เมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 7 เดือน นับจากเดือนตุลาคม 2563 โดยวันนี้ (12 เมษายน) อ่อนค่าสู่ระดับ 31.55 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าเร็วขึ้นนับจากปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ค่าเงินบาทหลังสงกรานต์เดือนเมษายนถึงพฤษภาคมมีแนวโน้มอ่อนค่าจากสองปัจจัยหลัก คือ ฤดูการจ่ายเงินปันผล ซึ่งจะมีบริษัทโอนเงินปันผลนี้ไปสู่ผู้ถือหุ้น หรือบริษัทแม่ในต่างประเทศ เฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ปีนี้คาดว่าจะมีการจ่ายปันผลที่ต้องไหลออกสู่ต่างประเทศราว 74,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันค่าเงินบาทปี 2564 จะผันผวนมากกว่าปี 2563 ทั้งจากความเสี่ยงเรื่องโควิด-19 ที่น่าจะยังอยู่ในไทยยาวออกไป โดยการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ซึ่งประเทศที่มีการฉีดวัคซีนคาดว่าจะฟื้นตัวเร็ว และประเทศที่ยังไม่มีการฉีดวัคซีนจะฟื้นตัวช้า
อย่างไรก็ตาม มองว่าหลังสงกรานต์ค่าเงินบาทยังต้องติดตามปัจจัยชั่วคราวที่อาจะส่งผลกระทบ เช่น ราคาทองคำ ราคานำ้มัน ค่าระวางเรือ ซึ่งหากสถานการณ์พลิกผันที่จะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดค่าเงิน เช่น ถ้าเศรษฐกิจโลกแย่ลง การขนส่งทางเรือลดลง คนจะสนใจทองมากขึ้น และหากมีการนำเข้าทองมากขึ้นย่อมกระทบค่าเงินบาทเช่นกัน
“หลังสงกรานต์อุปสงค์ในประเทศยังไม่เพิ่มมากนัก และหากจะฟื้นการท่องเที่ยวเพื่อดันให้เศรษฐกิจฟื้น ไทยยังตัองมีวัคซีนก่อน”
ทางธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์ว่าสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.30-31.75 บาท/ดอลลาร์
ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า สัปดาหนี้ (12-16 เมษายน) คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบ 31.35-31.65 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา (5-9 เมษายน) ที่เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังซื้อขายในช่วง 31.25-31.51 บาท/ดอลลาร์
ทั้งนี้เงินบาทอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 7 เดือนมาตั้งแต่ปลายสัปดาห์ก่อนจากความกังวลโควิด-19 รอบใหม่ที่ระบาดในประเทศและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโรและค่าเงินเยน
ที่มา: The Standard