ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแตะระดับ 31.45 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าในรอบ 6 เดือน เหตุความกังวลการระบาดโควิด-19 ท่ามกลางเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าเงินบาทเช้านี้ (8 เม.ย.) เคลื่อนไหวอ่อนค่าทดสอบแนว 31.45 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือน ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 31.43 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.36 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่มีแนวโน้มแพร่กระจายออกไปในหลายจังหวัดอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.20-31.60 บาท/ดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ
การรายงานข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ
เงินบาท ‘อ่อนค่า 4%’ มากสุดรอบครึ่งปี เหตุรายได้ท่องเที่ยวหด ฉุดดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลครั้งแรก นับจากไตรมาส 3 ปี 2557
ค่าเงินบาทกลายเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาสแรกของปี สาเหตุหลักมาจากไม่มีเงินไหลเข้าในภาคการท่องเที่ยว
ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มอ่อนแอ โดยประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.4 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4/63 จากการเกินดุล 6.6 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3/63 และเกินดุล 11.5 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1/63 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขาดดุล นับตั้งแต่ไตรมาส 3/57
โดยรายได้จากภาคการบริการท่องเที่ยวลดลงเหลือ 742 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 5% ของช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเท่านั้น สาเหตุหลักมาจากการปิดชายแดนตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ก่อนหน้านี้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมีเสถียรภาพ โดยได้รับแรงหนุนจากการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศลดการกักตัว จาก 14 วัน เหลือ 10 วัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว รวมทั้งรัฐบาลไทบยังจะสร้าง ‘แซนด์บ็อกซ์’ ที่เกาะภูเก็ต เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาคส่วนของผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ตลอดจนนักลงทุน ยังคงมีความกังวลในเรื่องความไม่แน่นอนอยู่ และมีความไม่มั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้สำเร็จ
อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาท คือปัจจัยทางฤดูกาล ยกตัวอย่างบริษัทญี่ปุ่น มักจะส่งเงินสดบางส่วนกลับประเทศก่อนที่ปีงบประมาณของญี่ปุ่นจะปิดในเดือนมีนาคม แม้พฤติกรรมการใช้จ่ายตามฤดูกาลจะมีบทบาทน้อยลง เนื่องจากการบริหารจัดการองค์กรกลายเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้น แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อตลาด
ที่มา: ประชาชาติ, The Standard
อ่านต่อ: https://thestandard.co/thai-baht-is-worst-performing-currency-in-southeast-asia/