• สรุปข่าวราคาทองคำ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 15 มีนาคม 2564

    15 มีนาคม 2564 | Gold News

ทองคำปรับตัวขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ – ปิดสัปดาห์ที่ดีที่สุดในรอบ 7 สัปดาห์

ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นในคืนวันศุกร์ โดยที่ปิดสัปดาห์ได้ดีที่สุดในรอบ 7 สัปดาห์ โดยได้รับอานิสงส์จากดอลลาร์อ่อนค่า และตลาดหุ้นอ่อนตัว จึงช่วยชดเชยแรงกดดันบางส่วนจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร


· ราคาทองคำตลาดโลกปิด +0.2% ที่ 1,724.16 เหรียญ
หลังจากที่ช่วงต้นตลาดปรับตัวลดลงไปได้มากถึง -1.4%
ภาพรวมสัปดาห์ที่ผ่านมาทองคำปิด +1.4%


· สัญญาทองคำส่งมอบเดือนเม.ย. ปิด -0.2% ที่ 1,719.80 เหรียญ

· หัวหน้านักกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์จาก TD Securities กล่าวว่า การอ่อนตัวของดัชนีดอลลาร์ ที่ปรับลดลงไปจากบริเวณ 92 จุด สู่แนว 91.6 จุด ได้สร้างความต้องการทองคำมากขึ้น รวมไปถึงความต้องการสินทรัพย์ทรัพย์เสี่ยงที่ลดน้อยลง และทองคำยังไม่หลุด 1,700 เหรียญ

· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี ปรับขึ้นแตะ 1.642% สูงสุดใหม่ในรอบกว่า 1 ปี จึงช่วยดันให้ดัชนีดอลลาร์ดีดกลับขึ้นมาบ้าง โดยดัชนีดอลลาร์สามารถปิด +0.25% ที่ 91.668 จุดหลังจากที่วันอังคารที่แล้วทำสูงสุด 92.506 จุด


· กองทุนทองคำ SPDR เมื่อวันศุกร์ขาย 3.2 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,052.07 ตัน ซึ่งเป็นต่ำสุดตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. 2020

ภาพรวมขายต่อเนื่องมาแล้ว 8 วัน อยู่ที่ 35.05 ตัน ส่งผลให้ภาพรวมปัจจุบันเดือนมี.ค. ขายทองคำรวมสุทธิ 41.46 ตัน

ตั้งแต่ม.ค. - ปัจจุบัน ปี 2021 กองทุน SPDR ขายทองคำออกแล้วทั้งสิ้น สุทธิ 118.67 ตัน


อย่างไรก็ดี เดือนมี.ค. ปี 2021 กองทุน SPDR ยังมีแรงเทขายอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 โดยมีการขายออกตั้งแต่ต.ค. - ปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 216.82 ตัน


· นักลงทุนบางส่วนยังเลือกที่จะถือครองทองคำเพื่อเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในเวลานี้ หลังนายไบเดนลงนามกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านเหรียญ


· นักวิเคราะห์จาก Capital Economics กล่าวว่า ความต้องการทองคำยังมีอยู่ในตลาดบางส่วน และในเวลานี้ก็ยากเกินจะคาดเดาว่าทองคำมีโอกาสจะหลุด 1,600 เหรียญในปีนี้หรือไม่ และก็ไม่น่าแปลกใจหากราคาหลุดลงได้ เนื่องจากราคาซิลเวอร์ค่อนข้างสัมพันธ์วิ่งสัมพันธ์กับทองคำ


· ซิลเวอร์ปิด -0.9% ที่ 25.85 เหรียญ แต่ปิดสัปดาห์แดนบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์


· พลาเดียมปิด +0.9% ที่ 2,366.35 เหรียญ

· แพลทินัมปิด -0.5% ที่ 1,200.41 เหรียญ หลังปิดสัปดาห์ +6.3%


· ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สหรัฐฯเพิ่มขึ้นปานกลางในเดือนก.พ. แต่สัญญาณเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้

ดัชนี PPI ประจำเดือนก.พ. สหรัฐฯ ขยายตัวได้ 0.5% ในเดือนก.พ. โดยได้รับอานิสงส์ของกลุ่มราคาในหมวดค้าส่งที่ปรับขึ้น โดยเฉพาะด้านพลังงานที่ปรับขึ้นได้กว่า 6% และราคาแก๊สโซลีนปรับขึ้นได้ราว 13.1%

นอกจากนี้ ดัชนีอุปสงค์การบริการขั้นสุดท้ายขยายตัวได้ 0.1% ในเดือนก.พ. หลังจากที่ปรับขึ้นแข็งแกร่ง 1.3% ในเดือนก่อนหน้า

แต่เมื่อเทียบรายปี จะพบว่าดัชนี PPI ที่เป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อขยายตัวได้อย่างรวดเร็วแตะ 2.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวได้มากสุดตั้งแต่ต.ค. ปี 2018 หลังจากที่เดือนม.ค. โตได้ 1.7%


สำหรับดัชนี Core PPI (ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) ภาพรวมรายปีขยายตัวได้ 2.2% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 2%

ภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ: “แนวโน้มเงินเฟ้อ” เป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังกังวลจากการเกิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านเหรียญที่สามารถผ่านเป็นกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ลงนามไปเมื่อวันศุกร์

และส่งผลให้ นักเศรษฐศาสตร์บางราย “พิจารณาถึง” งบประมาณค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวในแบบร้อนแรงเกินไป “OVERHEAT”

นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด กลับมีมุมองว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้ออาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและจะเห็นกาฟื้นตัวได้จนถึงเดือนพ.ค. นี้ โดยประมาณ


· เจ้าหน้าที่ TIRS เผย การจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯรอบแรกจะเข้าสู่บัญชีต่างๆของภาคธนาคารในสัปดาห์นี้


· Bloomberg รายงานมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ เล็งเฟดขึ้นดอกเบี้ยปี 2023 แต่รายงาน Dot Plot อาจไม่แสดงให้เห็นสัญญาณดังกล่าว


ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จาก Bloomberg News ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจหลังจากทีเผชิญภาวะถดถอยของ Covid-19 มีแนวโน้มจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด และสมาชิกเฟดตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในปี 2023

แต่ภาพรวม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็มองว่า รายงานคาดการณ์ของเฟดเองในการประชุมวาระที่จะถึงนี้ ก็อาจไม่ได้สะท้อนถึงโอกาสขึ้นดอกเบี้ย และน่าจะยังมองค่ากลางของสมาชิกเฟดคาดจะคงดอกเบี้ยใกล้ระดับศูนย์ต่อไป และผลคาดการณ์ก็จะยังสอดคล้องกับคาดการณ์ในเดือนธ.ค. แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะมีการหนุนวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่มูลค่า 3 ล้านล้านเหรียญ จนถึงงบล่าสุด 1.9 ล้านล้านเหรียญภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ร่วมกับโครงการฉีดวัคซีน ที่เป็นปัจจัยเสริมในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ


· สถานการณ์ไวรัสโคโรนา
ล่าสุดยังคงพบรายงานยอดติดเชื้อเพิ่มขึ้นใน 60 ประเทศ

ยอดติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดเพิ่มขึ้นกว่า 358,883 ราย ส่งผลให้มียอดรวมติดเชื้อสะสมเวลานี้ 120.4 ล้านราย และยอดเสียชีวิตทั่วโลกรวมสูงกว่า 2.66 ล้านราย

ภาพรวมยอดติดเชื้อสะสมในสหรัฐฯยังคงสูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก และล่าสุดยอดรวมสะสมทะลุ 30 ล้านรายเป็นที่เรียบร้อย โดยอยู่ในระดับ 30.08 ล้านราย และเสียชีวิตสะสมในประเทศสูงถึง 547,220 ราย

3 อันดับที่มียอดติดเชื้อใหม่รายวันสูงสุดของโลก:
1. บราซิล พบยอดติดเชื้อใหม่เพิ่ม 44,120 ราย ล่าสุดติดเชื้อสะสม 11.48 ล้านราย
2. สหรัฐฯ พบยอดติดเชื้อใหม่ 36,896 ราย รวมสะสมล่าสุด 30.08 ล้านราย
3. อินเดีย พบยอดติดเชื้อใหม่ 26,514 ราย รวมสะสมล่าสุด 11.38 ล้านราย

ขณะที่ 3 อันดับประเทศที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นรายวันมากสุดของโลกพบว่า บราซิลยังคงครองการเพิ่มขึ้นลำดับที่ 1 ตามมาด้วยเม็กซิโก และสหรัฐฯ


· สถานการณ์การระบาดในไทย

วันศุกร์ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 81 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 26,679 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

ขณะที่วันเสาร์ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 78 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 26,757 ราย

และเมื่อวานนี้ล่าสุดศบค.พบติดโควิด พุ่ง 170 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 26,927 ราย มากสุดมาจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 136 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม

โดยภาพรวม 3 วันที่ผ่าน มียอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้น 329 ราย


· CDC เผย สหรัฐฯฉีดวัคซีน Covid-19 ครบ 100 ล้านโดสแรก โดยประชากรกว่า 35 ล้านคนได้รับวัคซีนครบเรียบร้อย คิดเป็นสัดส่วน 13.5% ของกลุ่มผู้สูงอายุ

ขณะที่ประชาชนสหรัฐฯกว่า 65.9 ล้านคนได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยคนละ 1 โดส จากจำนวนที่ต้องฉีดทั้งสิ้น 2 โดส


· ที่ปรึกษาระดับสูงทางการแพทย์ประจำทำเนียบขาว ระบุว่า ยอดติดเชื้อ Covid-19 ในยุโรปพุ่ง เตือนสหรัฐฯอย่านิ่งนอนใจจากการถอนมาตรการคุมเข้มเวลานี้ เนื่องจากสถานการณ์ระบาดยังไม่จบ และผู้ติดเชื้อรายใหม่ในยุโรปยังคงปรับตัวสูงขึ้น


· เยอรมนีประกาศ “Third Wave” ในประเทศเริ่มแล้ว - อิตาลีกำหนด Lockdown ยาวถึงเทศกาลอีสเตอร์


· รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของเยอรมนี เตือน ยอดติดเชื้อ Covid-19 ในเยอรมนีอาจกลับสู่ระดับพีคเช่นเดียวกับเดือนธ.ค. ได้ในช่วงกลางเดือนเม.ย. นี้ ท่ามกลางหลายๆพื้นที่ที่คลายมาตรการ Lockdown และจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง


· อิตาลีคุมเข้ม Covid-19 ประกาศ Lockdown ยาวถึงเทศกาลอีสเตอร์ ท่ามกลางหลายๆพื้นที่ในประเทศที่จะยังมีการใช้มาตรการที่เข้มงวด อาทิ กรุงโรม หรือศูนย์กลางทางการเงินอย่าง “มิลาน” ที่จะมีผลข้อบังคับในวันนี้มากขึ้น เพื่อพยายามลดจำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น จนถึงเทศกาล Easter ประมาณช่วงครึ่งหลังของปี


· นายกฯฝรั่งเศส ระบุถึงการต้องเลี่ยง Lockdown แม้ยอดติดเชื้อใหม่รายวันจะอยู่สูงกว่าระดับ 26,000 ราย


ท่ามกลางสถานการณ์กดดันที่เกิดขึ้นในการเข้ารักษาในโรงพยาบาล พร้อมกันนี้เขายังยอมรับถึงสถานการณ์ในฝรั่งเศสที่ไม่ได้ดีขึ้น จากจำนวนยอดติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น และโรงพยาบาลใกล้เต็มขีดจำกัด รวมทั้งค่าเฉลี่ยต่างๆก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายๆราย กล่าวว่า ต้องมีการใช้มาตรการเข้มงวดรอบใหม่ โดยยอดติดเชื้อรายวันยังคงเพิ่มขึ้นรุนแรงแม้จะยังมีคำสั่งใช้ Lockdown รอบ 3


· ออสเตรเลียพบยอดติดเชื้อเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 สัปดาห์


· นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เผย อาจจะทำการเปิดพรมแดนประเทศได้ในช่วงสิ้นปีนี้


· โครงการฉีดวัคซีนทั่วโลกพบ 122 ประเทศเดินหน้าฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ทำให้ภาพรวมเวลานี้ มีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้วไม่น้อยกว่า 355.078 ล้านโดส

โดยเมือง ยิบรอลตาร์แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีน พบว่าสามารถฉีดครบทั้ง 2 โดสให้แก่ประชากรในพื้นที่ได้สูงกว่า 68% เป็นที่เรียบร้อย

· วันศุกร์ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านกำกับดูแลยาของฝรั่งเศสอนุมัติการใช้วัคซีนของบริษัท Johnson & Johnson โดยการอนุมัติล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลยาของยุโรป (EMA) อนุมัติใช้วัคซีนบริษัทดังกล่าวเช่นกันเมื่อวันพฤหัสบดี


· ไอร์แลนด์เป็นประเทศล่าสุดที่สั่งระงับใช้วัคซีน AstraZeneca


· เนเธอร์แลนด์ ก็มีคำสั่งประกาศระงับใช้วัคซีน Covid-19 จากบริษัท AstraZeneca ภายในประเทศเช่นกัน


· แคว้นปีเยมอนเตแห่งอิตาลีประกาศระงับใช้วัคซีน AstraZeneca


· บริษัท AstraZeneca ออกแถลงการณ์ การพิจารณาผลทดสอบวัคซีนล่าสุด “ไม่พบ” หลักฐานการใช้วัคซีนที่สร้างความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นสำหรับการก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน


· ธนาคารกลางสเปน ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสเปนปีนี้โดยคาดอาจโตได้ 6.8% และอาจบรรลุเป้าหมายเดิมในช่วงก่อนการระบาดได้ประมาณปีหน้า ซึ่งทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับโครงการฉีดวัคซีนเป็นสำคัญ


· รายงานจากเฟด และสมาคมด้านความมั่นคงภาคอุตสาหกรรมและตลาดการเงิน (SIFMA) เผย บริษัทต่างๆของสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะหนี้สินสูงสุดประวัติการณ์เหนือ 10.5 ล้านล้านเหรียญ จากภาวะ “ฟองสบู่” ในหุ้นกู้ โดยเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากวิกฤตไวรัสโคโรนา

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ อาจส่งผลให้บริษัทต่างๆต้องเผชิญกับระดับหนี้สินที่ทำให้เกิดผลกระทบต่างๆตามมา อาทิ
- การดาวน์เกรดบริษัท
- การเผชิญดอกเบี้ยระดับต่ำ
- สถานการณ์ดำเนินงานของภาคบริษัทเข้าสู่ “อันดับขยะ” (Junk Bond)
- ความสามารถในการกู้เงินลดน้อยลงกลายเป็นภาวะ “Fallen Angels” หรือ “Zombie”
(เทวดาตกสวรรค์ หรือการที่เคยมีสถานการณ์บริษัทดี และเปลี่ยนทิศกลับมาแย่ หรือภาวะตายทั้งเป็น)

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและความกังวลเงินเฟ้อ ส่งผลให้สถาบันการเงินต่างๆในสหรัฐฯให้ความสนใจและจับตาไปยังตลาดพันธบัตรอย่างใกล้ชิด รวมทั้งตรวจสอบทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นสำคัญ


· “ไบเดน - ซูงะ” สองผู้นำแห่งสหรัฐฯและญี่ปุ่น มีแนวโน้มจะเข้าพบกันที่กรุงวอชิงตัน 9 เม.ย.นี้


· ผู้เชี่ยวชาญทางการเมือง ชี้ ศึกเลือกตั้งเยอรมนีระหว่างการชิงชัยของพรรค CDU และ SPD มีแนวโน้มสูสีจากการประเมินผลสำรวจหรือโพลล์ต่างๆเวลานี้


· อินเดียเตรียมเสนอกฎหมายสั่งห้ามหรือระงับ Cryptocurrency รวมถึงคำสั่งห้ามการซื้อขายภายในประเทศ หรือแม้แต่การถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงบทลงโทษกลุ่มคนทำเหมืองค่าเงินในกลุ่มดังกล่าว

จากกรณีดังกล่าว ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่จะเห็นนักลงทุนนับล้านรายในประเทศเข้าสู่การลงทุนในสินทรัพย์ที่ร้อนแรงอย่างมากในเวลานี้


· Bitcoin ดิ่งลงกว่า 1.8% บริเวณ 60,077.32 เหรียญ โดยปรับลงกว่า 1,087.87 เหรียญที่เป็นระดับปิดวานนี้ และภาพรวมลดลงกว่า 2.8% จากระดับสูงสุดของปีที่ทำไว้เมื่อ 13 มี.ค. ที่ผ่านมาบริเวณ 61,781.8 เหรียญ


· เหตุประท้วงพม่าระอุต่อเนื่อง กลุ่มผู้ชุมนุมยังถูกฆ่าเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งร้อย, โรงงานจีนในพม่าถูกเผา ท่ามกลางการเรียกร้องให้เกิดการปกป้องทรัพย์สินและพลเรือนจีนในพม่าจากสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น


· กลุ่มกบฎฮูติมีการยิงขีปนาวุธวานนี้เข้าสู่บริเวณโรงเรียนในแคว้นตาอีซ ในประเทศเยเมนซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล ส่งผลให้มีทหารเยเมนเสียชีวิต 15 ราย และมีเด็ก 3 รายที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เสียชีวิตด้วย


· นักบริหารเงิน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวันที่30.60-30.80 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทรายสัปดาห์ที่ 30.40-30.90 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังทำให้เงินบาทอ่อนค่ากว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค แม้มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าก็ตามแนะจับตาทิศทางของนโยบายการเงินทั่วโลกก่อนในสัปดาห์นี้ คาดเฟดยังคงดอกเบี้ยและสหรัฐฯฉีดวัคซีนมากเพียงพอ จึงน่าจะเป็นปัจจัยหนุนเงินบาทในระยะยาวปรับตัวแข็งค่า


· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์

- รมช.คมนาคมเร่งปรับปรุงท่าเรือเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าให้ทันรองรับสายสีแดง นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคมเปิดเผยว่า ได้ติดตามความคืบหน้าพร้อมสั่งการเร่งรัดการปรับปรุงท่าเทียบเรือโดยสาร หรือ Smart Pier ที่เป็นจุดเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าเพื่อให้ทันรองรับการเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ของสถานีรถไฟกลางบางซื่อที่มีกำหนดเปิดใช้ในเดือนพ.ย. 2564


· อ้างอิงจากสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ

- EIC มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าคาดปีนี้โต2.6%

EIC ปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้เป็น 2.6% จาก 2.2% จากการส่งออกที่ดีตามเศรษฐกิจโลก พร้อมประเมินภาพรวมเศรษฐกิจระยะต่อไปจะฟื้นตัวช้าและมีความเสี่ยงที่จะเกิด permanent output loss ขนาดใหญ่ แนะภาครัฐอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มเข้าระบบเศรษฐกิจ ชี้ยังมีช่องกู้เงินเพิ่มได้


· อ้างอิงจากสำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ

- ความหวังต่างชาติเที่ยวไทย ต่อลมหายใจฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย

คาดต่างชาติเที่ยวไทย 2 ล้านคน จับตานโยบายรัฐบาลจีน

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ตัวแปรหลักคือการเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนโควิดและนโยบายของแต่ละประเทศที่มีผลอย่างมากต่อการฟื้นตัวของตลาดท่องเที่ยวไทย ซึ่งจากการติดตามอัตราการฉีดวัคซีนของตลาดสำคัญ 10 แห่งที่มีการฉัดวัคซีนให้ประชากรในประเทศ พบว่า ประเทศจีนได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 21% ยุโรป 43% สหรัฐ 85% รัสเซีย 20% สิงคโปร์ 60% เกาหลีใต้ 25% ฮ่องกง 24% ญี่ปุ่น 10% มาเลเซีย 7% และเวียดนาม 3%

“ซึ่งตัวแปรสำคัญจะอยู่ที่นโยบายรัฐบาลจีนว่าจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเมืองไทยหรือไม่ และนโยบายการลดวันกักตัว รวมไปถึงความคืบหน้าวัคซีนพาสปอร์ต”

ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4/64 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย(ไฮซีซั่น) โดยภายใต้สมมุติฐานที่นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นไปตามแผนของภาครัฐและมีความชัดเจนเกี่ยวกับวัคซีนพาสปอร์ตมากขึ้น มีข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศน้อยลง ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 64 จะอยู่ที่ 2 ล้านคน เฉพาะไตรมาส 4/64 เข้ามาได้ราว 1.9 ล้านคน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้นหากแต่ละประเทศมีการฉีดวัคซีนในอัตราเร่งตัวขึ้น เช่น จาก 2 โดสเหลือ 1 โดส เป็นต้น แต่ก็จะมีดาวน์ไซต์เพราะคนที่ฉีดวัคซีนอาจจะไม่ใช่กลุ่มที่จะเดินทางท่องเที่ยว เช่น แพทย์, ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง, ผู้สูงอายุ เป็นต้น

ปรับกรอบจีดีพีไทยแคบลงเหลือ 0.8-3% สะท้อนเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุด

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวต่อว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) ปี 64 อยู่ที่ 2.6% แต่ได้ปรับกรอบประมาณการแคบลงจากเดิมที่ 0.0-4.5% มาที่ 0.8-3% สะท้อนมุมมองการผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยหากเกิดการระบาดรอบใหม่เชื่อว่าจะไม่รุนแรง มาตรการควบคุมจะเป็นเฉพาะจุดมากขึ้น เพราะฉะนั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจน่าจะเบาบางลง

โดยกรอบล่างเป็นดาวน์ไซต์กรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยได้ช้าและไม่ถึง 2 ล้านคน ส่วนกรอบบนมีอัพไซต์กรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเกินกว่า 2 ล้านคน และภาพตัวเลขส่งออกดีกว่าคาดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้ปรับประมาณการจีดีพีโลกปี 64 อยู่ที่ 5.5% และปี 65 อยู่ที่ 4.2% หลักๆ มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย แต่จีดีพีไทยอาจจะเป็นการฟื้นตัวที่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับตัวเลขส่งออกปีนี้โต 4.5% จากเดิมโต 3% (คำนึงถึงการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าเงินบาทไว้แล้ว) โดยสินค้าส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนรถยนต์, น้ำมัน, ผลไม้สด เป็นต้น

นางสาวณัฐพร กล่าวเพิ่มว่า ประเด็นที่ต้องติดตามที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป มีอยู่ 2-3 เรื่องคือ 1.การกระจายวัคซีนในประเทศและแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งตามแผนภาครัฐระยะที่ 2 การกระจายวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดส ช่วงเดือน มิ.ย.64 และให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หรือเฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน

“น่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนช่วงเปิดไตรมาส 3/64″


2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยับตัวเร็ว มองกรอบราคาน้ำมันที่ 50-60 เหรียญต่อบาร์เรล เนื่องจากยังมีปัจจัยเฉพาะ เช่น พายุทำลายความเสียหายแหล่งผลิตน้ำมันของสหรัฐ ซึ่งกว่าจะเดินสายกำลังการผลิตได้ช่วงครึ่งปีหลังไปแล้ว และประชุม OPEC+ การขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.64 และซาอุฯคงปรับลดกำลังการผผลิตที่ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นเดือนที่สาม

ทั้งนี้จากราคามันปรับตัวสูงขึ้นจะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขยับคาดการณ์ขึ้นมาอยู่ที่ 1.1% จากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 0.8% และถ้าราคาพลังงานขยับขึ้นเร็วท่ามกลางเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าเศรษฐกิจโลกจะเป็นภาระครัวเรือน แต่เชื่อว่าภายใต้ภาวะกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยบรรเทาค่าครองชีพไปได้


3.เม็ดเงินสำหรับใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเหลือราว 3.7 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อประคองการใช้จ่ายในประเทศจนกว่าจะเริ่มทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com