมั่นว่าจะหาวิธีสนับสนุนและควบคุมการระบาดเพื่อสร้างเศรษฐกิจสหรัฐฯให้กลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นกว่าครั้งก่อน
· เยอรมนีสาหัสจาก Second Wave (กราฟเดียวเห็นภาพความร้ายกาจของ Covid-19):
จะเห็นได้ว่า ตลอดช่วง 7 วัน พบค่าเฉลี่ยผู้เสียชีวิตจาก Covid-19 ที่ 306.71 รายในวันที่ 29 พ.ย. ถือเป็นจำนวนตัวเลขที่สูงกว่าสูงสุดเดิมที่ทำไว้ในวันที่ 21 เม.ย. ที่ระดับ 248.43 ราย
· Pfizer-BioNTech ยื่นขออนุมัติวัคซีนให้แก่องค์การยายุโรป ภายใต้เงื่อนไขด้านการตลาดสำหรับวัคซีน Covid-19 ซึ่ง หาก“ได้รับอนุมัติ” วัคซีนของบริษัทดังกล่าวจะสมารถใช้ได้ในยุโรป ภายในเดือนนี้
· หน่วยงาน CDC มีมติให้เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ และผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านได้รับวัคซีน Covid-19 เป็นกลุ่มแรก
· สายการบิน American Airlines และ United Airlines ชะลอการเดินทางไปยังเซี่ยงไฮ้แบบ “Nonstop” จากความกังวลเรื่องการใช้มาตรการคุมเข้มต่อกลุ่มลูกเรือโดยสารต่างประเทศเมื่อเดินทางไปถึง และจำกัดพื้นที่การอำนวยความสะดวก
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัว ยังระบุถึงการจะยุติเที่ยวบินในเกาหลีใต้ด้วย จากยอดติดเชื้อทีเพิ่มสูงขึ้น
· ยูโรโซนพร้อมสนับสนุนกองทุนช่วยเหลือหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
บรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของยูโรโซน ได้ตกลงที่จะเสริมความมั่นคงของภูมิภาคด้วยกองทุนช่วยเหลือวิกฤต Covid-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนในภูมิภาคต่างรอคอยอย่างยาวนาน
สมาชิก 19 ประเทศมักถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง ถึงความไม่เสมอภาคในการแก้ปัญหาท่ามกลางเศรษฐกิจที่แตกต่างระหว่างประเทศทางตอนใต้ของภูมิภาคที่ภาพรวมมีหนี้ภาครัฐในระดับสูง จึงไม่ต้องการให้เกิดหนี้เพิ่ม ขณะที่ประเทศทางตอนเหนือต้องการให้เกิดกระตุ้นทางการเงินอย่างแข็งกร้าว จึงเป็นสาเหตุที่สร้างความตึงเครียด ท่ามกลางภูมิภาคยูโรโซนพยายามแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะในปี 2010
อย่างไรก็ดี บรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกลุ่มได้ดำเนินขั้นตอนสำคัญเพื่อเชื่อมความแตกต่างเหล่านี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
· “จอร์จ โซรอส” เปลี่ยนใจต่อมุมมองยุโรป ท่ามกลางความไม่มั่นใจเกี่ยวอนาคตของอียู เนื่องจากสถานะทางการเงินที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา พร้อมเตือนนักลงทุนที่สูญเสียความเชื่อมั่นในเวลานี้และปัญหาทางการเมืองที่จะยังมีอยู่
· เศรษฐกิจออสเตรเลียฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3/2020 - ดีขึ้นเกินคาด
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติออสเตรเลีย (ABS) เปิดเผย เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น 3.3% ในสามเดือนก่อนเดือนกันยายน สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 2.6% หลังจากหดตัว 7% ในไตรมาสที่สอง
แม้จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในแต่ละไตรมาส แต่ GDP ยังคงหดตัว 3.8% ต่อปี ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังคงถดถอย และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายในบางครั้ง
อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวโดยค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือน ปรับเพิ่มขึ้น 7.9% แต่คาดว่าผลผลิตประจำปี จะไม่ถึงระดับเทียบกับก่อนช่วง COVID จนถึงปลายปีหน้า หากออสเตรเลียสามารถป้องกันไวรัสได้
· ทีมนักกฎหมายของไบเดนชี้ ความพยายามของทีมกฎหมายทรัมป์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคะแนนเลือกตั้งได้
· ทรัมป์เรียกร้องอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้พิพากษายันไม่พบการฉ้อโกงการลงคะแนนเสียงที่สำคัญของสหรัฐฯ
ผู้พิพากษาสหรัฐฯ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมไม่พบหลักฐานการฉ้อโกงผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดๆ เมื่อเดือนที่แล้วที่มีการเลือกตั้ง ในขณะที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงพยายามทางกฎหมายอย่างไม่ลดละเพื่อพลิกคดีที่ตนพ่ายแพ้
อย่างไรก็ตามครอบครัวของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกร้องให้ศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯย้ายคดีฉ้อโกงเสียงเลือกตั้งไปสู่ศาลตุลาการ
· นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ไว้ที่ 30.10-30.35 บาท/ดอลลาร์ สำหรับปัจจัยที่ตลาดจับตาดูมีเรื่องการเมืองในประเทศกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีใช้บ้านพักหลวงหลังเกษียณ โดยปัจจัยนี้อาจส่งผลทางจิตวิทยาในช่วงสั้นๆ แต่ตลาดคาดว่านายกฯ ยังไม่หลุดจากตำแหน่ง ถึงจะหลุดจากตำแหน่งก็ยังมี กระบวนการที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ ขณะที่การเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะสุญญากาศ
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 64 จะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปีนี้ โดยจะอยู่ในช่วง 29-30บาท/ดอลลาร์ จากสิ้นปีนี้ 30 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญมาจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าจากการเมืองสหรัฐฯที่ยังรอความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ส่งผลให้เม็ดเงินที่เข้าไปลงทุนในสหรัฐฯชะลอตัวรอความชัดเจนของมาตรการดังกล่าว
- รัฐบาลรับทราบการขอชะลอโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ออกไปก่อนจนกว่าจะสามารถหาข้อสรุปในเบื้องต้น รวมถึงผลกระทบผู้ประกอบการและกระทรวงการคลังได้ เนื่องจากมีรายละเอียดที่จะต้องพิจารณาค่อนข้างมาก
- คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึงและมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้
- บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/63 คาดว่าจะมีอัตราการฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ที่ชะลอลง เมื่อเทียบกับการฟื้นในช่วงไตรมาส 3/63 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 ที่เป็นฐานต่ำ เพราะเป็นช่วงที่มีการล็อกดาวน์ แต่ก็ยังมีโมเมนตัมบวกและอาจจะต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/64 โดยมีปัจจัยหนุนหลัก คือ มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยวในประเทศของรัฐบาล