เงินบาทแข็งแตะ 29.98 บาท/ดอลลาร์ ในรอบเกือบ 1 ปี คาดว่าแบงก์ชาติจะเข้ามาแทรกแซง ก่อนจะดีดกลับไปเหนือ 30 บาท/ดอลลาร์ ด้านไทยพาณิชย์ มองสิ้นปีหน้าค่าเงินบาทวิ่งแตะ 29.50 บาท/ดอลลาร์ ส่วนเศรษฐกิจไทยรับอานิสงส์ภาครัฐฯอัดงบพยุงจีดีพีโต 3.8%
- นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบค่าเงินยูโรได้อ่อนค่าลง ถือเป็นปัจจัยหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าหลุด 30.00 บาท/ดอลลาร์โดยไปแตะที่ 29.98 บาท/ดอลลาร์ในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะมาแรงซื้อกลับเข้ามา โดยเชื่อว่าเป็นการเข้ามาดูแลค่าเงินบาทของทางการ ทำให้ค่าเงินกลับไปเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30.00-30.02 บาท/ดอลลาร์
- ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก และเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ โดยตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.5% เทียบกับเงินวอนเกาหลีใต้ที่แข็งค่าขึ้น 4.5% และเงินรูเปียห์อินโดนีเซียที่แข็งค่า 3.9% อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับต้นปี เงินบาทยังอ่อนค่าอยู่เล็กน้อย ประมาณ 0.4%
“ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และได้เข้าดูแลเพื่อชะลอความผันผวนที่จะกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง รวมถึงจะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด”
- นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2564 คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 29.50-30.50 บาท/ดอลลาร์ จากสิ้นปีนี้ 30.00-30.50 บาทต/ดอลลาร์ เป็นผลจากแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนความขัดแย้งทางการค้าที่แม้จะดำเนินต่อไป แต่น่าจะลดความผันผวนลง และการขาดดุลทางการคลังที่มากขึ้นของสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดเกิดใหม่รวมถึงตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะต่อไป
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดจะขยายตัวที่ 3.8% ดีขึ้นจากเดิมที่คาดขยายตัว 3.5% โดยมาจากฐานที่ต่ำในปีนี้ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เม็ดเงินของภาครัฐทั้งจากในงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงการกระจายวัคซีนในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) จะยังคงกดดันการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชน
ทั้งนี้ คาดว่าการใช้จ่ายเงินภาครัฐจะมีจำนวนมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี 9.8% จากเดิมคาด 8.9% นอกจากนี้ ยังมีวงเงินเหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อีกประมาณ 500,000 ล้านบาท ที่รัฐสามารถใช้ได้ในปี 2564 และล่าสุดที่รัฐบาลได้ออกมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 2 และให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมกับผู้ถือบัตรสวัสดิการ รวมถึงขยายเวลามาตรการเราเที่ยวด้วยกัน โดยเป็นสัญญาณว่ารัฐยังพร้อมใช้มาตรการเพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง
นายยรรยงกล่าวอีกว่า ในภาคส่งออกของไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.7% จากเดิม 4.9% ตามทิศทางเศรษฐกิจ และการค้าโลก ส่วนเศรษฐกิจไทยในปีนี้หดตัวลบ 6.5% จากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 7.8%.
- นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ แนะ พัฒนาการค้าชายแดน ยกระดับ "เงินบาท" เป็นเงินสกุลหลักภูมิภาค
เปิดยอด เงินบาทแข็งค่า ตั้งแต่ ส.ค.-ธ.ค. หลังหลุดกรอบ 30 บาท ผลจากดอลลาร์อ่อนค่าลง
นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ปีหน้า เงินบาทแข็งค่า หลังหลุดกรอบ 30 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ ไปเมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง
นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เงินบาทช่วงเช้าวันที่ 9 ธ.ค.ได้แข็งค่าหลุด 30.00 บาท/ดอลลาร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยแข็งค่าไปถึง 29.97 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 1 ปี นับจากช่วงสิ้นปี 2562 เป็นผลมาจากนักลงทุนตอบรับวัคซีนที่เริ่มใช้และมีแนวโน้มมีประสิทธิภาพใช้ได้ดี รวมถึงได้มีปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทำให้นักลงทุนลดถือครองสกุลเงินดอลลาร์ โดยโยกย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น ตลาดหุ้น ทำให้สกุลเงินต่าง ๆ ในประเทศเกิดใหม่ รวมถึงเงินบาทไทย แข็งค่าขึ้น และมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยฯ คาดเงินบาทจะแข็งค่าต่อไปถึงสิ้นปี 2564 แตะระดับ 29.00-29.25 บาท/ดอลลาร์
นอกจากนี้ส่วนหนึ่งเงินบาทไทยเป็นที่นิยมของนักลงทุนต่างชาติ เพราะไทยมีหนี้ต่างประเทศน้อยและเกินดุลการค้าสูง แต่อย่างไรก็ตามการแข็งค่าของเงินบาทจะยิ่งทำให้ผู้ส่งออกเหนื่อยมากขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยนักลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนกำลังจับตาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะมีมาตรการมาดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือให้เงินบาทสมดุล ไม่แข็งค่าจนเกินไปได้อย่างไร
สรุปข่าวภายในประเทศที่น่าสนใจอื่นๆ
- ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ พ.ศ. 2565) ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ
อย่างไรก็ดี (ร่าง) แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด - 19 พ.ศ. 2564 – 2565 (ฉบับสมบูรณ์)
- พรเพชร ชี้ที่มา ส.ส.ร.ไม่ควรเลือกตั้งทั้งหมด เปิดทางผู้ทรงวุฒิ-เยาวชนร่วมวง
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นไปตามการดำเนินการของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทราบว่าตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็น ส่วนกระบวนการคงเป็นไปตามการพิจารณากฎหมายปกติ เร่งรัดมากไม่ได้ เพราะบทบัญญัติบางบทบัญญัติไม่สามารถลอกของเก่าได้ เนื่องจากอาจเกิดการขัดกันของกฎหมาย จึงต้องพิจารณาให้มาตราต่างๆ สอดคล้องกัน
- วิรัช เผยรัฐบาลพร้อมเสนอชื่อร่วมเป็นคกก.สมานฉันท์ ส่วนแก้รธน.คาดเสร็จ ม.ค.64
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการเสนอรายชื่อบุคคลเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ขณะนี้แต่ละฝ่ายได้มีการส่งชื่อมาแล้ว โดยสัดส่วนของคณะรัฐมนตรีได้มีการเตรียมการไว้แล้วเช่นกัน แต่ยังไม่ทราบรายชื่อ
- ไทยเสนอที่ประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน+ญี่ปุ่น ตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงไซเบอร์
ที่มา: ไทยรัฐ, Business Today และ RYT9