ทองคำปรับขึ้นทำสูงสุดรอบ 2 สัปดาห์ ท่ามกลางนักลงทุนที่จับตาการสนับสนุนทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ
· ราคาทองคำปรับขึ้นทำสูงสุดรอบ 2 สัปดาห์ โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นว่าจเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯเพื่อต่อสู้กับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากจำนวนยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ดอลลาร์ยังอ่อนค่า แม้จะแข็งค่าได้บ้างแต่ก็ยังอยู่ใกล้กับระดับต่ำสุดในรอบหลายปี จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาทองคำ
· ราคาทองคำปรับขึ้น 0.4% ที่ 1,871.65 เหรียญ โดยช่วงต้นตลาดไปทำสูงสุดตั้งแต่ 23 พ.ย. บริเวณ 1,875.07 เหรียญ
· สัญญาทองคำส่งมอบเดือนก.พ. ปิด +0.5% ที่ 1,874.90 เหรียญ
· กองทุน SPDR เมื่อวานนี้ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติม โดยปัจจุบันถือครองทองคำที่ระดับ 1,179.78 ตัน
· นักกลยุทธ์ฝ่ายการตลาดอาวุโสจาก RJO Futures กล่าวว่า ภาพรวมดูจะได้รับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น ก็มีแนวโน้มจะทำให้ราคาทองคำและซิลเวอร์ปรับขึ้นได้ต่อ
· ยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้สภาคองเกรสจะโหวตขยายงบประมาณภาครัฐออกไป 1 สัปดาห์ เพื่อให้บรรดานักกฎหมายมีเวลาเพิ่มมากขึ้นในการทำข้อตกลงกระตุ้นเศรษฐกิจหรือแพ็คเกจ Covid-19
· หัวหน้านักวิเคราะห์โลหะมีค่าจาก HSBC กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ และตลาดดูจะตอบรับกับแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดแม้เป็นเพียงการเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งต้องไม่ลืมว่า การอ่อนค่าของดอลลาร์ ควบคู่กับ “อัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ระดับติดลบ” และยอดติดเชื้อ Covid-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยบวกในทองคำและซิลเวอร์ทั้งสิ้น แต่ข่าวดีที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับวัคซีนก็อาจเป็นปัจจัยลบที่ประมาทไม่ได้เช่นกัน
· ราคาซิลเวอร์ปิด +0.6% ที่ระดับ 24.64 เหรียญ
ราคาพลาเดียมปิด -0.7% ที่ 2,315.79 เหรียญ
ราคาแพลทินัมปิด +0.4% ที่ 1,025.56 เหรียญ
· สหรัฐฯเจรจากระตุ้นเศรษฐกิจต่อ | “McConnell” ยอมลดข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการเจรจาแพ็คเกจ Covid-19
นายมิทช์ แมคคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากของวุฒิสภาสหรัฐฯ แสดงความต้องการที่จะผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่มีข้อกฎหมายมาบังคับการให้การช่วยเหลือรัฐต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเป็น 2 ประเด็นสำคัญ ขณะเดียวกันก็ยังมีประเด็นอื่นๆที่ยังเห็นต่างกัน ประกอบด้วย โครงการเงินกู้ภาคธุรกิจขนาดเล็กหรือ PPP (Paycheck Protection Program) และการจ่ายเช็คโดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรายบุคคล
ทั้งนี้ นายแมคคอนเนล แนะนำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถผลักดันและให้การช่วยเหลือรัฐต่างๆ และรัฐบาลท้องถิ่นให้ได้ ก่อนจะกลับมาเจรจากันอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งหลัง 1 ม.ค. ปีหน้า ท่ามกลางช่วงเวลาเปลี่ยนสมัยมาสู่ทีมบริหารของนายไบเดน
ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนระดับอาวุโสของ GLOBALT แสดงความหวังที่จะเห็นข้อตกลงกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นลุล่วง แต่ก็ยังมีอีกหลายๆประเด็นในเชิงลึกที่ยังเป็นตัวขวางไม่ให้เกิดข้อตกลง ดังนั้น การเคลื่อนไหวในตลาดจึงเป็นความผันหวนในลักษณะ “Treading Water”
นักกลยุทธ์การลงทุนจาก Baird ข่าวเกี่ยวกับการเจรจากระตุ้นเศรษฐกิจดูจะเป็นปัจจัยเชิงบวก จนกว่าจะเกิดการผ่านข้อตกลงฉบับเต็มในการลงนามของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะครอบคลุมในทุกประเด็นมากยิ่งขึ้น
· ยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาสะสมทั่วโลกทะลุ 68.54 ล้านราย เพิ่มขึ้นระหว่างวัน 581,316 ราย ขณะที่ยอดเสียชีวิตสะสมทะลุ 1.56 ล้านราย
ด้านสหรัฐฯยังทำสูงสุด โดยผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มขึ้นกว่า 206,000 ราย ล่าสุดรวมที่ 15.58 ล้านราย และมียอดเสียชีวิตรวมใกล้ทะลุ 300,000 ราย ล่าสุดสะสมที่ 293,363 ราย
· Johnson & Johnson "ม้ามืดในวงการวัคซีนโควิด-19"
Johnson & Johnson ถูกมองว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการแข่งขันวัคซีนโควิด -19 ได้เริ่มการทดลองในระยะเฟดสาม และคาดว่าจะยื่นขออนุมัติฉุกเฉินสามารถใช้ได้ทันต้นปี 2021 หากผลของวัคซีนปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Pfizer และ Moderna ได้เสร็จสิ้นการทดลองในระยะเฟดสามแล้ว และผลออกมาดีเยี่ยมและมีแนวโน้มขนส่งภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
· S&P Global – บริษัทสหรัฐฯมีภาวะเงินสดลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งกระแสเงินสดและภาคการลงทุนของบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องทางการเงินและไม่เกี่ยวกับด้านสาธารณูปโภคที่เคยปรับขึ้น 30% ทำ All-Time High มูลค่า 2.5 ล้านล้านเหรียญช่วงครึ่งปีแรกของี 2020
กลับพบว่ามียอดหนี้เพิ่มขึ้น 9% เกือบ 8 ล้านล้านเหรียญ ขณะที่เฟดมีแผนจะคงดอกเบี้ยระดับต่ำไว้อย่างน้อย 3 ปี เพื่อช่วยบริษัทเหล่านี้ในการจัดการกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้น หากวิกฤตทางด้านสุขภาพยังเลวร้ายลง
S&P Global Ratings เชื่อว่า ระยะสั้น “เศรษฐกิจยังไม่แน่นอน” และมีแนวโน้มจะกระทบกับยอดงบดุล (Balance Sheets) แต่หากพิจารณาต่อแนวโน้มปี 2021 ก็จะเห็นว่า “การมาของวัคซีน” จะมีการพร้อมใช้งานที่เป็นวงกว้างมากขึ้น จึงอาจเห็นการกลับมาใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินเพิ่มขึ้นได้
· “ไบเดน” แนะนำทีมสาธารณสุข มุ่งเน้นการสวมใส่หน้ากากอนามัย, สถานศึกษา และวัคซีน พร้อมย้ำว่าเป้าหมายของเขาคือ “ประชาชน 100 ล้านคน” ต้องได้รับวัคซีนภายในการดำรงตำแหน่งช่วง 100 วันแรกของเขา
· ศาลสูงสุดสหรัฐฯปฏิเสธรับคำร้องทรัมป์ต่อชัยชนะของนายไบเดนในรัฐเพนซิลเวเนีย
· Fitch Ratings อัพเกรดมุมมอง “ถึงมีวัคซีน” ก็ไม่มีแนวโน้มจะเห็นเศรษฐกิจประเทศหลักๆฟื้นตัวได้ในปี 2021 ไม่ว่าจะเป็นประเทศในแถบละตินอเมริกา, ตะวันออกกลาง และแอฟริกาที่ยังคงมีแนวโน้มเชิงลบค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Fitch Ratings ยังระบุว่า ประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วทั้งหมด “ค่อนข้างชัดเจนที่จะได้รับประโยชน์จากวัคซีน” แต่ประเทศอังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส และอิตาลี มีแนวโน้มจะเผชิญกับความยากลำบากมากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 ขณะที่อังกฤษและอียู มีปริมาณการพรีออเดอร์วัคซีนของบริษัท Pfizer, Moderna และ Oxford-AstraZeneca เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ช่วงเริ่มปี 2021 จะยังเห็น “ยุโรป-สหรัฐฯ” อ่อนแออยู่ อันเนื่องจากผลกระทบจากการใช้มาตรการคุมเข้มที่มากขึ้น และคาดจะเห็นการฟื้นตัวได้ประมาณปี 2022 มากกว่า ขณะที่ประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วจะมีการกระจายวัคซีนอย่างค่อยเป็นค่อยไปอันเนื่องจากภาคโลจิสติกส์ที่เป็นความท้าทายมากขึ้น ขณะที่วัคซีนมีแนวโน้มถูกสั่งซื้อล่วงหน้าเพิ่มขึ้น
จีดีพีโลก มีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งประมาณกลางปี 2021 หากแนวโน้มของวัคซีนกระจายได้เป็นวงกว้าง
สถาบัน Moody’s ก็มีการเผยกับสำนักข่าว Reuters ว่า ภาพรวมตราสารหนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นสัญญาณลบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ขณะที่ S&P Global กล่าวเตือนว่า มีโอกาสหั่นอันดับความน่าเชื่อถือ หรือปรับลดมุมมองได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
· รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น แสดงความกังวล “กิจกรรมกองทัพเรือของจีนที่ขยายวงกว้างในน่านน้ำญี่ปุ่น” เนื่องด้วยถือเป็นการคุกคามอย่างยิ่ง และเกรงว่า จีนอาจขยายอำนาจกิจกรรมกองทัพเรือไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก
จีนและญี่ปุ่นมีข้อพิพาทกันมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับหมู่เกาะที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ในทะเลจีนตะวันออก หรือเป็นที่รู้จักในนาม เกาะเตียวหยูในจีน และ เกาะเซนกะกุในญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ทำให้สองประเทศปะทะกันอยู่บ่อยครั้งถึงข้อพิพาทนี้ ซึ่งได้ตกลงกันเมื่อเดือนที่แล้วเพื่อดำเนินการอภิปรายต่อไป
อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ จะจัดการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมปีหน้า
· เจรจา Brexit ยังประสบปัญหาจากภาวะทางการเมือง
อังกฤษเผยยังไม่สามารถตกลงกับอียูได้ถึงแนวทางการจัดการพรมแดนไอร์แลนด์เหนือร่วมกันได้
· ความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสเตรเลียทำสูงสุดรอบ 10 ปี แตะ 48% สูงสุดตั้งแต่ต.ค. ปี 2010 ซึ่งในช่วงนั้นทำสูงสุดที่ 112 จุด โดยเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องช่วง 4 เดือนจากตลาดที่ตอบรับกับการคลายมาตรการ Lockdown รวมทั้งการเปิดพรมแดนกับประเทศต่างๆ
· นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 29.90 - 30.15 บาท/ดอลลาร์ และน่าจะยังไม่หลุด 30 บาท/ดอลลาร์ โดยช่วงท้ายตลาดเงินบาทแข็งค่าไปที่ระดับ 30.09 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่ 2 ม. ค.63 และระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.09-30.15 บาท/ดอลลาร์ โดยเป็นผลมาจากยังมีเงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง