การช่วยเหลือผ่านเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะสนับสนุนให้ค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้บริโภคนั้นปรับตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มจะเห็น "ทิศทางเชิงบวก" เพิ่มมากขึ้นในการเปิดทำการทางเศรษฐกิจ
บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดหวังจะเห็น ยอดค้าปลีกประจำเดือนม.ค. ที่จะประกาศในคืนนี้เวลา 20.30น. (ตามเวลาไทย) น่าจะออกมาโตได้ 1.2% หลังจากที่ร่วงลงไป -0.7% ในเดือนธ.ค.
ขณะที่ยอดค้าปลีกที่ไม่รวมกลุ่มยานยนต์ (Core Retail Sales) คาดว่าจะปรับขึ้นได้ 1%
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Amherst Pierpont แสดงความคิดเห็นว่า ข้อมูลค้าปลีกเดือนพ.ย. - ธ.ค. ในปีที่ผ่านมาค่อนข้างเป็นไปในเชิงลบ จากสถานการณ์การพบยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงทำให้ประชาชนลดการใช้จ่าย
แต่การได้รับเช็คช่วยเหลือ 600 เหรียญ ในช่วงต้นเดือนม.ค. จากกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับล่าสุดที่ได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสเมื่อเดือนธ.ค. ก็ทำให้คาดว่า "ยอดค้าปลีกสหรัฐฯอาจโตได้ราว 0.8%" และจะขยายตัวได้มากขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Moody's Analytics กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านเหรียญในช่วงส่งท้ายปีจะสะท้อนกับข้อมูลเศรษฐกิจคืนนี้ที่น่าจะออกมาได้อย่างแข็งแกร่งสอดคล้องกับการใช้มาตรการ Work from home ของหลายๆแห่งที่ทำให้ยอดขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าปลีกออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเดือนม.ค. ที่จะเห็นการปรับตัวได้อีก ขณะที่การกลับมาเปิดทำการของกลุ่มผู้ค้าปลีกก็ดูจะมีสัญญาณที่ "แข็งแกร่ง" ไม่ว่าจะเป็นร้านเสื้อผ้า หรือร้านอหารที่มีการปรับตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เขาคาดหวังว่ายอดค้าปลีกน่าจะขยายตัวได้ 2.1% จากข้อมูลธุรกิจเทียบธุรกิจ และการทำธุรกรรมค่าใช้จ่ายของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง
ภาพรวมนักเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่า จะเห็นสัญญาณค่าใช้จ่ายอื่นๆปรับตัวสูงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ทีมบริหารของนายไบเดนจะมีการสนับสนุนเช็คช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ประชาชนคนละ 1,400 เหรียญ โดยยังอยู่ในกระบวนการผลักดันให้ผ่านจากทางสภาคองเกรส ที่หากผ่านมติได้ก็มีโอกาสหนุนค่าใช้จ่ายผู้บริโภคได้เพิ่มมากขึ้นอีก
นักเศรษฐศาสตร์จาก Amherst Pierpoint กล่าวว่า ท่ามกลางประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีน และการกลับมาเปิดกิจการทางเศรษฐกิจ น่าจะทำให้เราเห็นข้อมูลเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวตั้งแต่ตอนนี้ตราบจนถึงช่วงกลางปี ดังนั้น "ภาคธุรกิจน่าจะกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้งในเดือนมี.ค."
ที่มา: CNBC