ทองคำรีบาวน์ – อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอ่อนตัว
ทองคำรีบาวน์หลังทำต่ำสุดรอบ 1 สัปดาห์ในช่วงต้นตลาด หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวลงหลังขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง 4 วันทำการ โดยหลุด 1.7% กลับมาที่ 1.67%
· ทองคำตลาดโลกปิด +0.5% ที่ 1,824.89 เหรียญ
ฟื้นตัวได้หลังทำต่ำสุดตั้งแต่ 6 พ.ค. ที่ระดับ 1,808.44 เหรียญ
· สัญญาทองคำส่งมอบเดือนมิ.ย. ปิด +0.1% ที่ 1,824 เหรียญ
· นักวิเคราะห์จาก Circle Squared Alternative Investments กล่าวว่า ข้อมูลเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นอย่างมาก ยังเป็นปัจจัยบวกสำหรับราคาทองคำ จึงคาดว่าราคาทองคำจะสามารถปรับขึ้นได้ต่อจากนี้ ประกอบกับการที่เฟดยังคงรักษาดอกเบี้ยระดับต่ำจนกว่าจะเห็นจ้างงานได้อย่างเต็มที่และเงินเฟ้อพุ่งแตะ 2% ที่อาจอนุญาตปล่อยให้ขึ้นได้สูงกว่า ก็ยังเป็นปัจจัยบวกต่อทองคำ
· นักวิเคราะห์จาก High Ridge Futures ระบุว่า การปรับลงของทองคำช่วงนี้เป็นโอกาสดีสำหรับการเข้าซื้อ โดยเงื่อนไขสำหรับความแข็งแกร่งสำหรับปัจจัยหนุนในตลาดทองคำ คือ “ทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจ” และ “การคงดอกเบี้ยระดับต่ำ”
· สำหรับคืนนี้ นักลงทุนกำลังรอคอยข้อมูลค้าปลีกสหรัฐฯ
· ซิลเวอร์ปิดทรงตัว 27.03 เหรียญ
· “ซิลเวอร์ปรับขึ้นกว่า 70% ในช่วงหนึ่งปี - ผู้เชี่ยวชาญอาจขึ้นได้ต่อ”
อุปสงค์ในซิลเวอร์ปรับขึ้นตลอดในรอบ 1 ปี และมีการเคลื่อนไหวบริเวณ 27 เหรียญในช่วงวันพุธ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นจากปีที่แล้วได้กว่า 74% จากแถวระดับ 15.5 เหรียญ ในขณะที่ราคาทองคำในช่วงหนึ่งปีปรับขึ้นได้ 6.4%
· แพลทินัมปิด -0.8% ที่ 1,200.31 เหรียญ
· พลาเดียมปิด +0.1% ที่ 2,859.13 เหรียญ
· ดอลลาร์ทรงตัวหลังมีหลักฐานบ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อมากขึ้น
ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวใกล้ระดับแข็งค่ามากสุดรอบ 1 สัปดาห์ โดยาวานนี้ปิดที่ 90.739 จุด หลังจากที่ต้นตลาดไปแตะ 90.909 จุด
ค่าเงินยูโรแข็งค่าปิด +0.05% ที่ 1.208 ดอลลาร์/ยูโร
เยนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยมาที่ 109.575 เยน/ดอลลาร์
· จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐฯทำต่ำสุดรอบ 14 เดือน - เงิเนฟ้อปรับขึ้น
จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ล่าสุดลดลงไปกว่า 34,000 ราย ที่ระดับ 473,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นต่ำสุดตั้งแต่กลางมี.ค. ปี 2020 แต่ภาพรวมคนตกงานในสหรัฐฯยังสูงเกือบ 10 ล้านราย จากวิกฤต Covid-19
· ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนเม.ย. ปิด +0.6% หลังจากที่ปรับขึ้นไปกว่า 1% ในเดือนมี.ค.
ภาพรวมช่วง 1 ปีในเดือนเม.ย. ดัชนี PPI ปรับขึ้นต่อ +6.2% ถือเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบรายปี นับตั้งแต่ปี 2010 ขณะที่เดือนมี.ค. เทียบปีสูงถึง 4.2%
· Dogecoin ดิ่ง -15% ต่ำกว่า 40 เซนต์ หลัง “อีลอน มัสก์” CEO ของ Tesla กังวลถึงปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเพราะต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมหาศาลในการขุด Bitcoin จึงระงับการชำระค่าสินค้าของบริษัทด้วย Bitcoin
ขณะที่ราคา Bitcoin รีบาวน์หลังดิ่งลงแรงวานนี้ โดยปรับขึ้น 1.96% ที่ 49,697 จุด
· ไบเดน ย้ำ จะต้องเจรจาเพิ่มสำหรับแผนโครงสร้างพื้นฐานในสัปดาห์หน้า หลังจากที่ประชุมร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาของรีพับลิกันมีความคืบหน้า
นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เผยว่าการประชุมล่าสุดเป็นไปในทิศทางที่ดีมาก และจะเชิญพวกเขากลับมาหารือต่อในสัปดาห์หน้า
· “มิชท์ แมคคอนเนล” ลั่น จะค้านทุกการหารือของแผนนายไบเดน
· บริษัทสหรัฐฯยังคงเผชิญกับภาวะเข้มงวดที่เพิ่มขึ้นในจีน มากกว่าบริษัทจีนที่เผชิญในสหรัฐฯ
· สถานการณ์ไวรัสโคโรนา
· ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ยังไม่สามารถระบุได้ว่า การระบาดของสายพันธุ์ใหม่ในอินเดียที่กระจายไปยังประเทศอื่นๆมีตัวแปรมาจากสาเหตุอะไรในเวลานี้
· CDC สหรัฐฯ ชี้การได้รับวัคซีนครบโดสจะทำให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยนอกบ้าน
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารการเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 31.30 - 31.45 บาท/ดอลลาร์
เมื่อเย็นวานนี้เงินบาทอ่อนค่าจากเปิดตลาดช่วงเช้า เนื่องจากมีแรงซื้อดอลลาร์ หลังนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการปรับนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.29 - 31.38 บาท/ดอลลาร์
- นายกรัฐมนตรี ยืนยันรัฐบาลมีแผนให้ประชาชนสามารถวอล์กอินเข้าไปฉีดวัคซีนโควิดได้ โดยได้เตรียมการไว้ในช่วงเดือนมิ.ย.64 ถ้าหากมีวัคซีนเข้ามาเพียงพอ แต่ต้องผ่านการลงทะเบียนระบบหมอพร้อมด้วย และกังวลในส่วนของธุรกิจบริการประเภทร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงกลุ่มแรงงาน รถเมล์ แท๊กซี่ คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ต้องเรียงลำดับตามความเสี่ยง
ที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือเรื่องการปรับระดับพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาขั้นตอนสุดท้าย โดยเบื้องต้นวางไว้ 2-3 รูปแบบ คาดว่าวันที่ 14 พ.ค. จะสามารถนำเสนอให้ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) พิจารณาได้
· อ้างอิงจาก Sanook.com
- ยอดผู้ติดเชื้อ Covid -19 ในไทยวันที่ 13 พ.ค. เพิ่มขึ้น 4,887 ราย! เสียชีวิตอีก 32 ราย ยอดพุ่งจากผู้ติดเชื้อในเรือนจำ
วันนี้ (13 พ.ค.) เมื่อเวลา 07.00 น. ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยตัวเลขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า
ล่าสุด สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 4,887 ราย จำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ 2,052 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 2,835 ราย หายป่วยกลับบ้าน 1,572 ราย ยอดติดเชื้อสะสม 93,794 ราย เสียชีวิต 32 ราย เสียชีวิตสะสม 518 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ 32,661 ราย
· อ้างอิงจากสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ
- เทียบกันชัดๆ 'ซิโนแวค-แอสตร้าฯ' ยี่ห้อไหนฉีดแล้ว ผลข้างเคียงรุนแรงกว่า
อว. เผยคนไทยได้ฉีดวัคซีนโควิดแล้วเฉลี่ย 2.06% ของประชากร โดยมี 532,462 คนที่ฉีดครบสองเข็ม ส่วนในแง่ความปลอดภัย 89.19% ไม่พบผลข้างเคียงจากวัคซีน - สมุทรสาครและภูเก็ต ฉีดแล้วเกิน 20% ของประชากร
โดยจังหวัดสมุทรสาคร มี 173,319 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม คิดเป็น 29.57% ของประชากร ส่วนจังหวัดภูเก็ต มี 101,001 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม คิดเป็น 24.37% ของประชากร
โดยมีการรายงานผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน 205,220 ราย ส่วนใหญ่เป็นอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง เรียงตามลำดับ ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ (6.65% ของผู้ที่ฉีด), ปวดศีรษะ (4.37%), เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง (3.23%), ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีด (3.18%), ไข้ (2.08%), คลื่นไส้ (1.56%), ท้องเสีย (1.23%), ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง (0.91%), ผื่น (0.7%), อาเจียน (0.4%) และอาการอื่นๆ (1.34%)
· อ้างอิงจากสำนักข่าวประชาติธุรกิจ
วัคซีนโมเดอร์นา ได้รับการขึ้นทะเบียน จาก อย. มีผล 13 พ.ค.
วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ลงนามรับรองการขึ้นทะเบียนตำรับยาของ วัคซีนโควิด-49 โมเดอร์นา จากประเทศสเปน แล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 -12 พฤษภาคม 2565
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
SET ดิ่งแรง 70 จุด กูรูแนะชะลอลงทุน จับตาแนวรับ 1,500 จุด
หุ้นไทยวานนี้(13 พ.ค.)ผันผวนรุนแรง ดัชนีดิ่ง 70 จุด หวิดหลุด 1,500 จุด ก่อนรีบาวน์ขึ้นมายืนเหนือ 1,548 จุด ปิดลบเพียง 23.72 จุด กูรูมึนไม่รู้สาหเตุที่ลงแรงกว่าเพื่อนบ้าน คาดนักลงทุนกังวลเฟดปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน "ลด QE-ขึ้นดอกเบี้ย" หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯสูงกว่าคาด กดดันหุ้นทั่วโลกดิ่งแรง แต่ในประเทศมี"ข่าวลือ"ฉุดตลาดอีกแรง แนะชะลอลงทุน จับตาแนวรับ 1,500 จุด เอาอยู่หรือไม่
ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนรุนแรง โดยช่วงเช้าดัชนีปรับตัวลดลงกว่า 20 จุด สลับรีบาวน์ หลังจากนั้นในช่วงบ่ายดัชนีปรับตัวลดลงแรงและเร็ว จนแตะที่ระดับ 1,501.02 จุด ลดลง 70 จุด ก่อนรีบาวน์ขึ้นมาปิดตลาดที่ระดับ 1,548.13 จุด ลดลง 23.72 จุด หรือ (-1.51%) มูลค่าการซื้อขาย 134,714 ล้านบาท
โดยพบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกมากว่า 2,458 ล้านบาท รองลงมาบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1,797.75 ล้านบาท และสถาบันในประเทศขายสุทธิ 286.29 ล้านบาท สวนทางกับกลุ่มนักลงทุนในประเทศที่ซื้อสุทธิกว่า 4,542.11 ล้านบาท
สาเหตุที่ดัชนีหุ้นไทยดิ่งแรง เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกวิตกอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯเดือน เม.ย.ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 4.2% ทำให้คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)อาจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยลดวงเงินทำ QE และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งกดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ เอเซีย ยุโรป ต่างก็ปรับตัวลดลงแรงถ้วนหน้า ส่วนปัจจัยในประเทศมีกระแสข่าวลือบางอย่างซ้ำเติมตลาด
*** กังวลเงินเฟ้อสหรัฐฯ-ข่าวลือ ทุบหุ้นดิ่งแรง
นายกิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า แนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ หลังจากภาวะตลาดหุ้นช่วงบ่ายวานนี้(13 พ.ค.64) ปรับตัวผันผวนรุนแรง ซึ่งคาดว่าบรรยากาศตลาดที่เป็นลบ เพราะแรงกดดันจากปัจจัยในตลาดต่างประเทศ หลังนักลงทุนกังวลภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางดอกเบี้ย รวมถึงระยะสั้นยังเห็นสัญญาณการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศยังมีกระแสข่าวลือบางอย่างเกิดขึ้น จึงทำให้บรรยากาศค่อนข้างเปราะบางและทำให้ดัชนีฯปรับตัวลดลงได้รวดเร็ว
ทั้งนี้ ประเมินแนวรับรอบนี้ไว้ที่ระดับ 1,520 จุด ซึ่งช่วงระยะสั้นเชื่อว่าอาจมีความผันผวนของหลายปัจจัย จึงแนะนำให้นักลงทุนเน้นถือหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เพราะแม้จะปรับตัวลดลงไปแรง แต่ก็สามารถฟื้นกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่ปรับตัวลงได้ โดยเฉพาะกลุ่มประกันภัยที่มองว่าราคาหุ้นยังแข็งแกร่ง และคาดว่าจะได้ผลดีหากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
*** หุ้นไทยดิ่ง 70 จุด ตามหุ้นต่างประเทศ
นายวีรวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่า ภาพรวมหุ้นไทยช่วงบ่ายวานนี้ (13 พ.ค.64) ปรับตัวลดลงแรงหลุดระดับแนวรับจิตวิทยาที่ 1,530 จุด เนื่องจากนักลงทุนกังวลภาวะเงินเฟ้อสหรัฐฯ หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 4.2%
"ช่วงเช้าหุ้นเอเชียเปิดลบกังวลเงินเฟ้อ ซึ่งกดดันไทยด้วยเช่นกัน แต่พอเริ่มภาคบ่ายทางฝั่งยุโรปที่เปิดตลาดกลับเปิดลงแรงกว่า 2% อีกทั้งดาวโจนส์ล่วงหน้าปรับตัวลงอีก 200 จุด เหมือนเป็นปัจจัยกดดันซ้ำไปอีก ส่งผลให้บ้านเราร่วงลงแรงตาม "นายวีรวัฒน์กล่าว
โดยสัญญาณเทคนิค มองว่า หากหลุดแนวรับ 1,530 จุด ลงมาชัดเจน จะมีแนวรับถัดไปที่ 1,500 จุด และหากหลุดระดับดังกล่าวจะมีแนวรับถัดไปที่ 1,470-1,460 จุด โดยเชื่อว่าภาพรวมสัญญาณเทคนิคยังเป็นขาลงระยะสั้น เนื่องจากมองว่าช่วงครึ่งปีหลังภาพรวมเศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัว
โดยมองเป็นจังหวะดีเข้าซื้อหุ้นอิงเศรษฐกิจโลก (Global Play) ทั้งปิโตรเคมี ได้แก่ IVL , PTTGC และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ KCE , HANA และสะสมหุ้นในกลุ่ม SET 50 , SET100
*** วิตกเงินเฟ้อสหรัฐฯ-เฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด
นายธีระศักดิ์ ธนวรากุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรงเนื่องจากความกังวลอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด กดดันบรรยากาศตลาดหุ้นทั่วโลก
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยกดดันจากหุ้นบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 (Cash Balance) ซึ่งมีผลตั้งแต่ 13 พ.ค.-2 มิ.ย.64 ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงแรง กดดันดัชนีเพิ่มเติมให้หลุดระดับ 1,560 จุด ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ย 50 วัน เป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน จึงมีความเสี่ยงปรับตัวลดลงต่อไปทดสอบแนวรับ 1,500 จุด
โดยมองว่าตลาดหุ้นไทยยังสามารถยืนเหนือแนวรับจิตวิทยาที่ 1,500 จุด ได้ ซึ่งหากดัชนีฯ จะหลุดแนวรับดังกล่าวต้องมีปัจจัยลบใหม่เข้ามากระทบ ซึ่งยังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าว ทั้งนี้ให้แนวต้าน 1,550-1,560 จุด โดยแนะนำลงทุนหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากเงินเฟ้อ ได้แก่ สินค้าเกษตรซึ่งราคามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ CPF , TU ,TVO