ซีไอเอ็มบีไทย ประเมิน โควิดระบาดรอบ 3 ทุบศรษฐกิจไทยให้โตช้าอีก ผู้บริโภคเบามือไม่อยากใช้จ่าย เพราะขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ แนะจับตาภาคการท่องเที่ยวอาจซบเซาอีก
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 64 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เราพบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาอีกระลอกในหลากหลายคลัสเตอร์ และมีความเป็นไปได้สูงที่ทางภาครัฐจะประกาศการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนอีกครั้ง แม้จะเป็นเรื่องดีในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเราจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นรอบที่ 3
ขณะที่ เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนผ่านการส่งออกสินค้าที่มองว่าอาจโตได้มากกว่า 10% และยังไม่นับการกระจายตัวของเศรษฐกิจอีกที่ดีเพียงด้านกลาง-บน ซึ่งต่อให้ไม่มีรอบ 3 นี้ การบริโภคก็เสี่ยงโตช้าด้วย 4 ปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
แน่นอนว่ากำลังซื้อปีนี้จะดีกว่าปีก่อน เพราะช่วงไตรมาสสองปีก่อนก็ล็อกดาวน์ และจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปเฉียดศูนย์ แต่ที่เรากำลังคิดต่อคือจะให้กำลังซื้อกลับเป็นปกติก่อนวิกฤติโควิด ซึ่งหากขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมากเราก็ฟื้นได้ด้วยกำลังซื้อคนไทย ซึ่งยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง
2. ขาดการลงทุน
โดยปกติแล้ว หากเอกชนขายสินค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะรอบนี้ที่การส่งออกเริ่มฟื้นตัว โรงงานต่างๆ ก็จะมีการผลิตที่มากขึ้น จะมีการเพิ่มชั่วโมงการทำงาน ให้พนักงานทำโอที คนงานได้เงินเพิ่มขึ้น มีกำลังซื้อไปจับจ่ายซื้อของได้มากขึ้น เศรษฐกิจไทยก็จะคึกคักขึ้น แต่ผมกลับมองว่าเอกชนยังชะลอการลงทุน นั่นเพราะโรงงานต่างๆ อาจยังเลือกที่จะระบายสต๊อกสินค้าก่อนเร่งผลิตของ หรือแม้กำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ทำให้การลงทุนใหม่ๆ ยังเลื่อนออกไปได้ ซึ่งเราน่าจะเห็นในช่วงไตรมาส 3 มากขึ้น
3. ขาดความเชื่อมั่น
โดยปกติคนจะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเมื่อมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ กล้านำเงินออมออกมาใช้ แต่รอบนี้เรายังเห็นคนออมเงินกันค่อนข้างมาก ซึ่งแม้เป็นเรื่องดี แต่ก็สะท้อนภาพความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย เรื่องการออมที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ชัดเจนในกลุ่มคนรายได้น้อย เพราะโดยมากก็มักใช้เงินเดือนชนเดือนอยู่แล้ว แต่ที่น่าจะชัดเจนน่าจะเป็นกลุ่มคนพอมีเงิน มีฐานะที่ดี กลุ่มนี้กลับลังเลที่จะใช้เงิน อาจห่วงภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นไม่เต็มที่ ซึ่งความเชื่อมั่นจะมีผลต่อสินค้าคงทน มากกว่ากลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม หรือแม้แต่เสื้อผ้าดังที่กล่าวไปข้างต้น กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ของตกแต่งบ้านอาจไม่ฟื้นเต็มที่ โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังอ่อนแอ มีผลต่อการใช้จ่ายในสินค้าเกี่ยวเนื่องนี้ คงหวังให้มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้มากขึ้น เช่นการเพิ่มการลดหย่อนภาษี หรือการลดภาษีรายได้ไปเลย
4. ขาดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการรัฐในการลดค่าครองชีพ และกระตุ้นการบริโภคผ่านเงินโอนจากรัฐบาลกำลังจะสิ้นสุดลงภายในวันที่ 31 พ.ค.
และหากไม่มีการต่ออายุมาตรการเหล่านี้และให้เงินเพิ่มเติม เราเกรงว่าคนจะไม่ใช้จ่ายมากเท่าที่เป็นอยู่ เรียกง่ายๆ ว่าภาพที่เห็นบางส่วนอาจเป็นภาพลวงตา กำลังซื้อของคนยังไม่ฟื้นเต็มที่แต่มาจากรัฐช่วย หากรัฐถอนมาตรการเหล่านี้แล้ว แน่นอนว่าบางส่วนอาจไม่มีรายได้มากพอที่จะใช้จ่ายได้เท่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เราอาจต้องรอดูว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้ดีขึ้นจนคนกลุ่มอื่นๆ ใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาสสอง และอาจพอชดเชยบางกลุ่มที่การใช้จ่ายอาจลดลงไปบ้าง แต่แน่นอนว่าการใช้จ่ายคงไม่ลดลงไปหมดแม้สิ้นสุดมาตรการเงินโอนจากรัฐตามเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นได้บ้าง
"การระบาดรอบนี้มีผลต่อการบริโภคที่อาจชะลอในเดือน เม.ย.ในแทบทุกหมวด แต่หมวดอาหาร เครื่องดื่มอาจไม่ลดลงแรงเท่ากลุ่มอื่น เพราะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากรัฐบาล และเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในเดือนพ.ค.แต่ที่น่าห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยคือ การใช้จ่ายของคนไทยยังเติบโตช้าด้วยปัจจัยอื่นนอกจากโควิด ซึ่งน่าจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำอยู่ในปีนี้"
ที่มา: ไทยรัฐ
อ่านต่อ: https://www.thairath.co.th/news/business/2066001