น้ำมันดิบยังคงทำสูงสุดรอบ 13 เดือน จากภาวะตึงตัวของอุปทาน - เฟดยันตรึงดอกเบี้ยระดับต่ำ
สัญญาน้ำมันดิบ Brent ส่งมอบเดือนเม.ย. ปรับขึ้น 19 เซนต์ หรือ +0.3% ที่ 67.23 เหรียญ/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ปรับขึ้นมา 8 เซนต์ หรือ +0.1% ที่ระดับ 63.30 เหรียญ/บาร์เรล
โดยวันนี้ยังปรับขึ้นได้ต่อ หลังจากที่เมื่อคืนนี้สัญญาน้ำมันดิบทั้ง 2 ชนิดมีการปรับตัวสูงขึ้นไปทำระดับสูงสุดได้ตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค. ปี 2020ในช่วงต้นตลาด ซึ่งน้ำมันดิบ Brent แตะ 67.44 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI ขึ้นไปที่ 63.67 เหรียญ/บาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง 4 วันทำการ โดยไปทำสูงสุดในรอบ 13 เดือน โดยตลาดได้รับอานิสงส์จาก ปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1) เฟดยังคงมีแนวทางใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป
2) ประธานเฟดตอกย้ำถึงการจะใช้ดอกเบี้ยระดับต่ำต่อไป หนุนนักลงทุนกลับเข้าสินทรัพย์เสี่ยงและตลาดการเงินทั่วโลก
3) การผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯปรับตัวลดลง จากปัญหาพายุฤดูหนาวที่พัดกระหน่ำในรัฐเท็กซัส
4) EIA เผยสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯในสัปดาห์ที่แล้วลดลงไปกว่า 10% หรือ 1 ล้านบาร์เรล/วัน
5) อุปทานน้ำมันดิทั่วโลกอาจตึงตัวจากกลุ่มผู้ใช้น้ำมันในสหรัฐฯ เนื่องจากปริมาณการกลั่นน้ำมันปรับตัวลดลงต่ำสุดตั้งแต่ก.ย. ปี 2008
6) ซาอุดิอาระเบียทำการปรับลดการผลิตน้ำมันครั้งพิเศษในเดือนก.พ. และมี.ค. จากภาวะอุปทานตลาดตึงตัวและเพื่อเป็นการสนับสนุนราคาน้ำมันดิบ
อย่างไรก็ดี แนะนำให้นักลงทุน จับตาการประชุม OPEC+ ในวันที่ 4 มี.ค.นี้
โดยกลุ่ม OPEC+ มีแนวโน้มจะหารือเกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการผลิตน้ำมันตั้งแต่เดือนเม.ย. นี้ อันเนื่องจากราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าบางส่วนจะชี้ว่าการปรับขึ้นในเวลานี้ ก็ยังอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงที่จะเห็นราคาปรับตกลงมาได้จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโนา
ที่มา: Reuters