สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วกว่า 673 ล้านโดสใน 155 ประเทศ คิดเป็นอัตรา 4.4% ของประชากรโลก อัตราล่าสุดอยู่ที่ราว 16.2 ล้านโดสต่อวัน
ในสหรัฐคนอเมริกันที่ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส มีมากกว่าคนที่ติดโควิด ถึงขณะนี้ชาวอเมริกันรับวัคซีนแล้ว 167 ล้านโดส ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยการฉีดที่ 3.05 ล้านโดสต่อวัน
การฉีดวัคซีนส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์เอเชียปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ผลจากการฉีดวัคซีนได้รวดเร็ว ศูนย์ญี่ปุ่นเพื่อวิจัยเศรษฐกิจ (เจซีอีอาร์) และนิกเคอิสำรวจความคิดเห็นประจำไตรมาส ระหว่างวันที่5-26 มี.ค. นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จากอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ให้ข้อมูลรวม 40 ราย
ผู้ให้ข้อมูลมองว่า 5 ประเทศอาเซียนที่กล่าวมาเศรษฐกิจจะเติบโตเป็นบวกในปีนี้ หลังจากร่วงอย่างหนักในปี 2563 พวกเขาปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจของสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และอินเดีย จากผลการสำรวจครั้งก่อนที่ทำไว้ในเดือน ธ.ค.
สิงคโปร์ปีนี้เศรษฐกิจจะโตถึง 6.1% เพิ่มจาก 4.5% จากครั้งก่อน อินโดนีเซียขยายตัว 3.9% จาก 3.6% ในการสำรวจก่อนหน้า อินเดียจีดีพีโต 11.2% จากคาดการณ์เดิม 9.1%
เหตุผลสำคัญที่ต้องปรับเพิ่มคือโครงการฉีดวัคซีนของทั้งสิงคโปร์และอินโดนีเซียค่อนข้างประสบความสำเร็จ อินโดนีเซีย ประเทศหนึ่งในภูมิภาคที่เสียหายจากโควิดหนักสุดเมื่อปีก่อน เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนในเดือน ม.ค.
ในภาพรวมคาดว่าไทยแย่ที่สุด นักวิเคราะห์ปรับลดการเติบโตเหลือแค่ 2.6% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ 3.5% ในเดือนธ.ค.
“ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งจ้างงานสูงมากในประเทศไทย เสียหายหนักจากโควิด ต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะฟื้นตัวเต็มที่” ลลิตา เธียร์ประสิทธิ์จากศูนย์วิจัยกสิกรให้ความเห็น
ส่วนตลาดแรงงานไทยยังคงเปราะบางต่อเนื่อง เนื่องจากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็น 12% ของจีดีพีไทย ลลิตาเชื่อว่า การว่างงงานในหมู่แรงงานราคาถูกไร้ทักษะยังคงสูงต่อไป ทำให้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของรายได้เพิ่มขึ้น
ผลการสำรวจของเจซีอีอาร์พบว่า ในปี 2563 การว่างงานของไทยเพิ่มขึ้น 1.6% จากปี 2562 ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.9%
หากมอง 5 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เศรษฐกิจเติบโตรวมกันน่าจะทะลุ 5.5% ในปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 5% เมื่อเดือน ธ.ค.
นักวิเคราะห์กล่าวด้วยว่า ความเสี่ยงสำคัญอันหนึ่งต่อการฟื้นตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือเงินเฟ้อที่กำลังสูงขึ้น โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ที่คาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มเป็น 4.5% ในปีนี้ จาก 2.7% ในครั้งก่อน
นิโคลัส มาปา จากไอเอ็นจีแบงก์ฟิลิปปินส์อธิบายว่าอหิวาต์สุกรแอฟริกันดันราคาเนื้อสุกรพุ่ง พร้อมกันนั้นราคาน้ำมันดิบโลกก็ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่ม
ทั้งนี้ อหิวาต์สุกรแอฟริกันปะทุขึ้นในจีนเมื่อปี 2561 ซึ่งฟิลิปปินส์ยังคงได้รับผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนสิงคโปร์แม้สกัดโควิดได้สำเร็จ แต่นักเศรษฐศาสตร์มองว่า การว่างงานเพิ่มขึ้นถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สุดของสิงคโปร์
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
อ่านต่อ: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/931157